posttoday

"ต้นทุนเราอาจต่ำ แต่ถ้าทำ มันก็งอกขึ้นมาได้" ธีรพงศ์ สังข์แสง นร.ยากจนแต่เพียรสู้จนจบปริญญา

27 สิงหาคม 2562

เส้นทางชีวิต “เปา-ธีรพงศ์ สังข์แสง” เด็กหนุ่มยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษา เพียรพยายามรับจ้างตัดหญ้า-ปลูกต้นไม้-เสิร์ฟหมูกระทะ ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนจบปริญญาตรีเป็นของขวัญให้พ่อแม่

เส้นทางชีวิต “เปา-ธีรพงศ์ สังข์แสง” เด็กหนุ่มยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษา เพียรพยายามรับจ้างตัดหญ้า-ปลูกต้นไม้-เสิร์ฟหมูกระทะ ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนจบปริญญาตรีเป็นของขวัญให้พ่อแม่

************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

ภาพเด็กหนุ่มสวมชุดครุย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเพชรบูรณ์  ยืนอยู่ขนาบข้างด้วยหญิงและชายชราหน้าเพิงพักซอมซ่อ เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและปลุกจิตเยาวชนให้เงยหน้าจากจอโทรศัพท์ฉุกคิดถึงหน้าที่แทนคุณพ่อแม่

เมื่อลงลึกถึงการฝ่าฟันรับจ้างทำงานควบกับเรียนตั้งแต่อายุ 15 เสิร์ฟหมูกระทะก็ไป ตัดหญ้าก็มี บ้างเวลาก็ไปปลูกข้าวโพดหรือต้นไม้ ตลอดกว่าเกือบ 10 ปี ชีวิตตรงนี้เติมเต็มความมุ่งมั่นและเคล็ดวิชาการสู้เอาชนะอุปสรรคปัญหาได้เป็นอย่างดี

“โชคชะตาเรากำหนดได้ เราแค่มีไม่เหมือนคนอื่น แต่เราทำให้มันงอกขึ้นมาได้ เหมือนคนอื่นๆ” ต้นเหตุความเพียรที่ถูกเปิดเผยจากปากของ “เปา-ธีรพงศ์ สังข์แสง” บัณฑิตย์หนุ่มป้ายแดงยากจนด้อยโอกาสที่เลือกลิขิตตัวเอง แม้ในวันที่อะไรๆ ไม่เป็นใจให้สำเร็จ

"ต้นทุนเราอาจต่ำ แต่ถ้าทำ มันก็งอกขึ้นมาได้" ธีรพงศ์ สังข์แสง นร.ยากจนแต่เพียรสู้จนจบปริญญา

คนเหมือนกัน เขาเป็นสิงห์ "เรา" ก็เป็นสิงห์ได้ 

ธีรพงศ์ เกิดในวันที่ 6 ก.ย. 2537 โรงพยาบาลภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยในช่วงนั้นพ่อกับแม่รับจ้างทำงานก่อสร้างทั่วไป เมื่อเขาเกิดแม่จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาที่ หมู่ 4 ตำบลวังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งได้อาศัยพื้นที่สวนของป้าปลูกเพิงพัก ทำสร้างง่ายๆ ปูไม้อัดและไม้ไผ่เป็นฝาผนัง นำสังกะสีและเศษกระเบื้องมามุงหลังคา

“บ้านไม่มีประตู ไม่มีห้อง เป็นโถงเดียว ที่กินกับที่นอนที่เดียวกัน ส่วนห้องน้ำอาศัยเข้าของเจ้าของไร่ข้างๆ เดินไป 200 เมตร แถมไฟฟ้าก็ไม่มีเพราะเข้าไม่ถึง”

รายได้หลักๆ ของครอบครัวมาจากการปลูกกล้วยและเผาถ่านขาย จะมีบ้างที่รับจ้างตัดหญ้าตามแต่มีคนว่าจ้างงาน ซึ่งนั้นทำให้ฐานะทางการเงินไร้ความงดงามและคงที่ สมัยเด็กทุกๆ ปิดเทอมเปาจึงถูกส่งตัวไปบวชสามเณรหรือไม่ก็เด็กวัด หวังอาศัยขอบเขตของใบเสมาให้เขาอิ่มท้องพร้อมกับได้อบรมบ่มนิสัยและความรู้ไปในตัว ด้วยความหวังในใจที่ว่าอนาคตการศึกษาจะพาลูกเติบโตมีชีวิตที่สบายกว่าตัวเอง

“พ่อแม่เขาไม่มีเงินแต่เขาก็สนับสนุนเราเต็มที่ เขาก็จะบอกเราเสมอว่าอยากให้เรียนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน  อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนา เราไม่มีก็ต้องอดทน ต้นทุนเราอาจจะต่ำกว่าคนอื่น แต่ถ้าเราทำมันก็จะมีงอกขึ้นมาได้ เพราะเราคนเหมือนกัน เขาทำได้เราก็ต้องทำได้”

ดังนั้นมีหรือที่เด็กหนุ่มราศีสิงห์ผู้นี้จะท้อและตั้งใจทำตามฝันด้านกีฬาเต็มที่ แม้ต้องทั้งเรียนและทำงานพาสไทม์ทั้งบริการในร้านหมูกระทะบุฟเฟ่ต์ หลังเลิกเรียน 16.30-23.00 น. หรือการจ้างตัดหญ้า ปลูกต้นไม้ ปลูกข้าวโพด ตามที่มีคนว่าจ้าง แต่ก็เจียดเวลาหาความรู้ใส่ตัวอยู่สม่ำเสมอ

“เวลาเราน้อย หัวเรียนก็ปานกลางไปถึงแย่ ก็ต้องหาเติมก็ไปยืมหนังสือของเพื่อนบ้าง ครูบ้าง พวกหนังสือกีฬาพื้นฐาน ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ บาส เอามานั่งอ่าน” เปากล่าวพร้อมรอยยิ้ม เพราะแม้ว่าจะเหนื่อยและง่วงจากความอ่อนเพลียกว่า 3 ปี ในช่วงเรียนมัธยมปลาย แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่ามัน “ลำบากหรือเป็นปัญหา”

เปามองว่าชีวิตที่พ่อแม่เจอหนักกว่าตัวเองหลายเท่าแต่พวกท่านกลับไม่เคยนำปัญหาหรือความเครียดมาใส่ สำหรับเปาอุปสรรคปัญหาที่มีของเขาทั้งหมดเป็นเพียงแค่สิ่งที่ต้องปรับและพลิกแพลงทำคนละรูปแบบกับคนอื่นเท่านั้น

“คนข้างหลังเขาลำบากทำมาให้เรา แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เราสบายกว่าแค่เรียนอย่างเดียวหลายคนอาจจะมองว่าเป็นปัญหาหนัก แต่ผมไม่ถือว่าหนักกับปัญหาที่เราจน คำว่าปัญหาของผมคือปัญหาเป็นวิธีการแก้ไข เป็นการตีปรับโจทย์ให้เหมาะกับตัวเรา”

"ต้นทุนเราอาจต่ำ แต่ถ้าทำ มันก็งอกขึ้นมาได้" ธีรพงศ์ สังข์แสง นร.ยากจนแต่เพียรสู้จนจบปริญญา

สร้างความสำเร็จจากความพยายาม

เปาบอกภาษิตโบราณที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” ยังคงใช้ได้ดีในการพิชิตฝันและความสำเร็จให้กับชีวิต โดยขั้นแรกหลังจากพ้นรั้วอุดมศึกษาเขาสามารถสอบเรียนต่อติดคณะศึกษาศาสตร์ เอกพละศึกษา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเพชรบูรณ์ พร้อมกับได้รับทุนเรียนฟรีแก่เด็กฐานะยากจนและมีความมุ่งมั่น

“กู้กยศ.เป็นค่าใช้กินจ่ายในการเรียนเดือนละ 2,200 บาท และก็รับจ้างทำความสะอาดบ้าน รับจ้างตัดหญ้าสนามฟุตบอลให้มหาวิทยาลัยในโครงการการช่วยเหลือนักศึกษาให้มีรายได้ บางวันก็เป็นกรรมการตัดสินกีฬาที่มีจัดแข่ง” เปาแจงฉากขั้นต่อมาที่เขาเองต้องวิริยะอุตสาหะต่อ ซึ่งบางครั้งก็พอจะที่ถูไถไปได้ แต่บางครั้งก็ไม่พออย่างช่วงเปิดเทอมที่เงินกู้ยืมเข้าระบบช้านับเดือนๆ

“หลักๆ เราวางแผนชัวร์ๆ ไว้ก่อนเดือนหนึ่งใช้เงินได้วันละ 60 บาท กินข้าวที่มหาลัย 20 บาท เช้า-เย็น 2 มื้อ แต่ถ้าไม่พอเวลามีปัญหาก็จะปรึกษาอาจารย์ อาจารย์ก็แนะนำ แล้วก็ให้ยืมเงินจน ขนมนี้มาได้กินตอนปี 2 เพราะเริ่มสนิทกับเพื่อนเพื่อนก็ช่วย เพื่อนไม่รังเกียจหรือดูถูกเราเลย ยิ่งพอเพื่อนรู้ว่าเรากำลังแย่ เงินไม่มีแล้ว ตกเย็นช่วยกันรวมเงินซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับไข่ไก่เก็บไว้ให้เรากิน” 

เมื่อการเงินมีปัญหา การศึกษาก็ไม่เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามตลอดระยเวลา 5 ปี เด็กหนุ่มยอดกตัญญูปลดล็อคปัญหานี้ออกจากตัวเองด้วยการตั้งใจทุกครั้งที่เข้าเรียนในชั่วโมง เพื่อเอาเวลาที่เหลือไปทำงาน

“ในชั่วโมงเรียนก็ตั้งใจเต็มที่ ฟังให้เข้าใจ เพราะเวลาเราน้อย ตอนใกล้สอบก็จะเตรียมตัวพิเศษเพราะอาจารย์จะบอกแนวทางข้อสอบ เราก็เน้น 2 ช่วงนี้เป็นหลักในการเรียน ถ้าไม่ทำแบบนี้วาสนาเราไม่ดีก็ต้องยิ่งตั้งใจ การศึกษาเป็นหนทางเดียวที่จะเปิดโอกาสชีวิต คติอาจจะโบราณแต่ถ้าถามมีวันนี้ได้ไงก็ความพยายาม เราทำจริงเต็มที่ มันสำเร็จทุกอย่าง” บัณฑิตย์หนุ่มป้ายแดงกล่าว

"ต้นทุนเราอาจต่ำ แต่ถ้าทำ มันก็งอกขึ้นมาได้" ธีรพงศ์ สังข์แสง นร.ยากจนแต่เพียรสู้จนจบปริญญา

บวช-ข้าราชการ-ความฝันอนาคต

ในวัย 25 ปี เปาบอกว่าเป้าหมายต่อไปที่ต้องการทำทดแทนบุญคุณพ่อแม่คือการได้ “บวช” และสอบบรรจุเป็น “ข้าราชครู” 

“บวชเป็นสิ่งที่ 2 หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่พ่อแม่ต้องการ การบวชเลยเป็นสิ่งที่ผมจะทำต่อไปให้ท่าน” เปาเผยความกตัญญูที่มีต่อพ่อแม่ที่มีอยู่ทุกลมหายใจ

“ในส่วนข้าราชการครูที่อยากจะสอบบรรจุให้ได้ เพราะการเป็นครูนอกจากจะมั่นคงและเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ดีด้วย ที่สำคัญเราเคยได้รับโอกาสจากครูและจากเพื่อนๆ ในรั้วโรงเรียน ซึ่งเรามองว่า มีเด็กๆ อีกหลายคนที่แบบเรา หรือแย่กว่าเรา เราจะได้มีโอกาสเจอและช่วยมอบโอกาสแบบที่เราได้ให้กับเขา”

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเปาลงสอบ 2 สนาม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสอบครูท้องถิ่น แม้ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่เปาก็บอกด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจที่สดใสว่าจะสู้ต่อไปและทำให้สำเร็จให้จงได้

“ผมไม่มองว่าเราด้อยที่สุด ไร้ค่าที่สุด ผมเชื่อโชคชะตาเรากำหนดได้” ธีรพงศ์ สำหรับคนที่ท้อหรือมีปัญหาในชีวิต อยากให้เขามองคนที่เขาลำบากกว่า เพื่อเอามาเป็นแรงผลักดันของตัวเราเองให้สู้ต่อไป
 

"ต้นทุนเราอาจต่ำ แต่ถ้าทำ มันก็งอกขึ้นมาได้" ธีรพงศ์ สังข์แสง นร.ยากจนแต่เพียรสู้จนจบปริญญา

"ต้นทุนเราอาจต่ำ แต่ถ้าทำ มันก็งอกขึ้นมาได้" ธีรพงศ์ สังข์แสง นร.ยากจนแต่เพียรสู้จนจบปริญญา