posttoday

สืบสานแนวทางโครงการหลวง เดินตามรอยพ่อไม่มีขาดทุน

14 ตุลาคม 2561

ประสบการณ์ของสามี-ภรรยาผู้หันหลังให้การทำเกษตรด้วยการใช้เคมี และมุ่งเดินตามรอยการเกษตรแบบโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่9

ประสบการณ์ของสามี-ภรรยาผู้หันหลังให้การทำเกษตรด้วยการใช้เคมี และมุ่งเดินตามรอยการเกษตรแบบโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่9

****************************

โดย....ไชยวัฒน์ สาดแย้ม

“การทำเกษตรในรูปแบบของโครงการหลวงเดินตามรอยพ่อของแผ่นดินนั้น ให้ทำยังไงก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีโอกาสที่จะขาดทุนอย่างแน่นอน” จำนอง บุญเลิศฟ้า หรือกำนันเมี่ยง อดีตกำนันตำบลบ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี หนึ่งในเกษตรกรที่หันหน้ามาปลูกพืชผักปลอดสารพิษตามแบบของโครงการหลวง พร้อมกับจัดตั้งศูนย์เรียนรู้พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสู่พื้นที่ชายแดน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บอกเล่าอย่างมั่นใจ

จำนอง และ หน่ายซิม บุญเลิศฟ้า ภรรยาคู่ชีวิต บอกว่า เดิมทีปลูกพืชผักเป็นเกษตรกรอย่างทั่วๆ ไป มีการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี กระทั่งได้รู้จักโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเกิดแนวคิดที่จะเดินตามรอยพระองค์ท่านเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงได้ไปทำการอบรมหาความรู้จากสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ และโครงการหลวงของพระองค์ท่าน โดยไปศึกษาอบรมหาความรู้จนถึงทางภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ตามโครงการหลวงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรในที่ราบสูงใช้น้ำน้อย จนมีความรู้ความเข้าใจ

หลังจากที่มีความรู้มาพอสมควร ในช่วงปี 2559 จึงได้เริ่มสร้างโรงเรือนตามรูปแบบของโครงการหลวงด้วยการใช้ไม้ไผ่มาสร้างเป็นโรงเรือน

“โรงเรือนที่สร้างด้วยโครงสร้างไม้ไผ่นั้น ประหยัดต้นทุนไปเป็นอย่างมาก และเป็นแนวคิดของพระองค์ท่านที่คิดเอาไว้ให้อยู่แล้ว เพราะหากเราทำเป็นโรงเรือนโครงเหล็ก จะมีต้นทุนสูงถึงกว่า 5 หมื่นบาทต่อ 1 โรงเรือน แต่ที่เราทำพร้อมกับกางมุ้ง จะมีต้นทุนอยู่เพียงแค่ 1 หมื่นบาทเศษๆ ต่อหนึ่งโรงเรือนเท่านั้น อีกทั้งยังใช้แรงงานในการดูแลน้อยมาก 4-5 โรงเรือนใช้เพียงคนเดียวก็สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง”หน่ายซิม บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้น

สืบสานแนวทางโครงการหลวง เดินตามรอยพ่อไม่มีขาดทุน

โรงเรือนผักกางมุ้งของทั้งสองปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น ผักคะน้าฮ่องกง ผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ต้นหอม และผักอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาด ซึ่งการปลูกนั้นจะต้องเพาะต้นกล้าก่อนเสร็จแล้วจึงนำมาลงแปลงปลูกให้เป็นแถวเป็นแนวง่ายต่อการดูแล จนเมื่อได้อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45 วัน ก็จะนำไปขายตามตลาดนัดในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก็มีรายได้ดีพอสมควร

แม้ราคาขายอาจจะสูงกว่าผักทั่วๆ ไปตามท้องตลาด แต่จำนองบอกว่า พืชผักที่ปลูกแบบปลอดสารพิษจริงๆ เป็นผักอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน มูลไก่ มูลวัว เป็นหลัก ส่วนสารกำจัดแมลงก็ใช้สารชีวภัณฑ์ที่นำมาจากโครงการหลวง พืชผักที่ปลูกในลักษณะแบบนี้จะมีรสชาติที่หวานและมีความกรอบมากกว่าผักที่ปลูกโดยใช้สารเคมี ซึ่งสามารถที่จะท้าพิสูจน์ได้

“การทำเกษตรในรูปแบบของโครงการหลวงจะไม่มีโอกาสขาดทุนอย่างแน่นอน อันดับแรกยังไงเสียเราก็ได้กินพืชผักที่ปลอดภัย ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับสารเคมี ตรงนี้คือสิ่งที่ได้โดยตรง อีกประการหนึ่งสิ่งที่เราทำ เราลงทุนน้อย ไม่ได้ลงทุนมากมายแต่อย่างใด”

หน่ายซิม บอกว่า สิ่งสำคัญตั้งแต่เดินตามรอยโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ก็ไม่มีหนี้ไม่มีสินเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่กลับมีกินมีใช้มีเก็บทุกวัน โดยในแต่ละวันที่นำพืชผักไปขายจะมีรายได้วันละประมาณ 1,000 กว่าบาท ก็จะแบ่งเงินจำนวนหนึ่งคือ 100 บาทใส่กระปุกเอาไว้เพื่อเป็นเงินเก็บ เพราะถ้าเงินอยู่ในมือเดี๋ยวก็ใช้หมดไป

สืบสานแนวทางโครงการหลวง เดินตามรอยพ่อไม่มีขาดทุน

หน่ายซิมและจำนอง มองว่า โครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ที่ไม่มีอาชีพต่างๆ ช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มีอาชีพ ให้ได้เดินให้ถูกทาง ในการประกอบอาชีพเกษตรกร และการที่ทั้งสองจัดพื้นที่ของตนเองให้เป็นศูนย์เรียนรู้พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสู่พื้นที่ชายแดน ก็เพราะอยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีแหล่งเรียนรู้ว่าถ้าทำตามแบบโครงการหลวงจะดีอย่างไร โดยมีเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงเข้ามาเป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเป็นระยะ

จำนอง บอกอีกว่า ขณะนี้เตรียมที่จะทดลองปลูกสตรอเบอร์รี่ ซึ่งคาดว่าในช่วงปีใหม่ก็จะได้เก็บผลผลิตออกมาจำหน่ายเป็นสตรอเบอร์รี่ปลอดสารพิษอยู่ในโรงเรือนกางมุ้ง และยังได้ทำองุ่นอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะได้ผลดีเช่นกัน ที่สำคัญทั้งพืชผักและผลไม้ ทำตามรูปแบบของโครงการหลวงทั้งหมด รับประกันได้ว่าจะไม่มีสารพิษใดๆ ตกค้าง

“การปลูกพืชผักของเราจะมีเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงในที่สูงจาก จ.เชียงใหม่ เข้ามาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อมาเก็บตัวอย่างพืชผักไปตรวจสอบว่าเราได้ปลูกพืชผักปลอดสารพิษจริงตามรูปแบบของโครงการหลวงของเขาจริงหรือไม่”

จำนองและหน่ายซิม ยืนยันว่า จะยังคงมุ่งมั่นสืบสานตามรอยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกพืชผักตามแบบฉบับของโครงการหลวง และจะพยายามหาทางถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจส่งผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ สู่คนรุ่นหลังให้เข้าใจถึงโครงการของพระองค์ท่านตลอดไป