posttoday

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

02 มกราคม 2563

“เงินเฮาหาจะใดก็ได้ ชีวิตสำคัญกว่า” คู่รักใจบุญ ‘ไถ่ชีวิตควาย’ มาเลี้ยง 20 ปี ผ่านไป กลายเป็นแลนด์มาร์คที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองเชียงใหม่

“เงินเฮาหาจะใดก็ได้ ชีวิตสำคัญกว่า” คู่รักใจบุญ ‘ไถ่ชีวิตควาย’ มาเลี้ยง  20 ปี ผ่านไป กลายเป็นแลนด์มาร์คที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองเชียงใหม่

***********************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

ณ หมู่บ้านหนองครก หรือ หมู่บ้านไม่กลัวหนาว หมู่ 10  ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พื้นที่กว่าเกือบ 200 ไร่ กับจำนวนควายทั้งหมดในปัจจุบัน 88 ตัว ให้สัมผัสเล่นหรือกระทั่งขี่ได้ฟรีๆ ไม่คิดเงิน

โดยมีที่มาจากเมื่อ 20 ปีก่อนช่วงราวปี พ.ศ. 2542  “ร.ต.ท.นคร ปัญญาทิพย์” และ “นางวันเพ็ญ ปัญญาทิพย์” สองสามีภรรยาใจบุญ ที่ได้พบเจอควายน้อย 6 ตัว กำลังจะถูกเชือด จึงไถ่ถอนด้วยความสงสารและนำกลับมาเลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว กระทั่งควายเหล่านั้นได้เติบใหญ่ออกลูกหลานจนกลายเป็นฟาร์มย่อมๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมล้นหลาม

“ถ้าบ่จ้วยโอกาสจะอี้บ่มีแฮ๋มละ เงินเฮาหาจะใดก็ได้ ชีวิตสำคัญกว่า” ทั้งคู่เผยจุดเริ่มต้นสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับควาย 

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

ชีวิตมีค่ามากกว่าเงิน

ในปี พ.ศ. 2518 พลตำรวจนคร ได้จบจากโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 5 รุ่นที่ 24 และในปี พ.ศ. 2519 ถูกส่งมาประจำ สภ.พร้าว ในตำแหน่งงานสืบสวน และด้วยความตงฉินส่งให้ผู้บัญชาการเล็งเห็นผลงาน จึงได้รับมอบหมายให้ช่วยราชการในกองกำกับการตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ ในตำแหน่งชุดสืบสวนประจำจังหวัด ก่อนที่10 ปีต่อมาจะได้กลับมาประจำที่ สภ.พร้าว อีกครั้ง ในตำแหน่งหัวหน้าชุดสืบสวน กระทั่งเกษียณอายุราชการ

“เดิมผมเป็นคนจ.แพร่ มาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน เริ่มก็ต้องทักทายทำความรู้จักชาวบ้าน เพราะสายสืบทำงานลงพื้นที่หาข่าวในคดี หลักที่ลุงยึดทำงานคือ เราเงินมีน้อย ก็ใช้ใจปฏิบัติดูแลเขาเวลาชาวบ้านมีปัญหา” ร.ต.ท. นคร ระบุ 

และด้วยหลักปฏิบัตินี้ เพียง 1 ปี อดีตหัวหน้าชุดสืบสวนค่อยๆ เริ่มผูกผันกับชาวบ้านและรู้จักกับหญิงสาวในพื้นที่ชื่อ ‘วันเพ็ญ’ คนบ้านสะลวงนอก อ.แม่ริม ที่ไม่เพียงหน้าตาสะสวย แต่ ‘หัวใจ’ ยังงดงาม

“มันก็แบบคนโบราณ พ่อแม่ชอบพาไปเข้าวัดวันพระ พาไปงานบุญ มันก็ซึมซับมา”  ป้าเพ็ญยิ้มเขินให้กับสามีที่กว่า 40 ปีในชีวิตคู่ยังคงจดจำเหตุผลร่วมปลูกต้นรักด้วยกัน

“แต่งงานกันปี 2520 ย้ายมาอยู่ที่ อ.พร้าว เจอใครก็สวัสดีทักเขาก่อน เขาก็รู้สึกว่าเราดี เขาก็มาสวัสดีเราตอบ ต่อไปมีอะไรก็หยิบยืนให้กัน มีอะไรก็ช่วยเหลือแบ่งปันกัน ต่อให้เราจะมีน้อย บ้านพักตำรวจก็ห้องแถวเล็กๆ แต่เราสองคนใช้ใจในการอยู่ไม่ใช่เงิน”

เวลาผ่านไปสองคนผัวเมีย ‘ปัญญาทิพย์’ ศีลที่เสมอกันพาให้ทั้งคู่ยิ่งช่วยเหลืองานต่างๆ ของหมู่บ้านหรือไม่ก็ใช้ความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานแก้ปัญหาติดขัด จนใครๆ ก็เรียกลุงดาบและป้าเพ็ญสนิทใจเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งในครอบครัว

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

“ลุงก็ใช้ชีวิตตามประสา ทำงาน ทำบุญ พอลูกสาวคนโตเรียนมหาลัยก็ให้ป้าเพ็ญทำธุรกิจรับเหมา ถมดิน ขุดสระน้ำ ช่วง พ.ศ. 2537 ไว้เป็นทุนส่งค่าเรียน” ลุงดาบ เผยจังหวะชีวิตที่คนกับควายน้อยที่จะถูกเชือด ด้วยความสงสารจึงยื่นมือไถ่ชีวิตช่วยเหลือจนกลายแหล่งท่องเที่ยว

โดยเหตุการณ์ในวันนั้นขณะลุงดาบเสร็จภารกิจราชการ ได้ไปดูงานกิจการส่วนตัวเป็นงานถมดินให้ลูกค้า ซึ่งเมื่อไปถึงได้คุยโทรศัพท์ปรึกษากับป้าเพ็ญ และในระหว่างที่คุยกันนั้นได้เหลือบไปเห็นควายเด็ก เขายาวได้แค่คืบหนึ่ง เป็นตัวเมีย 4 กับตัวผู้ 2 ตัว ถูกมัดไว้กลางทุ่งนา มันหยุดไม่กินหญ้าไม่กินฟางและมองมาทางเขา

“แรกๆ ก็ไม่ได้สนใจ แต่หันมาอีกก็เห็นมันมองอยู่อีก พอดีกำนันอยู่ด้วยก็เลยถามเขาควายตัวนี้ควายใคร กำนันบอกว่าเป็นควายของโรงเชือดกำลังจะไปเชือด ถามกำนันอีกจะฆ่าควายน้อยทำไม เขาบอกถ้าควายโตฆ่าเนื้อมันจะเหลือและต้องเอาไปย่าง ราคามันก็ถูกลง ควายตัวเล็กเนื้อพอดีและอร่อย มันก็เกิดความสงสาร

“ก็เปลี่ยนเรื่องคุยเลย บอกป้าเพ็ญ ‘แม่มึงจะช่วยควายน้อยก่อ ทั้งหมด 7 หมื่น ค่าลากอีก 2 พัน’ ป้าเพ็ญตอบช่วยทันที เพราะพ่อตาแม่ยายเป็นชาวนา เห็นแม่ควายเวลาจะไปไถ่นา ลูกมันจะวิ่งตาม เงินเดี๋ยวเราก็หาได้ ชีวิตสำคัญกว่า ถ้าไม่ช่วยโอกาสตรงนี้ไม่มีอีกแล้ว เดี๋ยวเงินค่อยมาเก็บใหม่ เหลือหมื่นนิดๆ ก็พอค่าเทอมลูกสาวอยู่” 

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

ยึดคติติดอก ‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’

นอกจากความดีใจที่ป้าเพ็ญบอกและแสดงออกผ่านรอยยิ้มอย่างเห็นได้ชัดบนใบหน้า หลักฐานที่สำคัญของคติชีวิตเธอ ‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ คือความเจริญในหน้าที่การงาน ธุรกิจ และชีวิตของลูกๆ  เป็นผลของการทำสิ่งที่ดี หากใครถือว่าเป็นบุญก็คงจะส่งและเสริมให้หนุนนำเธอในรูปแบบดังกล่าว

“ใครจะมองว่าบุญก็ได้เพราะเวลาเราได้ช่วยแล้วเรามีความสุข ได้ให้แล้วเราอิ่มเอม มันก็ทำให้เรายิ้มแย้ม ทีนี้เวลาไปไหน ไปทำอะไร คนก็รักชอบ”

แต่ในระหว่างนั้นป้าเพ็ญเองก็ไม่ได้คาดคิดในส่วนของผลบุญตรงนี้ เธอเพียงแต่ช่วยเพราะอยากจะช่วยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน “แรกๆ ก็เหนื่อยนะ เพราะเราไม่มีพื้นที่เลี้ยง ก็ไปฝากคนเลี้ยงอีกตำบลหนึ่ง แต่มันหายเหนื่อยทันทีพอได้เห็นพวกเขาในทุ่งหญ้า ยิ่งพอเขาโตเขาก็เป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว”

ดังนั้นทุกตัวจึงมีชื่อเรียกและมีรูปถ่ายที่บรรจุในแฟ้มเป็นอย่างดี และแม้ว่าธรรมเนียมของทางภาคเหนือแม้ว่าลูกควายตัวแรกที่คลอดจะต้องเป็นของคนเลี้ยง ซึ่งคนเลี้ยงส่วนใหญ่ต้องการขายเพื่อนำเงินมากินอยู่ เธอจึงขอซื้อจากคนเลี้ยงเพราะไม่อยากพรากแม่พรากลูกต่ออีกทอดหนึ่ง และปฏิบัติทำอย่างนี้เรื่อยมาเมื่อมีลูกควายเกิดขึ้น

“เขาเหมือนคน เขาไม่ได้โง่เป็นควายเหมือนชื่อที่เราตั้งเรียก เขารู้คนไหนคนเลี้ยง แต่เขาก็รู้อีกว่าคนไหนเจ้าของ เวลาลุงไปหาเขาจะเดินมาล้อมเอาจมูกมาชนมือชนตัวเรา” อดีตตำรวจสายสืบ เผยความรู้สึกที่จากความสงสารก่อเกิดเป็นความผูกผัน ยามเจ็บป่วยด้วยโรคตามวิถีธรรมชาติสัตว์ก็จะติดต่อปศุสัตว์มาทำการรักษาและป้องกัน ถ้าป่วยหนักเหมาจ้างรถบรรทุกขนควายเอามารักษาโรงพยาบาลจนหาย

ขณะที่ในส่วนของเรื่องอาหารหญ้าฟางช่วงไหนแล้ง คนเลี้ยงก็จะโทรประสานมาทางป้าเพ็ญเพื่อสั่งซื้อเป็นสต๊อกอาหารไม่มีขาด หรือกระทั่งแม่ควายเกิดตายลูกควายน้อยยังไม่หย่านมก็จะกระวีกระวาดโทรสั่งนมควายจากตัวเมืองเชียงใหม่พร้อมกับเดินทางไปรับด้วยตัวเองนำมาเลี้ยงดูเจ้าควายน้อย

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

ป้าเพ็ญ บอกต่อว่าชีวิตก็ค่อยๆ ดีขึ้น ทำมาหากินคล่องขึ้น ค่าอาหาร หยูกยา เดือนๆ พันบ้าง เกือบหมื่นบ้าง ดูแลควายที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยไม่ติดขัด หน้าที่การงานพี่หมวดก็ขยับ พอควายน้อยเข้ามาในชีวิต

“อย่างที่บอกมองทางบุญ เรามีความรู้สึกได้ว่าคนเขาดีกับเรา เพราะเราดีต่อสิ่งมีชีวิตก็ได้หรือมองในทางวิทยาศาสตร์มันก็ได้ พอสุขภาพจิตดีมันก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย มีความสุขไม่เครียด อยู่กับคนรอบข้างก็มีความสุข กลายเป็นคนที่ใครๆ รัก ไปที่ไหนก็ได้รับความกรุณา ไม่ว่าจะเจ้านาย ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน

“ครอบครัวป้าก็ขยับขึ้นๆ พากันช่วยเหลือมากขึ้น เพราะเวลาไป ช่วยเหลือก็เจอคนที่ชอบช่วยเหลือเหมือนกัน กลับมามีคนรู้จักเพิ่มขึ้น ได้คอนเนคชั่นธุรกิจบ้าง ชวนกันไปทำบุญบ้าง มันขยับพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง ไวกว่าเดิมอีก (ยิ้ม) เมื่อก่อนเก็บเงินกัน 20 ปี ได้แสนหนึ่ง ช่วยเขาไปเราดีขึ้นแป๊บเดียวกลับมามีเท่าเก่า”

ยิ่งช่วยเหลือสังคมมากขึ้นเมื่อยิ่งช่วยแล้วยิ่งสุขใจ ทำให้ภายหลังต่อมา 12 ปี ป้าเพ็ญได้รับคัดเลือกเป็นประธานแม่บ้านและรองนายกหญิงกาชาด อ.พร้าว ขณะที่ลุงนครขึ้นเป็นหัวหน้าชุดสืบสวน สภ.พร้าว และยังได้รับการโหวตเลือกเป็นประธานที่ปรึกษาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธานที่ปรึกษากู้ภัยอีกด้วย 

“มันเป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ เราทำไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน อีกอย่างเราเป็นครอบครัวข้าราชการ เป็นคนของประชาชน” ลุงนคร กล่าวเสริมสมทบภรรยาที่บอกถึงความรู้สึกที่ไถ่ชีวิตควายตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

ดู-ขี่-เล่น-ควายฟรี ณ บ้านหนองครก  

ปัจจุบันจำนวนของควายมีด้วยกันทั้งหมด 88 ตัว โดยตัวล่าสุดเพิ่งจะคลอดออกมาได้ยังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งด้วยจำนวนควายที่เพิ่มมากขึ้นหลังตัวที่ 60 เกิด ทำให้ลุงนวลคนลี้ยงที่อายุมาก เลี้ยงต่อไม่ไหวจึงได้ขอส่งคืนลุงนคร

และในระหว่างที่กำลังหาจ้างงานคนเลี้ยงใหม่และพื้นที่ อดีตหัวหน้าชุดสืบสวนได้พบกับเจ้าของที่ประกาศขายที่ดินเกือบ 200 ไร่ดังกล่าวโดยบังเอิญ ในหมู่ 10 ต.สันทราย อ.พร้าว จนกลายเป็นที่ตั้งและแหล่งท่องเที่ยวเสริมให้กับ ‘หมู่บ้านหนองครก’ หรือ ‘หมู่บ้านไม่กลัวหนาว’ แห่งนี้คึกคัก ยอดจ้องโฮมสเตย์ที่พักคิวแน่นถนัดตาในปี พ.ศ. 2555

“เราทำงานเรื่องป่ากับกลุ่มธรรมชาติปลอดภัยด้วย ตอนที่หาที่ก็ทำเรื่องขายที่ดิน อยากเอาเงินค่านายหน้ามาซื้อที่ดินเลี้ยงควาย ทีนี้พอทำเรื่องไปได้ แต่คนซื้อเขาซื้อแต่ไม่มีเวลาดูแล ก็เลยเอาค่านายหน้าลงทุนไปกับเขาส่วนหนึ่งและรับหน้าที่ดูแลที่ดินไปด้วย เอาควายไปเลี้ยงที่หมู่บ้าน

“แรกๆ ก็มีคนมาสอบถามทำไปเพื่ออะไร เราได้อะไรจากมัน ทุกคนเลี้ยงมาเพื่อขายต่อ ได้เงินทอง ด้วยการเกษตร แต่เรามูลควายแจกจ่ายให้ชาวบ้านเอาไปใช้ในครัวเรือน ให้สถานศึกษา แต่เราคิดว่าเราทำแล้วมีความสุขมันก็คือสิ่งที่ได้ไง แค่รูปแบบมันไม่เหมือนกันเท่านั้น และความสุขที่ได้ก็อย่างที่บอก สุขที่กายใจ”

“ก็ไม่คิดอะไรหากใครจะมองว่าบ้า” ลุงนครย้ำพร้อมกับมองไปยังเบื้องหน้าความสุขที่ ณ ตอนนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทุกๆ คนต่างเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขเมื่อเห็นฝูงควายแบบเดียวกับเขา

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

“เราก็ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสฟรีๆ ใครจะมาขอดู ขอขี่ ก็บอกเขาที่มาขอตอนแรกว่าเอาเลยพาเขาเที่ยวได้ไม่คิดเงิน แต่ก็จะกำชับคนเลี้ยงว่าคอยระวังอย่าให้เขาตกควายเท่านั้น แต่ก็ยังไม่มีใครตกนะ เพราะควายเขาเชื่อง เข้ากับคนได้ดี

“ก็ดีใจที่สิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับคนอื่น แต่ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็อาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะนักท่องเที่ยวมากันเยอะ แค่รับสายโทรศัพท์ก็แทบสายไหม้แล้ว” ลุงนครกล่าวติดแซวอย่างคนอารมณ์ดีที่หาได้ยากในวัย 65 ปี หากไม่ได้มีชีวิตและผ่านเรื่องราวชีวิตเช่นนี้

ซึ่งไม่ต่างไปจากภรรยาคู่ชีวิตป้าเพ็ญก็ยิ้มรับและบอกเสริมว่า จะดูแลเลี้ยงสมาชิกควายดุจคนในครอบครัวต่อไปเรื่อยๆ และแม้ว่าในวันที่ตัวเองลาไปจากโลกนี้ในอนาคตก็ได้ฝากไม้ต่อมอบหมายให้ลูกสาวแล้วว่าช่วยดูแลน้องๆ ต่อไป

“เราทำได้ก็มาจากพ่อแม่เราสอนเรา ลูกสาวเรา 2 คนก็จะมารับช่วงต่อ ความสุขของเราเป็นเหมือนกัน ครอบครัวเรามีความสุขและหลักชีวิตกันแบบนี้ สุดท้ายใครที่อยากจะมาเที่ยวมาสัมผัสก็มาได้เลยช่วงนี้อากาศก็ดี มาสัมผัสชีวิตและอาจจะได้อะไรดีๆ กลับไป เป็นความสุขใจที่เงินซื้อไม่ได้”   

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"

‘ไถ่ชีวิตควาย’ จนกลายเป็นที่ท่องเที่ยว "ลุงนคร-ป้าวันเพ็ญ"