posttoday

เปลี่ยนโทษ "จ่ายค่าปรับ" เป็นบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน

18 พฤศจิกายน 2561

"ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน" โครงการรณรงค์จากอาจารย์และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. เพื่อให้บุคคลที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับตามคำพิพากษาสามารถบำเพ็ญประโยชน์แทนโดยไม่ต้องถูกกักขัง

"ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน" โครงการรณรงค์จากอาจารย์และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. เพื่อให้บุคคลที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับตามคำพิพากษาสามารถบำเพ็ญประโยชน์แทนโดยไม่ต้องถูกกักขัง

********************************

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ประเด็นปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาขับเคลื่อนด้วยการบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนในภาครัฐนั้นยังมีอุปสรรคพอสมควร

เป็นที่มาทำให้ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นหัวขบวนในการรณรงค์ เรื่อง “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ซึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาทางให้บุคคลที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับตามคำพิพากษา ไม่ต้องถูกกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ แต่ให้เปลี่ยนโทษการจ่ายค่าปรับมาเป็นการบำเพ็ญประโยชน์แทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30/1

เดิมทีโครงการนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักต่อสาธารณะและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้นำข้อเสนอนั้นส่งไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 2 หารือกับกรมคุมประพฤติถึงความเป็นไปได้ถึงการบำเพ็ญประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับ

แต่ทั้งสองครั้งที่ได้ดำเนินการนั้นเป็นไปในลักษณะของการรณรงค์เป็นหลัก โดยยังไม่ได้ไปสู่การนำตัวของผู้ต้องโทษที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับออกมาจากคุก

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคบัณฑิตชั้นปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาในวิชา “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” ด้วยการสนับสนุนของอาจารย์ปริญญา จึงตัดสินใจร่วมกันลงมือทำโครงงาน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ตอน บำเพ็ญประโยชน์แทนค่าปรับ” ซึ่งเป็นการดำเนินการในเชิงรุกจนสามารถช่วยบุคคลที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับออกมาจากคุกได้เป็นผลสำเร็จแล้วจำนวน 2 คน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

อาจารย์ปริญญา อธิบายถึงหลักการในการดำเนินโครงการนี้ว่า หลักการคือคนควรจะติดคุกเพราะทำผิดกฎหมายไม่ใช่เพราะจน แต่ปัญหาของประเทศเรา คือ คนที่ยังไม่ผิดแต่ต้องมาติดคุกเพราะจนนั้นมีจำนวนมาก โดยมีสองสาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขคนที่ต้องติดคุกมีจำนวนสูงขึ้นมาก

1.ศาลตั้งวงเงินประกันตัวไว้สูง เมื่อไม่มีเงินมาจ่ายเป็นเงินประกันก็ต้องติดคุก เป็นการติดคุกก่อนศาลพิพากษา ทั้งที่เขามีสิทธิออกมาสู้คดี เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นหลักการว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”

“การกำหนดวงเงินการประกันตัวไว้สูงนั้นอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่าถ้าเงินประกันสูงๆ คนจะไม่กล้าหนี เพราะถ้าหนีแล้วจะต้องถูกริบเงิน ซึ่งถ้าเมื่อประเมินผลกันแล้วจะเห็นว่าไม่ได้ผล เนื่องจากคนที่สามารถวางเงินประกันสูงได้ ก็ย่อมทิ้งเงินประกันได้และหนี กลายเป็นว่าถ้าใครที่มีเงิน ก็ไม่ต้องติดคุก ประกันตัวออกมาสู้คดีได้ คนไม่มีเงินก็ติดคุกไป”

2.เป็นปัญหาอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา โดยไปกำหนดว่าศาลพิพากษาให้ปรับและหากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ผู้ต้องโทษก็ต้องติดคุกแทนการจ่ายค่าปรับ กรณีนี้ชัดเจนกว่ากรณีแรกเสียอีก เพราะศาลพิพากษาให้จ่ายเป็นค่าปรับ ไม่ได้ประสงค์จะเอามาติดคุก แต่กลายเป็นว่าที่ต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ แบบนี้ติดคุกเพราะจนโดยแท้เลย

“เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่มีนักกฎหมายตั้ง 3 แสนคน และไม่ควรเกิดในประเทศที่มีคณะนิติศาสตร์ตั้งเกือบ 100 มหาวิทยาลัยในขณะนี้ ปัญหาการติดคุกเพราะจนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในบรรดาปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว เรื่องอื่นถ้าคนจนอย่างมากก็คงไม่เข้าถึงสิทธิบางประการเท่านั้น”

อาจารย์ปริญญา เปิดเผยว่า การดำเนินการ เรื่อง “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ในรอบที่ 3 นี้สามารถทำให้เกิดผลได้จริง คือ สามารถช่วยคนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับออกมาจากเรือนจำได้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30/1 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้ปรับเป็นเงิน แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับสามารถขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ เพื่อที่จะไม่ต้องติดคุกแทนการชำระค่าปรับได้

ถึงแม้จะช่วยผู้ที่ต้องติดคุกแทนการจ่ายค่าปรับออกมาได้แล้ว แต่ในมุมมองของอาจารย์ปริญญาเห็นว่าควรต้องมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

“มาตรา 30/1 เป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ปี 2559 แต่มีคนจำนวนมากยังไม่รู้ โดยเฉพาะบุคคลที่ตกเป็นจำเลยยังไม่ทราบถึงสิทธิตามมาตราดังกล่าว คิดว่าถ้าจะแก้ไขปัญหาให้เกิดสภาพบังคับ คือ ให้คนที่ถูกพิพากษาให้จ่ายค่าปรับนั้นไปทำประโยชน์สาธารณะแทนการกักขัง”

“ถึงตอนนี้จะยังแก้ไขกฎหมายไม่ได้ ก็ควรทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผู้พิพากษาทุกศาลแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวให้กับจำเลยได้รู้ หรือถ้าใครที่ติดคุกอยู่ในตอนนี้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็พร้อมจะระดมนักศึกษาเพื่อช่วยเหลือต่อไป”

“การดำเนินการก่อนหน้านี้ที่จะเอาคนออกมาได้ เราได้ไปยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมมาแล้ว ท่านก็รับไว้หมดทุกอย่าง แต่มันก็อยู่ในแผน แล้วไงต่อ มันก็เป็นแค่แผน การปฏิรูปประเทศหรือการแก้ไขปัญหาต้องลงมือทำ ถึงจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้” อาจารย์ปริญญา ทิ้งท้าย

เปลี่ยนโทษ "จ่ายค่าปรับ" เป็นบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน

ส่วนในภาคของการดำเนินการนั้น “รัฐนิติ นิติอาภรณ์” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิตในฐานะหัวหน้ากลุ่มโครงงานดังกล่าว อธิบายภาพรวมการทำงานว่าโครงงานของเรามองไปที่ช่องทางตามกฎหมาย คือ สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลขอออกไปทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้ตามมาตรา 30/1 ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้สิทธิเอาไว้ แต่ก็มีปัญหาว่าประชาชนทั่วไปไม่รับรู้สิทธิตรงนี้

“การทำงานของพวกเราได้ร่วมกับหลายหน่วยงานด้วยกันทั้งศาลจังหวัด ศาลแขวง คุมประพฤติ เรือนจำ ทัณฑสถานในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และสถานกักขังกลางปทุมธานี เมื่อได้รับความร่วมมือจึงนำมาสู่การลงพื้นที่ทำงานใน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้แก่ผู้ต้องกักขัง และ 2.อำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องต่อศาล รวมถึงการเตรียมเอกสารต่างๆ”

รัฐนิติ บอกว่า ล่าสุดโครงงานได้เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2561 สามารถช่วยให้ผู้ต้องโทษที่ไม่มีเงินเสียค่าปรับนั้นไม่ต้องถูกกักขังได้จริง ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวแล้ว 2 ราย โดยอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลจำนวน 37 ราย และมีผู้ต้องโทษกักขังแสดงความจำนงเพิ่มเติม 74 ราย

“ในฐานะที่เป็นนักศึกษากฎหมาย สิ่งที่ผมและทีมงานมุ่งหวังสูงสุดก็คือการได้เห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมที่เราอยู่ เราตระหนักว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนั้นมีอยู่หลายด้าน ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมเอง เงินกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดว่าบุคคลจะถูกจำกัดเสรีภาพหรือไม่”

“เราจึงพยายามแก้ไขปัญหาจากจุดเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ โดยนำความรู้ด้านกฎหมายไปเผยแพร่แก่ผู้ต้องโทษปรับและผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับ การดำเนินโครงงานครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกที่เราสามารถนำวิชาความรู้ด้านกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมาจากห้องเรียน ออกมาทำประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม และหวังว่าการดำเนินโครงงานครั้งนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมของเราได้” รัฐนิติ กล่าวสรุป