posttoday

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

14 กรกฎาคม 2562

ทำความรู้จัก “ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้นำเอาความเอ็นเตอร์เทนมาหลอมรวมกับการสอนวิชาภาษาอังกฤษ จนกลายเป็นหนึ่งในชั่วโมงเรียนในใจของเด็กๆ

ทำความรู้จัก “ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้นำเอาความเอ็นเตอร์เทนมาหลอมรวมกับการสอนวิชาภาษาอังกฤษ จนกลายเป็นหนึ่งในชั่วโมงเรียนในใจของเด็กๆ

*******************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

หนุ่มถักเปียสองข้างติดกิ๊บสีชมพูหวานแหวว ใบหน้าฉูดฉาดไปด้วยบรัชออนเหนือโหนกแก้ม ยืนพูดจีบปากจีบคอสอนเด็กนักเรียน กลายเป็นภาพที่ถูกแชร์และพูดถึงกระหึ่มของสังคมเมื่อไม่นานมานี้ และกระทั่งเดี๋ยวนี้ ‘ภาพ’ ดังกล่าวก็ยังคงเป็นคงอยู่อย่างที่ผ่านมา

มองในมุมผิวเผิน สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่รับคำชื่นชมด้านความสร้างสรรค์ของครูผู้สอนที่มอบให้เด็กนักเรียนคลายเครียด แต่เมื่อลึกลงไปความสุขค่อยๆทลายกำแพงการแอนตี้ภาษาอังกฤษที่ยากในใจลูกศิษย์ได้อยู่หมัด

“ครูธีรพงษ์ มีสัตย์” หรือ “ครูบอลลี่” ฉีกยิ้มกว้างทายทัก ก่อนจะกล่าวถึงความคืบหน้าของปรากฏการณ์ดังกล่าวที่ใครๆ ลือลั่นนั้น ดังก้าวข้ามเด็กไปไกลถึงระดับครูบาอาจารย์และผู้ปกครองพากันประทับใจและส่งเสริมไปแล้ว 

 

 

“หลังจากทุกคนๆ เห็นที่เราทำท่านผอ. ก็ชี้แนะสิ่งที่ควรไปปรับใช้ในการเรียนการสอนครั้งต่อไป ครูหลายท่านก็ให้กำลังใจ อยากให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ และก็ส่งอุปกรณ์การแต่งหน้ามาช่วยเหลือ เพื่อนๆ เราก็เหมือนกัน ก็รู้สึกขอบพระคุณทุกท่านที่เล็งเห็นความตั้งใจของเรา แต่มีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบ เขาก็อาจจะมองว่าไม่เหมาะสม เราไม่แคร์ในสิ่งที่มันไม่กระทบกับชีวิตเรา แต่เราแคร์สิ่งที่มันจะกระทบต่อชีวิตนักเรียนของเรา”

 

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

กำเนิดครูอังกฤษ ‘ที่รัก’

“ธีรพงษ์ มีสัตย์” หรือ “บอลลี่” เกิดและโตที่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ มีความชื่นชอบและถนัดการเรียนด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ  หลังจบการศึกษาในระดับอุมศึกษาจึงเลือกเรียนต่อที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสามารถสอบเข้าบรรจุได้ทันทีหลังจบ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ในตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษาประจำโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จ.ราชบุรี

“เด็กๆ เราไม่เก่งคณิต วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษแรกๆ เราก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่พอทุกครั้งที่เราตอบคำถามครูได้ท่านก็จะชม ก็เป็นกำลังใจให้เราเลือกเรียนทางสายนี้และอยากจะเป็นครูสอน”

ด้วยความชอบนำมาสู่ความรักการเรียนจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน นอกจากวิชาการครูบอลลี่ในสมัยเป็นนักศึกษาจึงเป็นนักกิจกรรมตัวยงที่คอยสันทนา โดยที่ไม่เคยรู้ว่าต่อมาในอนาคตจะได้นำทักษะเหล่านั้นมาใช้ช่วยให้เด็กรักและตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษ

“เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่คล่องภาษาอังกฤษหรือไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย เกิดจากการแอนตี้ในใจและคิดว่ามันยาก” เขาบอกต่อ “การนั่งสอนนักเรียนแต่ไวยกรณ์ตามรูปแบบหลักสูตร  ประสบผลสำเร็จในส่วนหนึ่งสำหรับเด็กที่สนใจ แต่ในสำหรับเด็กที่ไม่ได้มีความสนใจทางด้านภาษาอังกฤษจะทำอย่างไรให้เขามาชอบภาษาอังกฤษ ตรงนี้สำคัญกว่า”

ทำให้เด็กๆ มีความรู้สึกผ่อนคลายมีความสนุก และทำให้เด็กๆ อยากที่จะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป เป็นสิ่งแรกที่ผุดขึ้นในความคิด

“สิ่งแรกคือทำให้นักเรียนมาชอบคุณครูผู้สอน ทีนี้เราก็ตัดสินใจพยายามทำให้เด็กสนุกที่สุด เฮฮาที่สุด แล้วพอเด็กสนุกและเฮฮาก็เข้าทาง อยากจะเรียนหรืออยากจะอยู่กับเราไปตลอดทั้งคาบ”

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

ยอม 'แต่งหน้า' พิลึกสะกิดเด็กให้สนใจ

บทแรกของการทำให้นักเรียนรักเริ่มด้วยการใช้คำพูดตลกๆ ต่อมาผสมใส่แอคชั่นท่าทางฮาๆ ก่อนจะฟิวชั่นเข้ากับการสร้างเกมเล่นในห้อง รวมไปถึงการให้กิจกรรมเด็กๆ ร้องเพลง และที่พีคที่สุดคือการแต่งหน้าเป็น ‘ลำยอง’ ตัวละครดังยอดฮิต 

“การแต่งหน้าจริงๆ โรงเรียนจะมีวันสำคัญต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ได้ไปร่วมเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ทุกครั้งเรามีเวลาเหลือสำหรับการเปลี่ยนชุดล้างหน้าตาเพื่อไปสอน จนงานกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด วันที่ 26 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา มีการแต่งตัวแต่งหน้าร่วมขบวนเพื่อดึงความสนใจของผู้คนในชุมชนให้เห็นความสำคัญ หลังจากแต่งเสร็จกิจกรรมก็ต้องสอนต่อแต่ดูเวลาแล้วครั้งนี้ล้างหน้าไม่ทัน เปลี่ยนแต่เสื้อผ้าเพราะกลัวว่าเด็กจะเสียเวลาประโยชน์ที่รอ ก็เข้าสอนทั้งอย่างนั้น เด็กๆ ก็ฮือฮากันใหญ่”

จากห้องเรียนที่เงียบเหงาเปลี่ยนเป็นมีแต่ความสนุกสนานและเฮฮา แม้มีส่วนน้อยที่กลัวเพราะไม่คุ้นชินกับการแต่งตัวของครูในลัษณะนี้  แต่อย่างไรก็ตามความกลัวนั้นก็พุ่งเป้าให้เด็กเกิดการสนใจและมีความใจ

“พอเขาไม่ตกใจแล้วก็ส่งเสียงหัวเราะ ยิ้มกันทุกคน เห็นได้ชัดว่าเขามีความสุข เขาสนุกกับวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น ทีนี้พอเด็กเจอเราก็จะถาม ว่า “ครูสอนหนูวันไหนอีก” หรือ “ครูแต่หน้าตาแบบนี้อีกนะ” เพราะเจอกับพวกเขาอาทิตย์และ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเราก็ไม่ได้แต่งแบบนี้ทุกครั้งที่เข้าสอนเขา อย่างที่บอกว่าเราต้องการให้เขาสนุกและอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในคาบหน้าเพื่อให้เขาตั้งใจ  มันก็ทำให้เขาสนใจและตั้งใจในแต่ละคาบที่จะมาเรียน” เขายิ้มรับให้กับกำลังใจที่ส่งให้ก้าวต่อไปบนเส้นทางเหล่านี้

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

ทุกอย่างเต็มที่ ‘นิยามครู’ บอลลี่พลัง200

ความทุ่มเทและตั้งใจที่จะให้ลูกศิษย์ได้ผลลัพธ์ในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างมีความรู้และสนุกสนานเพื่อให้ทันความสนใจเด็กอยู่เสมอๆ  โดยเรือจ้างหนุ่มยังได้มีการนำมุขของนักแสดงตลกและพิธีกรในรายการบันเทิงมาใช้อีกด้วย

“เราติดตามไอดอลเราพี่มาดามมดและก็พี่ตุ๊กกี้ เราก็จะเอาความสนุกสนานและเฮฮาของเขา เก็บเอามุขการแสดงเขามาปรับใช้ให้เข้ากับการสอนของเรา”
ครูบอลลี่บอกต่อถึงเคล็ดลับส่วนตัวที่ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยในการทำเพื่อเด็กนักเรียนของตัวเองมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดยั่งซึ่งถือเป็นคติและนิยามสำหรับตัวเองว่าไม่มีอะไรมากแค่ใส่  “พลัง 200 เปอร์เซ็นต์” ในทุกอย่างที่ทำ

“สำคัญที่สุดคือพลัง คุณจะทำอะไรก็ตามคุณต้องให้สองร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในสองร้อยนั้นมันจะถูกหักล้างจากความเหนื่อยของคุณ ถูกหักล่างจากเวลาที่จำกัด อย่างการเป็นครูอาจจะบวกเพิ่มเรื่องความเขินอายจากนักเรียน หักล้างจากอายตัวครูเอง สิ่งที่หักไปนั้นเด็กก็จะได้รับร้อยเปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งมันเป็นกำไรทั้งต่อเราและเขาที่จะได้รับ

“เราก็เลยรู้สึกว่าไม่แคร์ แม้ว่าบางคนบอกการกระทำแบบนี้ไม่เหมาะสมหรือไม่เหมาะกับจรรยาบรรณการเป็นครู ซึ่งเรายอมรับฟังในจุดๆ นั้น เรายอมรับทุกความคิดเห็น แต่สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญคือสิทธิและสิ่งที่เด็กนักเรียนเราจะได้ มันคืออนาคตของเขา ฉะนั้นเราต้องขอใช้คำว่าไม่แคร์ เราไม่แคร์ในสิ่งที่มันไม่กระทบกับชีวิตเรา แต่เราแคร์สิ่งที่มันจะผลกระทบต่อชีวิตนักเรียนของเรา”

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

ความชอบดัน ความรักเสริม

ปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในตำหราหนังสือเท่านั้น เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลของโลก เกมออนไลน์หรือเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ที่เด็กๆ นิยมใช้เวลา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรปิดหรือกั้นสั่งห้าม

“ผู้ปกครองบางคนอาจจะนึกว่าเด็กอยู่ที่บ้านเล่นแต่เกมหรือโทรศัพท์ แต่สมัยนี้ปัจจุบันบางเกมมีการออนไลน์กันทั่วโลก เขาก็ได้ในเรื่องของสื่อสาร เขาได้คุยกับชาวต่างชาติ ซึ่งนั้นเป็นจุดดีที่มาจากการเล่นของเขา เพราะว่าภาษาอังกฤษส่วนใหญ่มาจากอินเตอร์เน็ตทั้งนั้น ที่เจอมาบางประโยคที่เพื่อนเขาไม่สามารถตอบได้ เขาตอบได้ เขาบอกว่าเขาคุยกันในเกม”

แต่จะเล่นมากไปย่อมเกิดผลเสียที่มากกว่าดี ซึ่งเพื่อประโยชน์ที่ดีแก่ตัวเด็กครูบอลลี่แนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องแบ่งเวลาให้เด็กๆ อย่างเหมาะสม เช่น ฝึกให้ทำงานบ้าน ฝึกให้ได้รับกิจจกรรมที่ต้องรับผิดชอบของตัวเองเสร็จแล้ว ผู้ปกครองให้รางวัลเขาโดยการให้เล่นเกมหรือโทรศัทพ์ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

“ต้องมีการแลกกัน มีความบาลานซ์ อันนี้คือสิ่งที่เราบอกประจำกับนักเรียน ‘ใจแลกใจ’ ถ้านักเรียนจ่ายครูด้วยความตั้งใจ สิ่งที่เราจะให้ไปคือความสนุก ความรู้ รางวัล แต่เมื่อจ่ายด้วยความซน การเสียงดัง และไม่ตั้งใจ สิ่งทีจะให้คือการดุ การว่ากล่าวและความซีเรียสในคาบนั้น ก็จะทำให้เขาตระหนักและพึงระลึกทั้ง 2 มุม”

ครูภาษาอังกฤษผู้เป็นที่รักของเด็กๆ อย่างครูบอลลี่กล่าวทิ้งท้ายในส่วนที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การสนับสนุน อย่างลูกชอบเล่นเกมก็แนะนำให้เขาดูเกมที่เป็นหลักในการใช้ภาษาอังกฤษในการเล่นและสื่อสาร ขณะเดียวกันหากลูกชอบเล่นโทรศัพท์ดูคลิปก็แนะนำดูรีวิวจากต่างประเทศ เด็กๆ ก็จะเกิดความตั้งใจและได้ภาษามากยิ่งขึ้น

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ

“ครูบอลลี่-ธีรพงษ์ มีสัตย์” เรือจ้างผู้ซื้อใจเด็กนักเรียนให้สนใจภาษาอังกฤษ