posttoday

สุดยอด!รู้กันหรือยังทีมตาบอดไทยไปฟาดแข้งบอลโลก

11 พฤษภาคม 2561

นายกฯเผยเรื่องน่ายินดี นักกีฬาฟุตบอล"คนตาบอด"ทีมชาติไทยเข้ารอบ16ทีมชิงแชมป์ฟุตบอลคนตาบอดโลก ลงฟาดแข้ง 5-18มิ.ย.61 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

นายกฯเผยเรื่องน่ายินดี นักกีฬาฟุตบอล"คนตาบอด"ทีมชาติไทยเข้ารอบ16ทีมชิงแชมป์ฟุตบอลคนตาบอดโลก ลงฟาดแข้ง 5-18มิ.ย.61 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า มีเรื่องที่น่ายินดี 2 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับนักกีฬาฟุตบอล “คนตาบอด” ทีมชาติไทย ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรก เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ในรายการฟุตบอลคนตาบอดโลก ที่จะแข่งขันระหว่างวันที่ 5 ถึง 18 มิถุนายนนี้ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต่างอะไรจากกีฬาระดับโลกประเภทอื่นๆ ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค การแข่งขันหลายรอบ กว่าจะได้เป็นตัวแทนทวีปเอเชีย เข้าสู่รอบสุดท้ายนี้ ไม่เพียงศักยภาพรายบุคคลของนักกีฬา การทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ประกอบกับ “การทำงานเป็นทีม”ซึ่งสำคัญมาก รายการนี้ย่อมพิสูจน์ให้พวกเราทุกคนได้เห็นว่า แม้มองไม่เห็น แต่ก็สามารถใช้หูนำทาง ร่วมกับประสาทสัมผัส และทักษะอื่นมาชดเชยได้เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝน และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ“ทุกคน”ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ สมดังที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้ทั้งสิ้น

ขอชื่นชมในความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ จนมาถึงจุดนี้ โดยจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทย ทั้งประเทศ ในทุกวงการ ไม่ให้ย่อท้อต่ออุปสรรค และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย ติดตามผลงาน ร่วมส่งกำลังใจไปเชียร์ ให้นักกีฬาของเราประสบความสำเร็จสูงสุด นำชื่อเสียง ความภาคภูมิใจ และความสุข มาสู่คนไทย ทั้งชาติ และ เป็นบันไดไปสู่การแข่งขันในรายการพาราลิมปิกส์เกมส์ ปี 2020ณ ประเทศญี่ปุ่น ต่อไปด้วย

อีกเรื่องหนึ่งก็คือประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ และ ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายผู้ประกอบกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) ต่อจากฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีวาระ 2 ปี คือ ปี 2562 และ 2563 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสตรีทางเศรษฐกิจในอาเซียน ที่สะท้อนการยกระดับความเสมอภาคระหว่างเพศ และ “พลังสตรีกับเศรษฐกิจ” ของภูมิภาคอาเซียน ที่ผมเห็นว่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยความร่วมมือในลักษณะเกื้อกูลกัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ ได้ฝากข้อพิจารณาสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ว่า ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตรี, การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับฐานราก ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ในรูปแบบ “ประชารัฐ” เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน, การปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็ง ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับสร้างการพัฒนาที่สมดุล และยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะต้องดำเนินการในเชิงสร้างสรรค์ และเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่เท่าเทียม สามารถเข้มแข็งไปด้วยกัน ก้าวเคียงข้างกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง