posttoday

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

11 เมษายน 2562

เปิดเส้นทางชีวิต “รปภ.ยอดนักสู้” อดีตวัยรุ่นบ้านนอกผู้พลิกคำดูถูกเป็นแรงผลักดัน ฝ่าอุปสรรคมุ่งมั่นทำงานไม่หยุดพัก จนมีบ้าน-รถ แถมเมื่อชีวิตดีขึ้นยังเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมทั่วประเทศ

เปิดเส้นทางชีวิต “รปภ.ยอดนักสู้” อดีตวัยรุ่นบ้านนอกผู้พลิกคำดูถูกเป็นแรงผลักดัน ฝ่าอุปสรรคมุ่งมั่นทำงานไม่หยุดพัก จนมีบ้าน-รถ แถมเมื่อชีวิตดีขึ้นยังเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมทั่วประเทศ

************************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

จากเด็กชนบทบ้านแตกจบม.3 ออกจากโรงเรียนช่วยแม่เลี้ยงน้องออทิสติก ทำงานรับจ้างเก็บเงิน “ซื้อบ้าน” หลังล้านกว่าในกรุงเทพฯ พอว่างๆ เว้นงานรปภ.ยามเฝ้าหมู่บ้าน ขับ ‘รถกระบะ’ ไปเป็นจิตอาสาทำความดีทั่วประเทศ

“นิวัตร์ ศรศรี” คนหนุ่มวัย 26 จากบ้านหนองบุญมาก จ.นครราชสีมา คือใครคนนั้นที่เรากล่าวถึงในเรื่องดังกล่าว เพราะยอมรับว่าเป็นต้นทางที่ทำให้เราไปทำความรู้จักหลังถูกแชร์เป็นกระแสยกย่องชื่นชมในโลกโซเชียล

ยามเงินล้าน ยามผู้พลิกคำดูถูกจนมีบ้าน ฯลฯ และอีกหลายคำทำให้รู้จักเขา แต่ว่ากันก็ว่าเถอะ เถ้าแก่ใหญ่คนร่ำรวยต่างเสื่อผืนและหมอนใบ จะดูนิวัตร์ยอดยามในเวลานี้ในความสำเร็จก็ต้องดูที่ ‘จุดเริ่มต้น’  

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

เกินกว่าฟ้าไม่ใหญ่เท่า ‘ใจ’

นิวัตร์ ศรศรี เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จัดเป็นเด็กเขตบางพลัด ในช่วงแรกมีคืนวันในครอบครัวระดับหาเช้ากินค่ำแต่ไม่อดยากมากนัก กระทั่งหนุ่มโรงงานอย่างพ่อได้เลิกลาจากแม่ที่ทำอาชีพรับจ้าง ในช่วงป.6 อ๊อฟจึงต้องโยกย้ายกลายเป็นบักอ๊อฟหนุ่มบ้านหนองบุญมาก จ.นครราชสีมา พื้นที่ทุรกันดารมาโดยปริยาทั้งชื่อและชีวิต

“พอแม่เลิกกับพ่อก็เอาผมกับน้องไปอยู่บ้านที่โคราช อ.หนองบุญนาก ลำบากมากชีวิต ดูแค่พื้นที่เกือบหลุดถึงเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ก็ไม่ต้องพูดอะไรแล้ว ในตอนนั้นแม่ก็ต้องทำงานรับจ้างปลูกมัน รับจ้างไถรุ่นมัน ส่งผมเรียนหนังสือและไหนยังต้องรักษาน้องที่ป่วยเป็นโรคออทิสติกและลมชักตั้งแต่เกิด ก็อดมื้อกินมื้อตามประสา”

และ “ตามยถา” ลูกชายคนโตไม่ใช่แค่ลูกโทนแต่ต้องทำหน้าที่เสมือนร่างเงาแทนพ่อ อายุ 15 จึงได้เลือกลาออกจากโรงเรียนมุ่งสู่ถนนชีวิตการทำงานเต็มตัว

“คนแถวบ้านเขาก็คอยพูดว่าไม่รู้จักหาทำงานการโตจะเป็นควาย แต่ก็ไม่คิดอะไรมาก แต่พอเกิดเหตุการณ์วันหนึ่งวันนั้นน้องชักหนักมาก 5 ทุ่ม ต้องตีรถด่วนเพื่อมาเอาตัวยาจากโรงพยาบาลศิริราชเจ้าของไข้โดยตรงเพื่อให้กินแล้วไม่มีอาการชัก ก็เลยต้องเลือกทำงาน ไม่ได้เรียนต่อ”

ค่าจ้าง 150 บาทตามรอยแม่ดันครอบครัวให้เกิดสภาพการเงินที่คล่องขึ้น แต่ก็แค่แรกๆ หลังๆ พอโตขึ้นเป็นวัยรุ่นก็เทงานหนีไปเที่ยวกับเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ มาเข้าที่เข้าทางได้ก็จากไม้เรียวตบให้กลับทำงาน พูดไปแล้วก็เหมือนกับราวฟ้าสั่งให้ชิมลางความอดทนทั้งจากการเป็นยามที่ภายหลังเป็นอาชีพที่ทำให้เขามีวันนี้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเอง และอีกสิ่งหนึ่งนั้นก็คือการเป็น ‘ทหาร’ หาญฝึกจิตใจในแบบที่ลูกผู้ชายเสาหลักของบ้านควรจะเป็น

“ทำงานได้ 5 ปี จาก 15 ออกโรงเรียน พอ 20 ก็ขึ้นมาจับใบดำกับใบแดงที่เขตบางพลัด ปรากฏว่าโดน ไปประจำค่ายที่หัวหิน เศร้ามากร้องไห้ 3 เดือนไม่มีใครมาเยี่ยม แต่หลังจากนั้นการฝึกระเบียบวินัย ต้องรักษาปืน ไม่หลับเวร เฝ้าเวรยามมันแบบทำให้ลูกผู้ชายมากขึ้น กลับไปบ้านไปเจอแม่ แม่บอกว่าเปลี่ยนไป มีจุดมุ่งหมาย มีเป้าหมายขึ้น”

นิวัตร์ไม่เพียงมั่วแต่แอบดีใจแต่เร่งเดินหน้าปรับตัวบุหรี่ก็เลิกสูบและพักได้เพียง 2 อาทิตย์จากปลดทหารให้คลายล้าก็ออกเร่งสมัครงานในตำแหน่งยามทันที โดยเหตุผลที่เลือกอาชีพรักษาความปลอดภัยนั้น เขาให้เหตุผลว่าชั่วโมงนั้นต่อยอดจากทหารได้ง่ายสุดและมีค่าแรงที่สูงถึง 400 กว่าบาท

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

“แต่ก็ลำบากมากช่วงแรกยอมรับเลย เพราะเราไม่มีอะไรเลย มีแต่ตัวเปล่า ไปทำงานก็ต้องเดินเอา เดินจากห้องพักไปป้ายรถเมล์ปิ่นเกล้า คราวๆ ร่วม 8 กิโลเมตรต่อวันทั้งขาไป-ขากลับ เหนื่อยมาก ยอมรับเลยว่ามีท้อ”

แต่ทุกครั้งที่ท้อเขาจะได้รับกำลังจากแม่เสมอสิ่งนี้ทำให้ลุกตื่นสู้ และพยุงเขาให้เชื่อมั่นในทางสายนี้ ทางที่แม่ต้องสบายอันดับแรกแม้ว่าจะยากแค่ไหน  

“แม่ยังทำไหว แม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่แม่เริ่มตาฝ้าฟางมองอะไรไม่ค่อยเห็นแล้ว ส่วนน้องก็อาการทรงเดิมคงรักษาต่อเรื่อยๆ แต่เวลาโทรไปร้องไห้เขาปลอบตลอด เราก็หยุดทำไม่ได้ ไม่สบายก็ไปทำงาน ผมไม่หยุดไม่ไปหาหมอเพราะถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครให้เงินเราใช้ ถ้าไม่ทำยอดรายได้ก็หาย นอนห้องเช่าตื่นมาก็มีค่าตัว ทำไปมันก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย ก็เลยคิดได้ว่าหากมันเป็นอุปสรรค มันก็เป็นอุปสรรค แต่ถ้าเราไม่คิดว่าเป็นอุปสรรคมันก็ไม่เป็น ชีวิตมันก็ง่ายๆ อย่างนั้น

“คือถ้ามัวท้อทำไมชีวิตถึงลำบาก มันไม่ใช่เพราะฟ้า แต่เป็นความคิด เป็นตัวเรา”

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

ดูถูก! ก็ใช้หยิบมาใช้ซะ

สู้ด้วยกายและพลังใจแง่บวกอาจจะขยับชีวิตได้ช้า แต่มันก็เหมือนกาลเวลาที่วัดค่าชีวิตว่าจะหนักมั่นคงแค่ไหน ขวากหนามก็ดั่งเนื้อยาชั้นดีที่เคี่ยวกรำให้ทุกคนแข็งแกร่ง นิวัตร์เองก็เช่นกันในโมงยามดีๆ ก็มีเรื่องร้ายๆ โดยเฉพาะการทำงานดูแลความปลอดภัยถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ

“วันนั้นมันมีเหตุการณ์หมู่บ้านหนึ่งประจำจุด ลูกบ้านเข้ามา “เฮ้ย...เปิดประตูหน่อย” เขาหาว่าเปิดช้า และก็ด่าสวนทันที “มึงก็เป็นได้แค่ยามล่ะว่ะ” ผมก็ได้แต่ตอบว่าครับๆ” นิวัตร์เผยความรู้สึก

ค้นลงไปหลังคำดูถูก พบมีทั้งหยามเหยียด หมิ่นศักดิ์ศรี สบประมาท ฯลฯ

“คนอื่นอาจจะอารมณ์ร้อนต่อยเลย แต่ทีนี้พอทำไปแล้วเหมือนฆ่าตัวตายถ้าทะเลาะกับลูกบ้าน ก็ได้แต่เก็บเอาไว้ในใจเพราะส่วนตัวเป็นคนเรียบๆ ง่ายๆ ไม่คิดเยอะ พอนานเข้าก็คิดซะว่าคำด่าเหมือนคำฟรีสไตล์อะไรก็ได้ มองแง่ดีอาจจะเป็นคำติเพื่อแก้ จริงไหมหรือไม่จริง ด่าจะอะไรก็ตามแต่ เราก็กลับมามองย้อนตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ปัดมันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ปรับเปลี่ยน”

โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธไม่โง่ ไม่โมโหไม่บ้า นิวัตร์เลือกและใช้สติในการนำใจใช้ชีวิตให้ดีขึ้นจากตรงนี้ ชีวิตก็ค่อยพลิกให้สำรวจตัวเอง

‘เข้านอน’ โพสต์เฟซบุ๊กทุกคืนเตือนสติ “สักวันหนึ่งต้องเป็นของเรา” คือตั้งเป้าตัวเองในทุกวัน และหมุดหมายความท้าทายที่ซุกซ่อนอยู่ในนัยยะคำนั้นทำเขาลุกขึ้นมาปรับตัวแบบก้าวกระโดด

‘ตื่นนอน’ หุงข้าวใส่ถุงหิ้วแกง1 ถุง ควบ 2มื้อ ออกตะลุยควงเวรไม่หยุด 7 วัน ไม่มีคำว่าพักงานนาน 1-2 ปี เพื่อรับโบนัสแรงเพิ่ม โอทีไม่มีปฏิเสธ แถมใครขาดหรือลายังอาสาจัดเก็บดูแลความปลอดภัย โดยสถิติสูงสุดที่เขานั้นเคยทำสูงถึง 60 ชั่วโมง จากค่าแรง 400 กว่าบาทต่อวัน รวมเงินพิเศษที่ได้ พอค่าแรงปรับขึ้น รายได้ต่อวันจึงค่อยๆ เป็น 500 บาท และ 600 บาท

“คนเรามีเป้าหมาย มีสิ่งที่ต้องทำ ทีนี้ก็มีใจ หากใจไม่กล้ามันจะพิชิตได้ยังไง แพ้ตลอด ไม่คิดกล้าทำเราไม่มีผลสำเร็จอะไรเลย”

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

ถ้าถอดใจตอนนี้ ‘ที่ผ่านมา’ จะมีค่าอะไร

นับจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ในอาชีพการงานรปภ.รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ในชีวิตนิวัตร์ทุกๆ อย่างก้าวค่อยๆ อย่างที่บอกกล่าวมา มองเสมือนดังยอดภูผาที่เติบโตให้ตัวเขาใกล้ชั้นบรรยากาศจนเอื้อมหยิบดาวที่ว่า ‘บ้าน’ ราคาหลักล้านมาครองสำเร็จก่อนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

และนอกจากนี้เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมายังมีรถกระบะแถมพ่วงท้ายมาด้วยอีก 1 คัน เป็นเครื่องการันตรีความสำเร็จที่ว่านี้ ท่ามกลางคำถามของหลายคนๆ ที่เฝ้าถามว่ากล้าได้อย่างไร?

“ถ้าถอดใจตอนนี้ ที่ผ่านมาจะมีค่าอะไร” รปภ.หนุ่มเปิดเผยคติประจำใจที่เป็นแก่นทั้งหมดของชีวิต ซึ่งได้มาจาก “ปรเมศร์ มีสมภพ” ทหารอากาศจิตอาสาเจ้าของรางวัลพระราชทานประชาบดี ที่เป็นพี่น้องร่วมจิตอาสากันมานับ 10 ปี

“ไม่มีพี่เขาก็ไม่มีผมในวันนี้ เขาคือแรงบันดาลใจให้มีวันนี้ เพราะคำคมของเขาคือคติประจำใจที่ยึดมาจนมามีวันนี้ และเขาก็จะคอยบอกเสมอว่าถ้ามีบ้านชีวิตผมจะดีขึ้นมาก เขาก็เหมือนพอบอกแล้วคอยดูเราอยู่ห่างๆ เราก็ลองกู้แบงค์เลย ได้บ้านมาเปล่าๆ โล่งๆ ที่ไม่ใช่ความฝันมันเกิดขึ้นจริง”

จริงโดยไม่ต้องพึ่งลิขิตฟ้าเสี่ยงโชคชะตากับหวย แต่เลือกเชื่อในศรัทธาของตัวเองที่จะทำ ‘คำว่าโชค’ หรือ ‘ความเสี่ยง’ ในนิยามของนิวัตร์จึงค่อนข้างแตกต่างไปจากคนอื่นๆ โดยสิ้นเชิง

“จริงอยู่ที่มันเสี่ยง แต่มันเป็นความเสี่ยงที่เราภูมิใจ” เขาบอก

“แต่สักวันหนึ่งมันจะเป็นวันของเรา ถึงมันจะเป็นหนี้ก็เป็นหนี้ที่เราสร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ก็อยากให้คนที่เป็นแบบเราให้ฮึดสู้อย่าท้อแท้ อนาคตเราอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ถ้าเราคิดทำมันยังไงเราก็ทำได้ ถ้าถอดใจตอนนี้ ที่ผ่านมาจะมีค่าอะไรก็ยืนยันคำเดิม”

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

ค่าของคนอยู่ที่การกระทำ

แม้จะมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างไรก็ตามชีวิตของการเป็น ‘จิตอาสา’ ออกช่วยเหลือยังคงดำเนินคู่ขนานอยู่ตลอดเวลาตามปกติ

“ล่าสุดได้ไปช่วยเหลือเด็กๆ ที่ยากไร้ที่ สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ก็อาจจะมีคนสงสัยถามว่าชีวิตหนักอยู่แล้วทำไปเพื่ออะไร ผมคงพูดให้เข้าใจยาก แต่ทุกครั้งที่ได้ทำสิ่งที่ดี ได้เห็นรอยยิ้มจากคนที่กำลังทุกข์แล้วเขาลุกขึ้นมาใช้ชีวิตได้ มันรู้สึกดีใจ ตื้นตันใจ มันอิ่ม”

“ทำดีแม้ไม่มีคนรู้ ปิดทองหลังพระ” เขาบอกความรู้สึกเป็นแบบนั้น แบบที่เห็นได้จากคนดีๆ ทำเรื่องดีๆ แล้วเราพบเจอ เราเกิดความนับถือเขาโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ว่าคนๆ นั้น จะเป็นใคร สูง-ต่ำ ดำ-ขาว จน-รวย แต่เราพร้อมยกเป็น ‘ฮีโร่’

“ผมก็จะทำหน้าที่นี้จนกว่าจะหมดแรง แบบเป็นยามมีคนบอกว่ารถก็มีแล้วทำไมถึงไม่เปลี่ยนอาชีพ ไปขับรถรายได้ดีกว่านะ แต่การเป็นยามมันมีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและคนอื่นๆ มากกว่าเงินที่ได้ด้วย ทั้งหมดมันก็เท่านั้น เป้าหมาย ความคิดดี กำลังใจ ไม่หยุดฝัน และทำดีพี่เมศทำให้เชื่อในความดี ปิดทองหลังพระ แล้ววันหนึ่งมันก็ดีเอง เรื่องของผมก็มีเท่านี้ที่เกิดการแชร์ไม่ใช่การอวดรวย พี่เขานำเสนอเพราะต้องการให้คนฮึดสู้มีกำลัง ผมก็ถ่ายทอดได้เพียงเท่านี้ (ยิ้ม)

“ก็อยากให้คนที่ท้ออยู่ฮึดสู้ ทุกคนเท่ากันหมด มีหน้าที่ มีศักดิ์ศรี ไม่มีอะไรที่แตกต่าง แต่อยู่ที่เราทำมัน”

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก

"ขยัน-อดทน-มุ่งมั่น" ชีวิตกำหนดได้! "นิวัตร์ ศรศรี" รปภ.เงินล้านผู้มาจากคำดูถูก