posttoday

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

03 กรกฎาคม 2563

ชีวิตที่เปี่ยมสุขและอิสระของชายชราวัย 60 กับการขับเรือพาผู้โดยสารเที่ยวแหล่งวัฒนธรรมท่าน้ำนนท์ด้วย ‘เรือหางยาว’ มรดกความรุ่งเรืองแม่น้ำเจ้าพระยาประเทศไทยในอดีต

เรื่อง : วิรวินท์ ศรีโหมด เรียบเรียง : รัชพล ธนศุทธิสกุล

ภาพ : สมชาย ลักษณมณี, ฉัตรอนันต์ ฉัตรอภิวันท์

“เล็ก-นิมิต จันทร์เหมือน” สิงห์ลุ่มน้ำแห่งจังหวัดนนทบุรี ชาวบ้านที่ยึดอาชีพเรือจ้างนำเที่ยวไปตามแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 40 ปี ด้วยความสุขและอิสระแม้ว่ายุคสมัยความนิยมจะเปลี่ยนไปและถึงจะรายได้ลดลงเกินกว่าครึ่งของในอดีต

ใบหน้ายิ้มแย้ม เสียงหัวเราะสุดกลั้น สาดใสทุกครั้งที่ท้องเรือกระแทกอัดผิวน้ำ สารภาพว่าภาพดังกล่าวดึงเราเข้าไปทำความรู้จักชีวิต ‘ฅนเรือ’ คนนี้

เพราะชีวิตคนๆ หนึ่งจะเป็นอย่างนี้ได้ย่อมมีเรื่องราวเบื้องหลังเป็นแรงขับ แต่อะไรจะเคลื่อนชีวิตให้ครื้นเครงเช่นเกลียวคลื่นในวัย 60 ปี ไม่ปล่อยตัวให้แก่งอมจับเจ่าอยู่กับบ้านไปวันๆ คงจะมีแต่เจ้าตัวเขาเองเท่านั้นที่ตอบได้

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

ลูกเจ้าแม่เจ้าพระยา

เกิดเพราะน้ำมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะสายธารใสแม่น้ำ นิมิตลืมตาจำความได้ก็เติบโตที่ท่าน้ำนนท์ มีพ่อขับเรืออีแปะ แม่เป็นแม่ค้าขายทุเรียนและผลหมากรากไม้ต่างๆ นานา เพราะ ‘ท่าน้ำนนท์’ หรือ ‘ท่าน้ำพิบูลสงคราม3’ ชื่อเรียกในอดีตเป็นท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรือทุกสายจะมาจอดยังท่าน้ำแห่งนี้เพราะเชื่อมกับการคมนาคมทางบกของรถทั้งต้นสาย-ปลายสาย

โดยบรรยากาศในสมัยก่อนที่การคมนาคมเจริญของถนนและรถไฟฟ้ามากมายในปัจจุบันนี้ ท่าน้ำนนท์จึงเสมือนจุดศูนย์รวมของหลายๆ สิ่งมากมาย อย่าง ตลาดชุมชนขนาดใหญ่ที่มีร้านรวงขึ้นชื่อ พื้นที่ทางราชการที่สำคัญ ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาวนนทบุรี

“เรือคือหัวใจประชาชน ไม่มีเรือก็ไปไหนไม่ได้ต้องรอเพราะมันไม่มีถนนก็มาทางเรือกัน สมัยทุเรียนกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท กิโลกรัมละ 500 บาท (หัวเราะ) คนปากเกร็ด คนบางบัวทอง คนคลองอ้อม คนบางกรวย มาอยู่ที่ท่าน้ำนนท์เต็มไปหมด เดินกันไม่ได้เลย เมื่อก่อนค้าขายดีช่วงหัวเช้ากับเย็นคนแน่นๆ โป๊ะจมเลย คนเรือต้องรีบวิ่งไปแก้เชือกผูกไม่ให้จมไปด้วย”

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

สายเลือดลูกแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่จึงลงเอยหนีไม่พ้นหาเลี้ยงชีพในคงคานี้ ไม่วาณิชพ่อค้าแม่ค้าก็คนเรือเช่นเดียวกับลุงเล็กที่จำความได้หนังสือลอยมาก็ไหลไปตามคลื่น แต่สิ่งที่คงอยู่ติดตัวก็คือ ‘เรือ’

“มาเริ่มขับเรือตอน 9-10 ขวบ เพราะเราอยากจะหาเงินช่วยพ่อแม่ก็โดนเรียนมาทำได้ทีละบาทสองบาท หลังจากนั้นก็ขับยาวมาเลยจนถึงวันนี้” ลุงเล็กเล่าพลางชี้ไปที่เรือซึ่งแต่ก่อนไม่ใช้เรือที่มีความเร็วอย่างปัจจุบันนี้

แม้ว่าจะเป็นยุคที่เรือหางยาวได้ถูกพัฒนาโดยนายสมัย กิตติกูล ในปีพ.ศ. 2493 จากการทดลองเอาเครื่องยนต์มาติดท้ายเรือก็จริง ทว่าเครื่องยนต์ในสมัยก่อนอย่างที่รู้กันดีกว่าไม่แรงและเร็วเท่าสมัยนี้ ในวัยเด็กของลุงเล็กได้ลองขับเป็นเรือพายหรือเรือแจวแบบโมดิฟายมือเมื่อบวกกับสิ่งของที่บรรทุกจึงไปได้ค่อนข้างช้า

“ถามว่าเด็กๆ ขับเรือต้องใจกล้าไหม มันก็ไม่ (หัวเราะ) คนให้ขับเขานั่งไปด้วยตอนขับ พอส่งเสร็จเขาก็ติดเครื่องให้ ก็หัดก็ดูตอนเขาติดเครื่องกระตุกยังไง จำไปอะไรไปก็ผูกพัน ก็ไปขอพ่อแม่ซื้อเรือ 5,000 บาท ใครชวนไปทำงานอื่นไม่ไปเพราะเราชอบทางน้ำ ไม่อยากเป็นขี้ข้าใครเขา อยากเป็นตัวของตัวเอง”

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

ความสุขฅนเรือ

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปบรรยากาศ 10-20 ปี ที่ผ่านมาท่าน้ำนนท์มีถนนหลักและหนทางรองมากมายตัดผ่านให้ความสะดวก พฤติกรรมของผู้คนกลับทิศขึ้นสู่วิถีบกที่เอื้ออำนวยความสะดวกหลุดหน้ากว่าเรือไปหลายโยชน์

“เขาไม่อยู่แล้วตามหมู่บ้าน อยู่ตามถนนรถดีกว่า มีรถเข้าถึงบ้าน เขาก็ไม่นั่งเรือแล้ว บางคนมีสวนที่ขายไปอยู่ที่อื่น เรือมันก็เล็กลง เจ๊งไปเรื่อยๆ จากแต่ก่อนวิ่งวันละเป็นหมื่น ตอนนี้รอบละ 500-1000 บาท”

เพื่อความอยู่รอดหลายคนเลิกล้มเลือกเปลี่ยนหางเสือรับพาผู้คนข้ามฝากฝั่งผันตัวเป็นเรือเร็วเรือด่วนเจ้าพระยาเพียงอย่างเดียว ทว่าลุงเล็กยังคงเลือกคุมหางใบพัดเหตุผลนอกเหนือจากความชอบอิสระของชีวิตตนเอง ก็คือพรรคพวกที่ยังอยู่บนท้องน้ำแม้ว่าจะคนละรูปแบบแต่อย่างไรเพื่อนก็คือเพื่อนและยังมีคนที่อยากจะท่องเที่ยว

“เพื่อนเยอะ ขับเรือตั้งแต่เด็ก คนมันก็รู้จักตั้งแต่ปทุม อยุธยา คลองอ้อม ที่เขาขับเรือรู้จักหมด เฮ้ย…กินเหล้ากัน (หัวเราะ) แต่สมัยนี้พักหมด คือเรามีอะไรก็แบ่งปันกันมันก็ผูกพันที่บอกผูกพันชีวิตเพราะเรือขับคนเดียวไม่ได้ หยิ่งมันก็ไม่มีเพื่อนเรือเสียทำไง พายคนเดียวไม่ไหวกว่าจะเข้าฝั่ง อาศัยเพื่อนฝูงเพื่อนกันมันก็รีบเข้ามาดูเรา ก็มันนั้นล่ะมาช่วยโยงกลับ

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

“ที่ลุงยังทำเรือทุกวันนี้เพราะรักชอบอาชีพนี้อยู่ มันนานแล้วนะที่เลี้ยงเรามาได้ ส่งลูกเรียนคนเดียวจนโตมีหลานแล้ว ที่สำคัญเลยมันยังมีคนลงอยู่ ไม่มีไทยก็ฝรั่ง จีน เขาอยากจะนั่งเรือเที่ยวท่าน้ำนนท์ อยากจะนั่งเล่นก็โอเค” ลุงเล็กเผยสิ่งที่ผูกโยงแกกับเรือกว่า 30-40 ปีในวันนี้ ที่แม้แต่เงินลดลงกว่าครึ่งก็ไม่อาจสะบั่น

และไม่อาจจะแทรกซึมความคิดจะรวยมากไปกว่า ‘พอมีพอกินไม่เป็นหนี้ใครเขา’ ซึ่ง ณ ตอนนี้ชีวิตของแก่ก็มีครบทั้งตู้เย็น บ้าน ทีวี แถมพร้อมสรรพด้วยความสบายใจ ไม่มีเรื่องเครียด อยู่ดูลูกหลานแฟนทำกับข้าว วันนี้กินอะไรกันดียกไปซื้อด้วยกัน กลับมากินข้าวกัน

“ไปเที่ยวไหนบอกผมได้ครับ ไปหมดฟะหรังฝรั่งพูดได้หมด แวร์ อาร์ ยู โกอิง? คะแนล (คลอง) โฟลทติ้ง มาร์เก็ต (ตลาดน้ำ)” ลุงเล็กระบุ

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

ขอตายไปกับเรือ

ลุงเล็กบอกว่าตัวเองนั้นปัจจุบันแม้ว่าอายุ 60 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ตราบเท่าที่เรี่ยวแรงยังไม่งอนหนีชิงทิ้งไปเสียก่อน ซึ่งไม่ใช่ในเร็วๆ วันนี้แน่ๆ แก่บอกว่าจะขอขับร่องชีวิตบนเนินเกลียวคลื่นแม่น้ำเจ้าพระยาถึงขั้นดึงสายสตาร์เครื่องไม่ได้ เดินลงเรือไม่ไหว

“อยู่กับเรือมันโล่งเย็น ขับไปละอองน้ำกระเด็น เจอน้ำเจออะไร แต่ถ้าเป็นขับรถเดี๋ยวนี้ซิมันติด ติดก็หงุดหงิด แต่เรือนี่สบายๆ ขับๆ ไปเอาน้ำลูบหน้า ถ้ามันร้อนควักเอาน้ำเช็ดหัว เย็นแล้วก็ไปได้อีกยาว วิ่งยันอยุธยาเกือบออกจะถึงทะเลแล้วก็ได้”

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

“ลุงคิดไว้ว่าจะขับไปจนกว่าจะสตาร์เครื่องไม่ไหว หรือเดินลงเรือไม่ไหวแล้วถึงจะเลิก” ลุงเล็กย้ำด้วยเสียงหัวเราะแก้มปริด้วยความสุขใจในตัวเอง ด้วยสุขใจในเรื่องราวของอดีตวันวาน และที่สำคัญคือสุขใจที่ยังมีผู้คนในวันนี้อยากจะท่องเที่ยวทางน้ำแม้ว่าไม่มากเหมือนเมื่อ 30ปี 40ปี ที่ผ่านมา แต่วันนี้ยังมีคนนั่ง มีคนขับและมี 'นิมิต จันทร์เหมือน' ให้บริการ

“ตอนนั้นก่อนจะขับเรือมาจับเรือก่อน รับเรือมาผูกจอดไม่ให้ลอยไปตามน้ำ เพราะเรือเยอะมากบางทีต้องผูกโยงเรือกับเรือ พี่ๆ แถวนั้นเขาเห็นระหว่างรอผูกเรือ เขาก็ชวนขับเรือส่งของบอกไอ้เล็กมึงอยากขับเรือไหม อยากครับพี่”  

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย

‘ลุงเล็กสิงห์คะนองน้ำ’ มัคคุเทศก์คงคาท่าน้ำนนท์ยุคสุดท้าย