posttoday

จากเด็กเลี้ยงวัว...สู่ดร.ทางรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

20 มีนาคม 2562

ดร.เทอดพงศ์ นราทิพย์ จากเด็กเลี้ยงวัวที่ไม่เคยคิดเรียนแว๊นซิ่งประจำหมู่บ้าน ประสบอุบัติเหตุจนต้องผ่าตัดสมองสู่ความสำเร็จสูงสุดในชีวิตการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ สาขาวิขารัฐศาสตร์

ดร.เทอดพงศ์ นราทิพย์ จากเด็กเลี้ยงวัวที่ไม่เคยคิดเรียนแว๊นซิ่งประจำหมู่บ้าน ประสบอุบัติเหตุจนต้องผ่าตัดสมองสู่ความสำเร็จสูงสุดในชีวิตการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ สาขาวิขารัฐศาสตร์

*****************

โดยอมรเดช ชูสุวรรณ

มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดให้มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2560-2561 ระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม 2562 ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหง

จากเด็กเลี้ยงวัว...สู่ดร.ทางรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

หนึ่งในความภาคภูมิใจของบรรดาเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ นั้นก็คือ เทอดพงศ์ นราทิพย์ ตำแหน่ง"หัวหน้าหน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ คณะรัฐศาสตร์"เข้ารับพระราชทาน"ปริญญาเอก" ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ สาขาวิขารัฐศาสตร์

หัวหน้าหน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ คณะรัฐศาสตร์ หรือ ดร.เทอดพงศ์ มีประวัติชีวิตที่น่าสนใจ สมควรที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาควรเอาเป็นแบบอย่างของการใฝ่รู้ และความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นเพื่อให้เป็นผู้สำเร็จด้านการศึกษา

จากเด็กเลี้ยงวัว...สู่ดร.ทางรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

ดร.เทอดพงศ์ เปิดใจกับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ ก่อนก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตว่า เขาถือถือกำเนิดในครอบครัวข้าราชการครู (คุณพ่อ คุณแม่ เป็นครู) คุณตา เป็นกำนันตำบลท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่บ้านมีวัวอยู่หลายสิบตัว เขาจึงเป็นเด็กชอบเลี้ยงวัว ของตัวของดร.ทอดพงศ์เองไม่คิดจะเรียนหนังสือ

"ผมจะออกจากโรงเรียนตั้งแต่จบชั้น ป.6 คุณพ่อคุณแม่ก็รั้งเอาไว้ พอจบชั้น ม.3 ก็จะออกจากโรงเรียนอีก คุณพ่อคุณแม่ก็รั้งเอาไว้อีก เลยมาเรียนต่อระดับ ปวช. (ช่างไฟฟ้ากำลัง) ขณะนั้นก็ยังเลี้ยงวัวอยู่ และช่วงเวลาก็เป็นขาซิ่งประจำหมู่บ้านชอบแว้นซิ่งมอเตอร์ไซด์แข่งกับเพื่อน จนเกิดประสบอุบัติเหตุชนกับวัว จนวัวตายคาที ตัวผมเองก็ต้องผ่าตัดสมอง เมื่อปี 2536" ดร.เทอดพงศ์ ย้อนเรื่องราวความหลัง"

ขณะเรียน ปวช. 2 หลังจากออกจากโรงพยาบาล ซึ่งอาการยังไม่ปกตินัก บังเอิญได้มีเพื่อนๆในกลุ่มที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ประถมคอยประคับประคองและเป็นกำลังใจ จนเรียนจบ ปวช. 3 ก็คิดจะไม่เรียนต่ออีก คุณพ่อคุณแม่ก็คะยั้นคะยอให้เรียนต่อ จึงได้เรียนต่อระดับ ปวส. (ช่างไฟฟ้ากำลัง) ขณะนั้นก็ยังเลี้ยงวัวอยู่ จนจบ ปวส.จึงขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่มาทำงาน และได้ทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่บริษัทแห่งหนึ่ง

คุณพ่อคุณแม่ก็ขอให้ออกมาเรียนต่อ จึงได้มาเรียนต่อระดับปริญญาตรี เทคโนโลยีอุตสาหกรรม (การผลิต) ได้เจอเพื่อนฝูงคอยเอาใจใส่ดูแลกัน ขณะนั้นกับเพื่อนเก่าสมัยประถมก็ยังติดต่อกันอยู่ พอเรียนจบปริญญาตรีก็ได้ไปทำงานที่อุทยานแห่งชาติได้อยู่ประมาณ 2 ปี ก็ออกมาเป็นผู้ติดตามนักการเมืองท้องถิ่น

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากคนปักษ์ใต้มักบ่มเพาะความคิดเรียนให้กับลูกหลานเสมอ

จากเด็กเลี้ยงวัว...สู่ดร.ทางรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

จวบจนวันหนึ่ง ได้เข้าทำงาน ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปรียบเสมือนได้มา"รับใช้พ่อขุนราม" ได้มาเจอเพื่อนร่วมงานที่ดี ชวนกันเรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา และจู่ๆก็เหมือนมีอะไรดลใจให้สมัครเรียนระดับปริญญาเอก

"ผมได้รับความไว้วางใจและสนับสนุนจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และได้รับความเมตตาจากคณาจารย์ทุกๆท่าน ขณะกำลังศึกษาปริญญาเอก ก็ได้เกิดแรงบันดาลใจ และชอบบรรยากาศการศึกษาในห้องเรียนจึงได้มาลงเรียนปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์สาขาการปกครองอีก 1 ใบ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก" ดร.เทอดพงศ์ กล่าว 

ดร.เทอดพงศ์ ทิ้งท้ายว่า การมุ่งนานะเรียนจนจบการศึกษาขั้นสูงสุด นอกจากการทำเพื่อตัวเองแล้ว ส่วนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ คือการได้ทำเพื่อองค์กรและครอบครัวที่เขารัก และขอบคุณมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยตลาดวิชาเพื่อประชาชน เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง ตามปรัญชาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งบัณฑิตที่จบออกไปจะรำลึกเอาไว้เสมอว่า"ไม่มีรามไม่มีเรา"