posttoday

1 ปีพลิกวิกฤต!! จากใกล้ล้มละลายสู่โรงพยาบาลดิจิทัล

10 กุมภาพันธ์ 2562

จากภาวะขาดสภาคล่องอย่างรุนแรงของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก็ได้ถูกพลิกฟื้นอย่างจริงจังด้วยฝีมือของผู้อำนวยการคนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งในปี2559

จากภาวะขาดสภาคล่องอย่างรุนแรงของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก็ได้ถูกพลิกฟื้นอย่างจริงจังด้วยฝีมือของผู้อำนวยการคนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งในปี2559

************************

โดย...ปิยะรัชต์ จงเจริญ

ย้อนกลับไปมองถึงสถานะที่เงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สินติดลบ 5 ล้านบาท เรียกว่าอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โครงสร้างพื้นฐานชำรุดทรุดโทรม เครื่องมือเก่าชำรุด และขาดเครื่องมือแพทย์ บุคลากรขาดไฟในการทำงาน ประชาชนในพื้นที่ไม่ศรัทธา นั่นคือจุดที่ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เข้ามารับตำแหน่งใหม่ เมื่อเดือน ก.ย. 2559

หากเป็นธุรกิจ สถานะดังกล่าวก็ใกล้ที่จะล้มละลายต้องปิดกิจการอยู่เต็มที สถานะดังกล่าวสำหรับโรงพยาบาลของรัฐถือเป็นภาวะขาดสภาพคล่องสูงสุด หรือระดับ 7

แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี สถานะของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยก็พลิกฟื้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ

นพ.ประวัติ บอกว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของปัญหา คือประชาชนในพื้นที่ไม่ศรัทธา ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายการบริหารเพื่อทำให้โรงพยาบาลเดินหน้าต่อไปได้

“แนวทางสำคัญของการแก้ปัญหา คือทำอย่างไรให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่ม นั่นหมายถึงรายได้จากผู้เข้ารับบริการ โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อโรงพยาบาลก่อน ด้วยการระดมทุนร่วมกับชุมชน เพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนาโรงพยาบาล ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น สภาพภูมิทัศน์ ส่งผลให้มีประชาชนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ในจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งหมด 70% เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จุดแรกของการปรับระบบการบริหารคือการอุดช่องว่าง เช่น การบันทึก เบิกจ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการต่างๆ เพื่อทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละประมาณ 30 ล้านบาท แต่การจัดระบบการทำข้อมูลเลิกจ่ายใหม่อย่างรัดกุมทำให้ได้งบประมาณใหม่มาปีละ 49 ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้รับปีละประมาณ 30 ล้านบาท

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้นำกลับมาพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อการบริการอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เป็นการดูแลคนในชุมชนเอง รวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตบุคลากรของโรงพยาบาลในการปฏิบัติงานจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น

“จากความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ผลดีที่เกิดขึ้นไม่ได้ตกกับเฉพาะกับโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรงในฐานะผู้รับบริการ ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับการรักษายังโรงพยาบาลนอกพื้นที่ ได้รับบริการจากโรงพยาบาลที่ได้รับคำชมว่า ดูหรูทันสมัย การรักษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการในรูปแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้รับเสียงชื่นชม มีการตอบรับที่ดีจากชาวบ้านในพื้นที่ ถือเป็นกำลังใจที่ดีในการพัฒนาโรงพยาบาลให้ก้าวหน้าต่อไป” นพ.ประวัติ กล่าว

1 ปีพลิกวิกฤต!! จากใกล้ล้มละลายสู่โรงพยาบาลดิจิทัล นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ

ล่าสุด โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยได้พัฒนาศักยภาพโดยใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัล สู่สมาร์ทฮอสปิทัล (Smart Hospital) นำเทคโนโลยีมาพัฒนาทั้งการนัดหมายผู้ป่วยลงทะเบียนตรวจล่วงหน้า คิวการตรวจ การจ่ายยา จัดส่งยาผู้ป่วยถึงบ้าน และการเชื่อมโยงข้อมูลแผนการรักษาผู้ป่วย ลดความจำเป็นการมาโรงพยาบาล รวมถึงการส่งข้อมูลการรักษาต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ และเตรียมพัฒนาสู่ Digital Hospital แห่งแรกของประเทศ

เบ็ญจา ใจสบาย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย กล่าวว่า โรงพยาบาลมีการปรับในหลายๆ ด้าน เป็น Smart Hospital ยุค Digital เวลาคนไข้เข้ามาใช้บริการ จะมีการนัดระบบคิวล่วงหน้าไม่ต้องยื่นบัตร ไม่ต้องรอนาน ลดความแออัด คนไข้ก็ชอบโรงพยาบาลมีความสะอาด น่าอยู่ บริการดี สิ่งแวดล้อมดี ในส่วนของเจ้าหน้าที่มีการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย มีพฤติกรรมบริการที่ดีขึ้น ไม่มีข้อร้องเรียนในเรื่องพฤติกรรมบริการ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี และเจ้าหน้าที่มีความสุข

1 ปีพลิกวิกฤต!! จากใกล้ล้มละลายสู่โรงพยาบาลดิจิทัล

ด้าน นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย กล่าวว่า โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยนับเป็นต้นแบบของหน่วยบริการในการพัฒนางานด้านต่างๆ รวมถึงการจัดรูปแบบบริการ ไม่พียงแต่นำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับโรงพยาบาล จนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของโรงพยาบาลได้สำเร็จ ยังช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น

“จุดที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง คือมุมมองการบริหารที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและผู้ป่วยสิทธิบัตรทองของผู้บริหาร การทำความเข้าใจในระเบียบ กฎเกณฑ์ และวิธีการเบิกจ่าย งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงกองทุนสุขภาพอื่นๆ นำมาสู่การปฏิรูปครั้งสำคัญเพื่อสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาล เน้นการสร้างความศรัทธา เชื่อมั่นทั้งในด้านคุณภาพและบริการของคนในชุมชน มีการจัดบริการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อรองรับ ทำให้เกิดการเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น ทั้งผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เห็นผลสำเร็จใน 1 ปี และกลายเป็นโรงพยาบาลที่มีรายได้เพิ่มขึ้น จากที่เคยประสบภาวะวิกฤตการเงิน” รองเลขาธิการ สปสช. สรุปถึงความสำเร็จในการพลิกฟื้นจากวิกฤตของโรงพยาบาลแห่งนี้

ขณะที่ประชาชนที่มาใช้บริการต่างประทับใจและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นโรงพยาบาลที่สวย สะอาด ทันสมัย ให้การรักษาดี เจ้าหน้าที่คอยให้การบริการอย่างดีและใส่ใจผู้ป่วย เทียบได้กับโรงพยาบาลเอกชนเลยทีเดียว และบริเวณโดยรอบก็ยังร่มรื่นอีกด้วย พร้อมกล่าวชื่นชมผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลทุกคนที่ทำให้โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านกลายเป็นโรงพยาบาลในฝัน และอยากเห็นโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งเป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน