posttoday

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน

07 สิงหาคม 2563

“วิจิตร ดีแป้น” เจ้าของห้องเสื้อย่านเมืองนนท์ แจกชุดนักเรียนให้เด็กๆ กว่า 300 ตัว เพราะเข้าใจในความรู้สึกของผู้ปกครองช่วงเปิดเทอม จนกลายเป็นพื้นที่แบ่งปันส่งต่อให้เด็กๆ ที่ยังไม่พร้อม

เรื่อง : วิรวินท์ ศรีโหมด เรียบเรียง : รัชพล ธนศุทธิสกุล

ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์,ณัฐพล โลวะกิจ

หลังพิษเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ผู้ปกครองส่วนมากตอนนี้ประสบปัญหาการเงินเป็นอย่างมาก ภาพความคึกคักของการจับจ่ายใช้สอย ‘ชุดนักเรียน’ ในเทอมใหม่ปีนี้ กลายเป็นความกลัดกลุ้มผู้ปกครองกู้หนี้ยืมสินมาซื้อชุดนักเรียน เป็นความลำบากยากของบางคนที่ไม่มีก็จำต้องถูลู่ถูกังให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน

แต่ “วิจิตร ดีแป้น” หรือ “ช่างจิต” เจ้าของห้องตัดเสื้อย่านเมืองนนท์เข้าใจปัญหาของลูกค้า จึงลุกขึ้นมานำเสื้อผ้านักเรียนที่เก็บสต๊อกอยู่กว่า 300 ตัว ตั้งโต๊ะขึ้นป้ายหน้าร้านเป็นจุดแบ่งปันชุดนักเรียน จนกลายเป็นพื้นที่อาณาจักรแห่งแบ่งปันให้กับคนที่อยากช่วยเหลือให้คนที่ยังไม่พร้อม ที่จะเกิดขึ้นในทุกๆ ปี ไปแบบนี้เรื่อยๆ  

“เราทุกคนทำได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแจกเสื้อนักเรียน อย่างอื่นก็ได้ ขอเพียงคุณเริ่มก็แบ่งปันสิ่งดีๆ กับเพื่อนร่วมสังคมได้” ช่างจิตกล่าวเริ่มต้นก่อนจะพาเราไปลัดเลาะความคิดที่ก่อร่างสร้างตัวให้คนเล็กๆ กลายเป็นผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปัน

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน

วัฒนธรรมหมู่เฮาสอนให้แบ่งปัน

ช่างจิตบอกจุดเริ่มต้นในการแบ่งปันชุดนักเรียนเกิดจากความซึมซับวิถีชีวิตคนภาคอีสาน ซึ่งในสมัยนั้นนิสัยของคนต่างจังหวัดมักชอบที่จะแบ่งปัน โดยภาพที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือเวลาที่บ้านไหนทำกับข้าวกับปลา ก็จะให้ลูกหรือหลานวิ่งมาเอาแบ่งกินบ้านใกล้เรือนเคียง

“30 กว่าปีที่แล้วที่โตที่ขอนแก่น ภาพเพื่อนๆ หรือผมเองก็ตามวิ่งไปพร้อมกับชามกับข้าวนี้ประจำ มันก็น่าจะเกิดจะตรงนี้ที่ซึมซับเรามาโดยไม่รู้ตัว คือแม้ว่าพวกเราบ้านๆ จะไม่ได้มีฐานะดี ฐานนะค่อนข้างยากจนด้วยซ้ำ แต่อะไรที่พอแบ่งปันกันได้เราก็แบ่งกันช่วยกัน”

และจากวัฒนธรรมติดตัวมาเป็นนิสัยช่างจิตสอดแทรกเรื่องของแบ่งปันและช่วยเหลืออะไรต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ แก่คนรอบข้างอยู่เสมอ โดยค่อยๆ เติบโตตามกำลังของฐานะ ภาระหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและหน้าที่การงาน

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน

“ก่อนหน้าที่จะทำตู้ปันสุขแจกชุดนักเรียนช่วงต้นเดือนมิถุนายน มีผู้ปกครองเอาเสื้อที่เก่ามากเลยมาปัก ก็เปลี่ยนเสื้อให้ใหม่และก็คิดค่าปักเสื้อไปหน่อย (ยิ้ม) คือมันมีความสุข เราได้ทำ ถึงเป็นส่วนเล็กๆ ก็ถือว่าได้ทำ 

“เราทำงานเสื้อผ้าเรารู้ว่าผู้ปกครองลำบาก ลำบากตลอดด้วยช่วงเปิดเทอมและยิ่งตอนนี้มีไวรัสโควิด-19 ยิ่งลำบากขึ้นไปใหญ่ ก็ไม่คิดอะไรมากซับซ้อนเห็นผู้ปกครองลำบากมาในตอนนี้เราพอมีกำลัง เป็นเจ้าของร้านเองแล้ว ดูแลลูก 2 โตๆ กันแล้วก็โทรหาพี่สาวทำกันเอาเสื้อในสต๊อกที่เรามีมาแจก”

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน

ความลำบากย้ำให้ต้องทำเผื่อคนอื่น

“สมัยเด็กๆ อย่างที่เล่าไปที่บ้านไม่ได้ร่ำรวย ออกจะลำบากด้วยซ้ำ ชุดนักเรียนอย่างชุดลูกเสือ หมวกลูกเสือ น้าก็เป็นคนหาคนตัดให้ใส่ แต่ด้วยความที่สีมันอ่อนกว่าคนอื่น เราก็ไม่อยากใส่ กลัวไม่เหมือนเพื่อน มันก็ย้อนมามองตัวเรา ผู้ปกครองก็มีมาเหมือนผมลำบากมาสู้ชีวิตในกทม. เยอะ แล้วน้องๆ ที่ผู้ปกครองเขาแย่ในช่วงนี้ละจะรู้สึกแบบเราไหม” ช่างจิตเล่าถึงความรู้สึกสมทบของการตั้งตู้ปันสุข ‘ชุดนักเรียน’

“เสื้อนักเรียนตัวหนึ่ง 100 กว่าบาทแล้ว กางเกง 200 บาทขึ้น ไม่รวมค่าปักชื่อ ตราโรงเรียน ไหนจะเข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า คนหนึ่งใส่กี่ชุด ครบหมดหลักพันบาทต่อคน และถ้ามีลูก 2 คน 3 คน เดือนนี้หนักเลยนะ

“เราก็ดีใจที่เราแบ่งเบาช่วยเขาได้บ้าง เราได้เห็นรอยยิ้มเขายิ้ม เขาตะโกนบอกขอบคุณ บางคนยกมือไหว้ ก็ปลื้มใจ มีความสุขมาที่ได้ทำ หยิบกันไปคนละตัวสองตัว บางคนหยิบไปลูกใส่ไม่ได้ก็เอามาคืนให้คนอื่นได้เอาไปใช้”

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน

สังคมดีได้หากเราช่วยเหลือกัน

“เรามีวันนี้ส่วนหนึ่งก็การอุดหนุนของลูกค้า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งพา ทุกๆ ปีเราเจอหน้ากันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกัน ตอนนี้ลำบากไปหมดเราพอไหวเราก็ช่วยแบ่งเบาช่วย ก็จะทำไปเรื่อยๆ” ช่างจิตระบุโครงการตู้ปันสุข ‘ชุดนักเรียน’ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอีกในปีหน้า

เพราะนักเรียนอีกหลายต่อหลายคนยังขาดแคลนและอุปกรณ์ชุดนักเรียนของเด็กๆ ไม่ใช่มีเพียงแค่เสื้อเท่านั้น ยังมีรองเท้า มีหมวก ฯลฯ สำหรับการเรียนการสอนในหนึ่งปีการศึกษา  

“มีผู้ปกครองบางคนก็ขอจองรองเท้านักเรียน มีนี้ไหมถ้ามีเก็บไว้ให้เขาหน่อยนะ ก็เลยติดป้ายหน้าร้านรับบริจาค รองเท้า หมวกลูกเสือ วางแผนไว้ว่าปีหน้า ก็มีผู้ปกครองเข้าโทรเข้ามาจะนำเสื้อผ้ามาช่วย ก็ดีใจนะจุดเล็กๆ ของเรากลายเป็นพื้นที่ช่วยเหลือ สังคมมันจะดีได้ถ้าเราช่วยกันครับไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม” ช่างจิตกล่าวทิ้งท้าย

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน

“เพราะผมเคยลำบากมาก่อน” เปิดใจ ‘ช่างจิต’ ผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปันชุดนักเรียน