posttoday

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

06 กรกฎาคม 2563

“สุทโท รตางศุ” ช่างซ่อมเครื่องเสียงวินเทจกลางกรุงกับภารกิจชุบชีวิตเครื่องเสียงโบราณท่ามกลางยุคสมัยของเครื่องออดิโอระบบดิจิตอล

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล

ภาพ : สมชาย ลักษณมณี,ณัฐพล โลวะกิจ

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา “สุทโท รตางศุ” หรือ “ช่างโท” หนุ่มใหญ่วัย 59 ปี ที่หลงรักเครื่องเสียงตั้งแต่เด็กๆ สมัยอยู่จ.เพชรบุรี เดินกลับบ้านหลังเลิกเรียนได้ยินเสียงดนตรีโทรทัศน์ก่อนสถานีเปิด

ต่อมาแม้ว่าจบครูตามปู่ย่าสั่งแต่ก็เลือกที่จะเป็นช่างซ่อมเพื่อสานต่อฝัน ท่ามกลางเสียงก่นว่า “บ้า” ที่ผู้คนรุดหน้าไปสู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทุกๆ วัน ภายใต้พื้นที่ตอหม้อ 271 ถนนเกษตร-นวมินทร์

“ซ่อมเครื่องแล้วมันมีเสียง มันให้ความรู้ว่าเรามีชีวิตอยู่” เขากล่าวพลางมองเครื่องเสียงรอบกายนับร้อยพันเครื่องที่ซึ่งยังคงบรรเลงความคลาสสิคอย่างเที่ยงตรง

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

ไอ้หนุ่มเมืองเพชร “รักเครื่องเสียง” หมดใจ

ช่างโท ‘โท ออดิโอ’ เกิดขึ้นจากความสนใจใคร่รู้ของเด็กจากจ.เพชรบุรี ที่ทุกๆ วันหลังเลิกเรียนเดินกลับบ้านจะได้ยินเสียงเพลงในโทรทัศน์ก่อนเปิดสถานีช่วง 4 โมงเย็น ซึ่งอาจจะเป็นเสียงดนตรีธรรมดาทั่วไปสำหรับคนอื่นแต่กับเด็กชายสุทโทเสียงเพลงจากทีวีนั้นกลับมีความพิเศษไพเราะกว่าวิทยุ

“บ้านนอกสมัยนั้นไม่ค่อยมีเครื่องเสียง มีแต่วิทยุและทีวีขาวดำก็บังเกิดความเปรียบเทียบสียงทีวีกับวิทยุทำไมมันไม่เหมือนกัน ทีวีมันฟังแล้วเพราะกว่า”

ความสงสัยทำให้ลงมือค้นหาคำตอบในเรื่องนี้และได้คำตอบว่า ‘คุณภาพเสียงทีวี’ มีความถี่ที่ละเอียดมากกว่าวิทยุ เนื่องจากคลื่นวิทยุชนิด AM และFM มีวัตถุประสงค์ต้องการส่งคลื่นสารให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล คุณภาพคลื่นที่ใช้ปล่อยจึงต่ำทำให้คุณภาพของเสียงด้อยลงไปตาม

“ไม่มีกูเกิล ยูทูปไม่เกิด ก็พยายามหาหนังสือห้องสมุดอ่านๆ ไปถามช่างอาวุโสที่ เป็นยังงิอธิบายให้ฟังคราวๆ จากนั้นคิดที่จะทำยังไงให้ฟังเพลงแล้วเสียงมันดีเหมือนทีวีที่ได้ยิน (หัวเราะ) คลั่งมากตอนนั้นไปเจอแตรวง ระบบเสียงมันเรียล กลองจริง แตรจริง ฉาบจริง ก็อยากจะได้ฟังเสียงที่มันของจริง  

“ช่วงม.ต้น ระหว่างเรียนก็ค่อยๆ ซื้ออุปกรณ์ประกอบเอง ใส่เทปเปิดฟังได้เสียงดีกว่าวิทยุ แต่สภาพมันดูกิ๊กก๊อกมาก ไม่มีตัวเครื่องเป็นแต่แผงวงจรเขียวลอยๆ สายไฟระโยงไปหมด”

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

เข้าเมืองหลวงเป็นช่างบรรเลงเพลงหน้าราม

หลังเรียนจบวิทยาลัยครูที่จ.เพชรบุรี สุทโทเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานรับจ้างร้านอาหาร ขายเอกสารการเรียน ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ครึ่งปี ก็เดินตามฝันการเป็นช่างเครื่องเสียง

“ขอเขาว่าเวลาว่างๆ ขอไปงานเครื่องเสียงนะ เขาก็ใจดีอนุญาต ก็ไปโรงแรมไหนมีจัด ยุคนั้นเปิดหมด ใครถามอะไรบอก ก็ถามจำยี่ห้อนี้เสียงแบบนี้ แอมป์ตัวนี้เสียงแบบนี้ มันไม่เหมือนกัน  มันดีทุกรุ่นทุกยี่ห้อ แต่ความต่างมันก็เหมือนกับคนสวยคนหล่อคนละอย่าง ถึงได้รู้ว่าหัวใจของเสียงคือ ลำโพง  ส่วนสำคัญคือตัวแม่เหล็กกับวอยคอยซึ่งเป็นตัวขดลวดที่ตัดสนามแม่เหล็กทำให้เกิดเสียง ก็มีความสำคัญคู่กับลำโพงด้วยเช่นกัน เพราะแอมปฺ์ทำหน้าที่ขับลำโพงให้เกิดเสียงตามมา”

พอวิชาเยอะก็นิสัยแบบเดิมๆ คนมันชอบยังไงก็ตัดไม่ขาดคิดตลอดว่าจะทำยังไงได้แบบเขา ขณะที่เงินก็ไม่ค่อยมีมากนักในการซื้อ ก็อาศัยค่อยๆ เก็บหอมรอมริบซื้อประกอบและเอามาเปิดฟังที่ทำงานหน้าร้าน ทว่าคนฟังได้ยินแล้วเพราะถูกใจจึงขอซื้อ จุดเริ่มช่าง 'โท ออดิโอ' เลยเกิดขึ้น ณ บัดนั้น

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

“ทำเครื่องเสียงขายแต่ทำไปได้สักพักไม่ไหว วัตถุดิบบ้านเราหายากขึ้น ของยุค 1960 เลิกผลิต ก็กลัวว่าทำไปแล้วของรุ่นหลังจะคุณภาพไม่เหมือนชิ้นแรก หันเปิดร้านซ่อมทั่วๆ ไป ตั้งแต่ทีวี วิทยุ พัดลม ทีนี้ทำไปทำมาเรารู้ตัวว่าเราชอบเครื่องเสียง ก็คัดกรองเอาเฉพาะซ่อมเครื่องเสียงอย่างเดียวดีกว่า ก็ซ่อมเครื่องเสียงวินเทจเลยเพราะเครื่องใหม่ศูนย์มีซ่อมเยอะแยะ” เขากล่าวช่วงเวลาพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางสายเครื่องเสียงวินเทจเต็มตัว

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

คนหาว่าบ้า! โลกก้าวไปข้างหน้าแต่เลือกวินเทจ

การสวนกระแสเปิดร้านซ่อมเครื่องเสียงวินเทจทำให้หลายๆ คนถึงกับบอกว่าเขานั้นบ้าไปแล้ว “ของแบบนี้ยังมีคนเล่นอยู่อีกเหรอ”

“ไอ้โทมันบ้า โลกไปข้างหน้าจะไอ้เราถอยหลังที่เขาพูดกัน เพราะตอนนั้นมีน้อย 2-3 ร้าน ในกรุงเทพฯ ผมก็ยิ้มเฉยๆ แต่พอหลังจากนั้นเขาผ่านมาได้ยินเสียงเพลงร้านเรา เขาขอมาฟังและตกใจที่เครื่องอายุขนาดนี้แต่ให้เสียงที่รุ่นใหม่ให้ไม่ได้”

สุทโทบอกว่าในเรื่องของเสียงหรือความคลั่งไคล้แทบจะมีเส้นบางๆ กั้น มันอธิบายได้ยากเป็นคำพูดต้องลองฟัง เช่นเดียวกับการทำสิ่งที่ชอบก็ต้องลองทำดูถึงจะรู้ในคำตอบนั้น

“เครื่องเสียงรุ่นใหม่ไม่ใช่ว่าไม่ดี ของดีทั้งนั้น ทั้งอุปกรณ์และเสียง แต่มันมีการปรับแต่งเยอะจนขาดความเป็นธรรมชาติ ความเสมือนจริง คนที่เคยฟังเครื่องเสียงวินเทจก็เลยเริ่มโหยหา เสียงที่ได้ยินและรูปร่างหน้าตาของเขาที่เครื่องรุ่นใหม่ๆ มันให้ไม่ได้แบบนี้ มันก็อธิบายยากที่จะให้ใครเข้าใจในยุคเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

“ก็เลยมีแต่กลุ่มคนเล็กๆ เริ่มแรกที่ปะทุ อยากฟังเพลงจากเครื่องเสียงตั้งแต่มีอายุ 30 ปี คือ 1990 ที่เป็นวินเทจลงไล่ปีลงไปเรื่อยๆ จนราวๆ 15 ปี ที่กลับมามีกระแสมาแรง ผมก็เตรียมพร้อม ซื้ออุปกรณ์เก่าๆ เก็บสต๊อกไว้ได้ซ่อมอีกยาว”

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

ที่ระลึกความหลังผู้เป็นที่รัก

“เครื่องแรกที่ซ่อมแผ่นเสียงขยายในตัวแบบกระเป๋าหิ้ว อาการคือไม่เล่นไม่ได้ เพราะเก็บไว้ตั้งแต่ปู่” สุทโทเล่าความหลังที่ส่งผลต่อราคาในการรักษาให้เครื่องเสียงวินเทจกลับมามีชีวิตบรรเลงเพลงได้อีกครั้ง หลายคนอาจจะคิดว่าแพงเริ่มต้นหลักครึ่งหมื่นต้องมีแน่ๆ เมื่อเทียบกับราคาเครื่องเรือนหมื่นเรือนแสนบาทต่อตัว

ทว่า ‘โท ออดิโอ’ เสียน้อยนิดจัดให้ฟรี! เสียมากคิดเริ่มต้นที่ 500 บาท ขณะที่สูงสุดเครื่องมีอาการสาหัสสุดอยู่ที่ 2,000 บาท เพราะเครื่องเสียงส่วนใหญ่ที่นำมาซ่อมเสมือนดั่งตัวแทนของผู้คนอันเป็นที่รักของลูกค้า

“ที่อื่นซ่อมทั่วไปจะคิด 500 บาท เปิดเช็คอาการว่าซ่อมได้ไม่ได้ แต่เราถ้าซ่อมไม่ได้ก็ไม่คิด แค่ฟิวส์ขาดก็ไม่คิดเงิน ถามว่าเพราะอะไรก็เพราะมันซ่อมไม่ได้ ผมทำเพราะรัก และเพราะเครื่องเสียงบางตัวเป็นสิ่งละลึกถึงคนอันเป็นที่รักของเขา พ่อ แม่ ปู่ ย่า เขาแบกความหวังเหมือนฝากผีฝากไข้ให้เราช่วยดูแลเพื่อให้สักครั้งเปิดอันนี้นึกถึงคนที่เขารัก”

“ฉะนั้นหัวใจของการซ่อมเครื่องเสียงคือทำอย่างไรให้มันเหมือนเดิม ไม่ผิดเพี้ยน ซ่อมให้ดังใครๆ ก็ทำได้ แต่ทำให้เสียงมันเหมือนเดิมยาก วงจรมีตัวเสีย 1 ตัว ต้องหาให้เจอว่าอยู่ตรงไหน ซ่อมให้หายจะไม่พยายามเปลี่ยนให้บุคลิกของเครื่องเสีย เพราะคนฟังเขาฟังรู้ว่าเสียงเดิมเป็นอย่างไร

“เราทำให้มีชีวิตกลับมาได้ เขาชื่นชมเรา เราก็ภูมิใจดีใจไปกับเขาด้วย” สุทโทกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าอย่างมีความสุขตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ในการเป็นช่างซ่อมเครื่องเสียงวินเทจไม่มีสักวันที่คิดเบื่อและจะทำจนกว่าจะหมดลมหายใจ

“ซ่อมเครื่องแล้วมันมีเสียง มันให้ความรู้ว่าเรามีชีวิตอยู่ มีลมหายใจต่อเหมือนในอดีตที่เรายังเยาว์วัย”

ผู้ท้าทายความคลาสสิคบนโลกดิจิตอล ‘โท ออดิโอ’ หมอเครื่องเสียงวินเทจมือ1ไทย

***************************************

เกร็ดควรรู้ก่อนซ่อมเครื่องเสียงวินเทจ

1.ทำความสะอาดภายนอกให้สะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาดและเช็ด

2.ห้ามเสียงปลั๊กไฟทำงานเครื่องเด็ดขาด เพื่อป้องกันไฟฟ้าที่จะลัดวงจรซึ่งจะส่งผลทำให้ระบบภายในทั้งหมดอาจเสียหายเพิ่มขึ้นได้

3.ไม่ควรนำไปร้านซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่เฉพาะทาง ป้องกันการนำอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมมาเปลี่ยนทำให้เสียงเสน่ห์ของเครื่องเสียงผิดเพี้ยน

4.นำเครื่องเสียงวินเทจไปให้ช่างที่ชำนาญเฉพาะทางซ่อม เพื่อให้ความสมบูรณ์ออกมาแบบดั่งเดิมมากที่สุด