posttoday

คนไทยเป็นเบาหวานเพิ่ม กว่าครึ่งไม่รู้ตัว

13 พฤศจิกายน 2558

พบคนไทยวัยทำงานเป็น “เบาหวาน”กว่าครึ่งไม่รู้ตัวแนะปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายคุมน้ำหนักช่วยได้

พบคนไทยวัยทำงานเป็น “เบาหวาน”กว่าครึ่งไม่รู้ตัวแนะปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายคุมน้ำหนักช่วยได้

นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation; IDF) รายงานสถานการณ์โรคเบาหวานในปี 2558นี้ว่ามีผู้เป็นเบาหวานทั่วโลก 387 ล้านคน ซึ่งสาเหตุสำคัญคือการไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ได้รับการตรวจคัดกรองว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่เบี้องต้น ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46 และการที่เป็นเบาหวานแล้วไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน และความสูญเสียที่สำคัญคือตาบอด การถูกตัดขา ไตวาย และการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
           
สำหรับประเทศไทย พบว่าคนไทยที่อายุมากกว่า 15 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 โดยที่มีประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 45-59 ปี เป็นเบาหวานถึงร้อยละ 10.1 และผู้ที่อายุ 30-44 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 3.4 นอกจากจำนวนจะสูงขึ้นแล้วยังพบว่ามากว่าครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน และผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคตอีกกว่าร้อยละ 10
           
นพ.เพชร ระบุว่า ความอ้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่นำไปสู่โรคเบาหวาน จากการสำรวจพบว่ามากกว่าร้อยละ 30 ของชายไทย และมากกว่าร้อยละ 40 ของหญิงไทย มีน้ำหนักตัวเกิน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 6.8 ส่วนคนที่อ้วนมากจะเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 14.3 อย่างไรก็ตามความเสี่ยงนี้จะลดลงถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารและใช้ชีวิตให้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น มีการควบคุมน้ำหนักอย่างเข้มงวด ได้ช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 70 ในคนที่มีความเสี่ยงสูง
           
“การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานนั้น ทุกคนทำได้ โดยการออกกำลังกายดูแลจิตใจตนเอง อย่าให้น้ำหนักตัวเกิน ต้องหมั่นตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัยอันควรเพื่อจะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เบี้องต้นและเมื่อเป็นเบาหวานแล้ว การดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ” นพ.เพชร กล่าว
           
สำหรับวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน นพ.เพชร กล่าวว่า ทางสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์คือ Healthy eating - Act today to change tomorrowโดยสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ใช้คำขวัญในภาษาไทยว่า “กิน อยู่ เป็น – เริ่มวันนี้พร้อมเปลี่ยนพรุ่งนี้ให้ดีขึ้น” เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ให้มีการบริโภคตามหลักโภชนาการและออกกำลังกาย ถือเป็นการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพขณะเดียวกันทางทางสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติร่วมกันองค์การอนามัยโลกได้มีข้อเสนอเพื่อลดพลังงานจากน้ำตาลในอาหารประจำวันด้วย ซึ่งทุกวันนี้ คนไทยบริโภคน้ำตาลถึงวันละ 16-20 ช้อนชา
           
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า 10  ปีที่ผ่านมา คนไทยบริโภคน้ำตาลในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยคนละประมาณ 34 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งความหวานจากน้ำตาลมีผลกระทบต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD  สาเหตุมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากกินมากขึ้น และอีกสาเหตุ คือพฤติกรรมการกิน ที่ผู้ปกครองมักให้ลูกทานหวานตั้งแต่เด็กจึงติดอาหารรสหวานไปจนโต จากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นทำอย่างไรที่จะตัดวงจรนี้ออกไปให้ได้
           
ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการลดบริโภคน้ำตาลนั้น ทางกรมอนามัยร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันรณรงค์ นำเสนอข้อมูลให้ผู้บริโภครับรู้ถึงพิษภัย ว่าหากบริโภคน้ำตาลมากๆ แล้วจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน และโรคหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตีบ นอกจากนี้ยังได้นำความรู้สู่โรงเรียน สอนการอ่านข้อมูลโภชนาการให้นักเรียนสามารถอ่านค่าโซเดียม ไขมัน น้ำตาล ได้ บางโรงเรียนนำไปเป็นกิจกรรมให้นักเรียนคัดแยกขนมเขียว เหลือง แดง ได้ เป็นต้น
           
“อีกเรื่องหนึ่งที่เราพยายามเข้าไปดู คือ เรื่องของการโฆษณาส่งเสริมการขายของผู้ผลิตจัดแคมเปญชิงโชค เอารางวัลมาเป็นตัวล่อ กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากได้รางวัลจึงซื้อผลิตภัณฑ์มาเยอะๆ เพราะคิดว่าซื้อเยอะมีสิทธิเยอะ เมื่อซื้อมาแล้วก็เสียดายก็ต้องกินให้หมด ทำให้บริโภคน้ำตาลปริมาณที่สูง ซึ่งทางกรมอนามัยจะต้องประสานกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และองค์การอาหารและยา(อย.) เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ว่ามีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งอาจจะแก้กฎหมายเพื่อบังคับใช้ หรือจะเป็นการขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตก็ได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว