posttoday

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

21 สิงหาคม 2562

“อย่าอยู่กับที่ ทำให้ดีที่สุด”เคล็ดลับการค้นหาแนวทางชีวิตของ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยดัง ผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ เพียง 3 เดือนยอดจองคิวแน่นข้ามสัปดาห์ 

“อย่าอยู่กับที่ ทำให้ดีที่สุด”เคล็ดลับการค้นหาแนวทางชีวิตของ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยดัง ผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ เพียง 3 เดือนยอดจองคิวแน่นข้ามสัปดาห์ 

*********************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

"เสียดายความรู้ความสามารถ" "ทำไมไม่ทำอาชีพอื่น" "ไม่อายเหรอ" ฯลฯ สารพัดคำถามจากผู้คนที่ "แก้ว" หรือ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" มักได้รับอยู่เป็นประจำ หลังจากเธอเลือกลาออกจากงานประจำ มองข้ามวุฒิการศึกษาดีกรีปริญญา พาตัวเองเข้าสู่อาชีพขับรถแท็กซี่ จนกลายเป็นที่สนใจของสังคมช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

“อาชีพอะไรที่มีอยู่หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องการ ฉะนั้นถ้าเราทำอย่างสุจริต พัฒนาการทำงานให้ดี มันก็อยู่ได้ อาชีพอะไรที่เลี้ยงตัวเองได้ก็ดีทั้งนั้น ไม่เห็นต้องอาย” เธอกล่าว

ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่เรียกร้องขอให้ขึ้นราคาค่าโดยสารเพื่อให้พอเพียงแก่การเลี้ยงชีพ เธอเองกลับแทบไม่ต้องวิ่งหาผู้โดยสารขาจร หากแต่มีคิวจองยาวข้ามสัปดาห์ โดยคิวแรกเริ่มต้นที่ตี 5 คิวที่ 2 ช่วง 07.30 น. ขณะที่คิวที่ 3 เวลา 10.00 น. หลังจากนั้น 3 ชั่วโมงจะว่างวิ่งรับผู้โดยสารขาจรในตัวเมือง ก่อนจะปิดท้ายด้วยคิวจองในช่วงก่อนเลิกขับเวลา 15.00 น. ขณะที่ในวันเสาร์ก็ยังมีนัดรับ-ส่งนักเรียนเพื่อไปเรียนพิเศษอีกด้วย

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

บริการดี "ปลดล็อค" แท็กซี่รายได้น้อย

“อาชีพแท็กซี่อยู่ได้ด้วยใจบริการเป็นสิ่งสำคัญ การขับรถที่สุภาพ ปลอดภัย ใส่ใจผู้โดยสาร ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการครั้งแรกกลับมาใช้บริการเราอีกครั้ง จนกลายเป็นลูกค้าประจำมีรายได้สม่ำเสมอ ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่เราขับจริงจังมาตลอดมันเป็นข้อพิสูจน์ได้” วรรณกวี กล่าวถึงปัจจัยที่เธอยึดตลอดเวลาที่มือทั้งสองข้างจับพวงมาลัยรถ

แต่กว่าที่วรรณกวีจะมาถึงจุดที่รายได้มั่นคง ก็ต้องลองผิดลองถูกและเจอกับปัญหาที่ทำให้ขาดทุนไปไม่น้อย ซึ่งอุปสรรคอย่างแรกสุดเลยคือ การไม่รู้จักเส้นทาง การหลงทาง และถูก GPS พาอ้อมจนโดนลูกค้าตำหนิ ฯลฯ

“วิ่งเปล่าจนน้ำมันหมดถังก็เคย เพราะหลงทางไปในที่ไกลๆ ไม่มีปั๊มแก๊ส ยิ่งเดือนแรกปรับตัวไม่ได้ขับแล้วป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ต่อมารถประสบอุบัติเหตุเสียค่าซ่อมเกือบครึ่งแสนเป็นหนี้ก้อนโต” วรรณกวีบอกความรู้สึกที่เกือบจะถอดใจ

“ถูกพูดใส่หน้าว่าล้มเหลว แต่เราไม่ยอมแพ้ แม่จะให้เลิกขับ แต่เราอยากสู้ต่อไป อยากพิสูจน์ว่าอาชีพนี้มันเลี้ยงตัวเราได้จริงๆ”

บทพิสูจน์ของเธอต่อมาคือ การขับอย่างต่อเนื่อง สะสมลูกค้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุดขับเช่น ไม่ปฏิเสธลูกค้าที่โทรให้ไปรับตอนตี 3 เพื่อไปส่งที่สนามบิน

“อาชีพนี้มันทำให้เรารู้ว่าต้องทำงานต่อเนื่อง และรักษามาตรฐานการบริการ ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญ เช่น สอบถามเส้นทางที่จะไปก่อนออกเดินทาง ขึ้นทางด่วนหรือไม่ แอร์เย็นหรือไม่ ต้องการให้ขับเร็วหรือขับช้า คนขับแท็กซี่ไม่ใช่แค่หน้าที่ขับรถอย่างเดียว เราต้องพาเขาไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ แต่มันไม่ได้มีแค่ปลายทาง ระว่างทางเราคุยเป็นเพื่อนผู้โดยสาร เรารับฟังปัญหาของเขา เมื่อถึงปลายทางแล้วมีอะไรที่เราช่วยเขาได้บ้าง เช่น ช่วยพยุงผู้โดยสารที่ใส่เฝือกลงจากรถ หรือช่วยถือข้าวของ เป็นอะไรที่เล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่าการซื้อใจ เพราะอาชีพขับแท็กซี่เป็นอาชีพบริการ ก็ต้องทำให้เขาประทับใจ”

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

วรรณกวีเสริมว่า ความสำคัญต่อมาคือการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง หมั่นศึกษาความรู้ที่จำเป็นต่อการขับรถ ทั้งเส้นทาง กฎหมาย และข่าวสารต่างๆ เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นปัจจัยในการประกอบอาชีพให้อยู่รอดในโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วทุกวัน

“ปัจจัยอื่นๆ อย่างรถหอม รถสะอาด คนขึ้นมาก็จะชม หรือเรื่องภาษา ตรงนี้ก็เป็นตัวช่วยที่จะทำให้รับผู้โดยสารต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น เราก็มีผู้โดยสารชาวไต้หวันท่านนึงเป็นลูกค้าประจำ เวลาบินมาทำงานที่เมืองไทยเขาก็จะโทรแจ้งจองตัวให้ไปรับส่ง หรืออย่างบางครั้งผู้โดยสารแวะทานข้าวก็จะให้เราไปนั่งทานด้วยกัน ทุกอย่างเริ่มจากความประทับใจครั้งแรกจนเกิดเป็นความไว้ใจ

“ผู้โดยสารแท็กซี่ต้องการไปถึงจุดหมายอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย ด้วยราคาที่รับได้และเวลาที่เร็วที่สุด ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่ายังมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้แท็กซี่เป็นประจำ ซึ่งถ้าเราปรับตัวให้ตรงกับโจทย์ลูกค้าได้ เราก็จะมีงานสม่ำเสมอ ต้องปรับแก้ที่ตัวเราก่อน ส่วนปัญหาอื่นๆ ของแท็กซี่ เราแก้เองไม่ได้ อย่างค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นๆ รถติด ฝนตก ต้นทุนรถสูง หรือเรื่องการขึ้นค่าโดยสาร ความเห็นส่วนตัวเราก็เห็นด้วยอยากให้ขึ้น เพราะที่ผ่านมาค่ามิเตอร์ไม่มีการปรับขึ้นมาหลายปี ทำให้รายรับกับรายจ่ายของแท็กซี่มันไม่สัมพันธ์กัน แต่การขึ้นราคามิเตอร์มันไม่ได้แก้ปัญหาอื่นๆ ได้ทั้งหมด มันต้องปรับอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน”

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

"Mindset" กำหนดเส้นทาง

“ทุกอาชีพใช้ความสามารถกันหมด” วรรณกวีกล่าวพร้อมกับบอกถึงมุมมองต่ออาชีพขับรถแท็กซี่นั้นต้องประกอบไปด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ที่ต้องดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร ต้องมีร่างกาย มีสติที่สมบูรณ์พร้อม มีสมาธิที่ดีและสามารถจดจำเส้นทางได้

“การที่คนสนใจเรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของMindset เพราะมองว่าการเรียนสูงต้องทำหน้าที่การงานสูงๆ ทำงานดีๆ ชีวิตจะแฮปปี้ เราผ่านมาไม่แฮปปี้เพราะร่างกายพัง เราก็ไปหามุมใหม่ๆ ของเรา เราขับรถคุณค่าเราก็ไม่ได้ลดลงไป งานมันก็ทำเงินได้ดีด้วย”

ซึ่ง ณ ตอนนี้รายได้ของการขับรถแท็กซี่จำนวนเวลา 10 ชั่วโมง มีรายได้ตกอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อเดือน และยังจัดสรรเวลาตามที่ต้องการได้อีกด้วย

“จะทำเงินตอนไหน อยู่กับครอบครัวตอนไหน ชีวิตเป็นของเราและเราควบคุมมันได้ มันอาจจะหนักกว่างานเก่า ทุกวันนี้ตื่นตี4 เข้าบ้าน 4 โมงเย็น ทำงานบ้านและทำฟรีแลนซ์เขียนละคร แต่เรามีความสุขกับมัน คือเราคิดเสมอว่าแบบชีวิตเป็นของเรา เราต้องเป็นคนเลือก

“และเราก็เชื่อมั่นศักยภาพของคนพัฒนาได้ตลอด อยู่ที่เราจะดึงมาใช้ในจังหวะตอนเวลาใด ไม่ว่าจะไปอยู่ตรงจุดไหนถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้ เราเป็นมืออาชีพในงานที่เราทำ เราก็พัฒนาชีวิตได้”

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

โจทย์ชีวิตต้องคิดและทบทวน

“ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งปรับตัวเร็ว” วรรณกวี อธิบายเรื่องของการค้นหาตัวตนและความสามารถที่ใช้ได้ทั้งในการขับรถแท็กซี่เองก็ดีหรือการนำไปสำรวจตัวเองเพื่อเป็นอิสระทางชีวิต

“คนเราต้องเรียนรู้ เราเดินทางมาถึงจุดๆ หนึ่ง ถ้าเกิดมันไปต่อไม่ได้ มีอุปสรรค เราก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวและเรียนรู้และหาช่องทางใหม่”

เธอบอกว่าการมองความจริงและย้อนทบทวนสิ่งที่กำลังทำอยู่เรารู้สึกอย่างไร และตัวเราเองเท่านั้นที่รู้ตัวเราว่าอะไรที่เหมาะกับตัวเรา

“หลายคนอาจจะมีความคิดที่ว่าไม่เลือกงานไม่ยากจน แต่สำหรับเรารู้สึกว่าควรเลือกงานที่มันตอบโจทย์ชีวิตของตัวเอง เลือกที่คุณสบายใจ ถ้าคุณทำงานประจำเงินได้เยอะ คุณโอเคกับมันก็อยู่ต่อ ทำแล้วไม่แฮปปี้ชีวิต เงิน งาน ก็ปรับเปลี่ยนหาวิธีอื่นมาลองใช้ คืออย่าอยู่กับที่และทำให้ดีที่สุด ถ้าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่คนอื่นคิดว่ามันไม่ดี ใครตัดสิน สูงหรือต่ำ”

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ

ขับอย่างไรให้ยอดจองคิวข้ามสัปดาห์? เปิดใจ "วรรณกวี อยู่วัฒนา" บัณฑิตสาวผู้เลือกขับแท็กซี่เลี้ยงชีพ