posttoday

"อยากให้คนรุ่นหลังเห็นวิถีชีวิตชาวนา"อ.ราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาประติมากรรมแห่งท้องทุ่ง

27 สิงหาคม 2561

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาของประติมากรรมในท้องทุ่งหวังให้คนรุ่นหลังเห็นความสำคัญของวิถีชาวนาแบบดั้งเดิม

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาของประติมากรรมในท้องทุ่งหวังให้คนรุ่นหลังเห็นความสำคัญของวิถีชาวนาแบบดั้งเดิม

จากกรณีที่ประชาชน นักท่องเที่ยวที่ขับรถสัญจรไปมาบนถนนทางหลวงหมายเลข 226 สายบุรีรัมย์ – สุรินทร์ ได้พบเห็นประติมากรรมหุ่นชาวนาจำนวนมากตั้งอยู่ภายในทุ่งนาริมถนนช่วงบริเวณบ้านสวายจีก ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ แถมยังมียุ้งข้าวจำลองตั้งเรียงรายอยู่ด้วย ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต่างพากันมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงจนทราบว่า เจ้าของไอเดียประติมากรรมหุ่นชาวนาคือ นายสุจิน สังวาลมณีเนตร อายุ 44 ปี อาจารย์สอนศิลปะ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

อาจารย์สุจิน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึง แนวคิดในการสร้างหุ่นชาวนา และยุ้งข้าวจำลองมาตั้งเรียงรายอยู่ในทุ่งนาว่า อยากนำผลงานประติกรรมมาจัดแสดงเพื่อสะท้อนให้ประชาชนคนรุ่นหลัง ได้เห็นความสำคัญของผืนแผ่นดิน โดยเฉพาะนาข้าว ที่เป็นเสมือน "อู่ข้าว อู่น้ำ"ของคนทั่วโลก

"เดิมจะทำนากันแบบเกษตรกรดั้งเดิม แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นอุตสาหกรรมการทำนา มีการค้าข้าว การส่งออก การใช้สารเคมีเร่งผลิต เพื่อมุ่งหวังเรื่องผลกำไรมากกว่า ทำให้วิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไป จึงเกิดไอเดียในการทำหุ่นชาวนา และยุ้งข้าว มาจัดแสดงบนผืนนาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนหันมาเห็นความสำคัญวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งผืนนาที่นำผลงานมาจัดแสดงเป็นที่นาของชาวบ้านสวายจีก"อาจารย์สุจินกล่าว

อาจารย์สุจินกล่าวอีกว่า วัสดุที่นำมาทำหุ่นชาวนา และยุ้งข้าวจะเน้นวัตถุในท้องถิ่น เช่น ขี้ควาย ดินปลวก แกลบ ผสมกับปูน ซึ่งนอกจากหุ่นชาวนา และยุ้งข้าวแล้ว ก็จะนำประติมากรรมเมล็ดข้าวจำลองขนาดตั้งแต่ 3 – 5 เมตร มาจัดแสดงเพิ่มเติมด้วย และหลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะมีจัดมุมให้สำหรับผู้คนที่สนใจได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย หากหน่วยงานใดต้องการจะต่อยอดให้เป็นแลนด์มาร์กหรือแหล่งท่องเที่ยวก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหลังจากได้มีประชาชน นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมและถ่ายรูปผลงานที่จัดแสดงบนผืนนาแห่งนี้ ก็รู้สึกภูมิใจและหวังว่าจะทำให้คนหันมาเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตชาวนามากขึ้นด้วย

อาจารย์สุจิน กล่าวด้วยว่า งบประมาณที่นำมาสร้างสรรค์ประติมากรรมบนผืนนาแห่งนี้ มาจากรางวัล "ทุนสร้างสรรค์ศิลป์พีรศรี" ที่ได้รับเมื่อปี2561 ซึ่งหากได้รับทุนมาอีกก็จะนำมาต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องต่อไป

"อยากให้คนรุ่นหลังเห็นวิถีชีวิตชาวนา"อ.ราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาประติมากรรมแห่งท้องทุ่ง

"อยากให้คนรุ่นหลังเห็นวิถีชีวิตชาวนา"อ.ราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาประติมากรรมแห่งท้องทุ่ง

"อยากให้คนรุ่นหลังเห็นวิถีชีวิตชาวนา"อ.ราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาประติมากรรมแห่งท้องทุ่ง

"อยากให้คนรุ่นหลังเห็นวิถีชีวิตชาวนา"อ.ราชภัฏบุรีรัมย์เผยที่มาประติมากรรมแห่งท้องทุ่ง