posttoday

8 ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระประจำปี 2016 (ตอนจบ)

28 ธันวาคม 2559

ท่ามกลางเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในปีนี้ เว็บไซต์ The Guardian ได้คัดเลือกเอาฮีโร่ผู้ทำความดี แต่ไม่เป็นที่พูดถึงในปีนี้จำนวน 8 คนมาให้ได้ชมกัน

ท่ามกลางเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในปีนี้ เว็บไซต์ The Guardian ได้คัดเลือกเอาฮีโร่ผู้ทำความดี แต่ไม่เป็นที่พูดถึงในปีนี้จำนวน 8 คนมาให้ได้ชมกัน

มาต่อกันที่ฮีโร่อีก 4 คนที่เหลือ

Mary Stuart-Miller, ผู้ทำอาหารเลี้ยงคนไร้บ้านนับพัน ในกรุงโรม

8 ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระประจำปี 2016 (ตอนจบ)

ในคืนวันอังคารคืนหนึ่ง ที่กรุงโรม ชายไร้บ้านกำลังมองดูหม้อสตูหมู 3 ใบใหญ่ที่เตรียมเอาไว้ ข้างๆเขาเป็นชายไร้บ้านวัย 83 ปี จากออร์แลนโดกำลังเก็บกวาดเศษผักทิ้ง พวกเขาคือหนึ่งในกลุ่มคน 5 คนที่อาศัยอยู่กับ Mary Stuart-Miller หญิงวัย 56 ปีผู้ร่าเริงจาก West Sussex ผู้ให้ความช่วยเหลือบรรดาคนยากจน และคนไร้บ้านมาแล้วกว่า 8,000 คน นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

8 ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระประจำปี 2016 (ตอนจบ)

ระหว่างที่นักข่าวจากเดอะการ์เดี้ยนเดินทางไปสัมภาษณ์เธอ Stuart-Miller และทีมกำลังยุ่งวุ่นวายอยู่กับการเตรียมอาหาร และโต๊ะสำหรับบรรดาคนไร้บ้าน ที่ด้านนอกสถานีรถไฟ Tiburtina ในกรุงโรม

โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือหลักโดย Steve Barnes เชฟวัย 38 ปี จาก Bradford ในอังกฤษ ผู้กลายเป็นคนไร้บ้านนานถึง 7 ปี หลังจากที่เขาตกงาน แต่ขณะนี้เขากลายเป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของ Stuart-Miller ในโครงการดังกล่าวที่ตั้งขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งคนไร้บ้านทุกคนที่อาศัยอยู่กับเธอล้วนมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้พวกเขายังอาศัยอยู่ตามใต้สะพาน หรือทางด่วนอยู่เลย ก่อนที่จะได้มารู้จักกับ Stuart-Miller

"พวกเขาเปลี่ยนไปมากค่ะ มีเป้าหมาย และกำลังเตรียมพร้อมที่จะกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง" เธอกล่าว "เราพูดคุยกับคนไร้บ้าน และนำความเมตตา ความอบอุ่นไปให้พวกเขา ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่บีบให้เราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง"

 

Meron Estefanos, ผู้อยู่เบื้องหลังสายด่วนเพื่อผู้ลี้ภัย

8 ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระประจำปี 2016 (ตอนจบ)

"2016 เป็นปีที่เลวร้ายสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเอริเทรีย ซึ่งนั่นแปลว่ามันเป็นปีที่เลวร้ายสำหรับฉันด้วย" Meron Estefanos ผู้ดำเนินโครงการสายด่วนเพื่อผู้ลี้ภัย จากสวีเดนกล่าว

บรรดาผู้ลี้ภัยชาวเอริเทรียจะส่งต่อเบอร์โทรศัพท์ของเธอให้แก่ใครที่ต้องการ นั่นทำให้สายที่เธอได้รับเต็มไปด้วยเรื่องราวความเดือดร้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกลักพาตัว, เรืออพยพที่กำลังจะจม ไปจนถึงการถูกเนรเทศอย่างผิดกฏหมาย

โทรศัพท์ของนักเคลื่อนไหวสายดังตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ซึ่งนอกจากการประสานงานให้ความช่วยเหลือแล้ว ในบางครั้งเธอยังให้คำแนะนำอีกด้วย เช่นการขอวีซ่าลี้ภัยในยุโรปเป็นต้น

เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา Estefanos รำลึกความทรงจำให้ฟังว่าสายด่วนส่วนใหญ่ที่เธอได้รับนั้นมาจากเรืออพยพที่กำลังจะอับปางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน "พวกเขากรีดร้อง และร้องไห้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ฉันต้องการคือพิกัดของพวกเขา เพื่อที่ฉันจะได้ส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ชายฝั่งให้เข้าช่วยเหลือ"

หลังส่งต่อแล้ว Estefanos ยังคอยตามเช็คทุกชั่วโมง เพื่อดูว่าบรรดาผู้อพยพที่ขอความช่วยเหลือจากเธอนั้น ปลอดภัยดี

ในปีนี้สวีเดนหยุดการให้วีซ่าแก่ผู้ลี้ภัย ส่งผลให้ผู้อพยพมีคำถามมากมายเกี่ยวกับกฏระเบียบ ผ่านสายด่วนมายังเธอ "มันเหมือนกับฝันสลายสำหรับผู้ลี้ภัย สวีเดนเคยเป็นสถานที่ที่ดีที่สุด แต่ตอนนี้ไม่ใช่ และนั่นน่าเศร้ามาก" เธอกล่าว

อย่างไรก็ดีมีหลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอ Estefanos เกือบจะถูกลักพาตัวไป เมื่อเธอเดินทางไปท่องเที่ยวยังคาบสมุทรไซนาย แต่เธอยังคงเชื่อมั่นว่าตนทำในสิ่งที่ถูกต้อง "ยิ่งฉันถูกดูถูก หรือคุกคามมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ฉันอยากทำมากขึ้น" เธอกล่าว

 

Marie-Ketly Cazeau, ผู้เปิดบ้านเป็นที่หลบภัยพายุ

8 ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระประจำปี 2016 (ตอนจบ)

เวลาประมาณตี 3 ของคืนหนึ่ง ในเดือนตุลาคม ประตูบ้านของ Cazeau ถูกเคาะเรียกอย่างบ้าคลั่ง เมื่อพายุเข้าพัดถล่ม เมือง Jérémie ในเฮติ

"มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ใส่ใจคำเตือนจากทางการ เพราะว่าในเฮติเราเจอพายุเป็นประจำในช่วงเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน และหลายคนก็กล่าวว่าพายุจะเบี่ยงออกไป ไม่พัดเข้ามา" เธอกล่าว ในห้องนั่งเล่นที่บ้านของเธอ ใน Sainte-Hélène พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุ ที่พัดถล่มด้วยความเร็วกว่า 145 ไมล์ต่อชั่วโมง อาคารบ้านเรือนกว่า 80% ล้วนได้รับความเสียหาย

แต่พายุลูกนี้ไม่เบี่ยงอย่างที่หลายคนคาดหวัง ลูกชายของเธอโทรมาจากสหรัฐเพื่อบอกให้เธอระวังตัว และในคืนนั้นเองเมื่อเธอลงมายังชั้นล่างเธอก็ได้ยืนเสียงผู้คนกรีดร้องที่ด้านนอก เธอจึงตัดสินใจเปิดประตู และเรียกให้พวกเขาเข้ามา

ในวันนั้นมีชาวเฮติกว่า 30 ชีวิต ทั้งชาย หญิง หรือแม้แต่เด็ก 2 ขวบเข้าหลบภัยในบ้าน 2 ชั้นของเธอ ที่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง ในขณะที่บ้านส่วนใหญ่ของผู้คนในเมืองถูกสร้างแบบตามมีตามเกิด ตามประสาผู้มีรายได้น้อย

หลังพายุสงบลง พวกเขาจึงได้เห็นภาพต้นไม้ถูกถอนรากถอนโคนล้มระเนระนาด บ้านเรือนส่วนใหญ่พังเสียหาย หลังคาถูกพัดปลิวหายไป ในจำนวนนี้รวมถึงบ้านของหนูน้อยวัย 2 ขวบเช่นกัน

เมื่อพายุผ่านพ้นไปแล้วเกือบเดือน ยังคงมีชาวเฮติ 5 คนที่อาศัยอยู่ในบ้านของเธอ "คุณเคยได้ยินมั้ยว่า ผู้หญิงอย่างเราๆมีจิตใจโอบอ้อมอารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ พวกผู้ชายเองก็เช่นกัน เพียงแต่พวกเขาช่วยเหลือในวิธีที่ต่างออกไป" เธอกล่าวเมื่อได้รับคำชม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน เราช่วยเหลือซึงกันและกัน พวกเราไม่ได้มีปัญหาต่อกัน และไม่ได้แบ่งเขาแบ่งเรา ดังนั้นแล้วในช่วงเวลานั้นเราจำเป็นต้องช่วยเหลือกัน" เธอกล่าว

 

Amanda Mellet, ผู้ต่อต้านกฏหมายการทำแท้งของไอร์แลนด์

8 ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระประจำปี 2016 (ตอนจบ)

Amanda Mellet (ซ้าย) สร้างประวัติศาสตร์ในปีนี้ ด้วยการทำให้รัฐบาลไอร์แลนด์ยอมจ่ายค่าชดเชยแก่เธอ จากการที่เธอต้องบินไปทำแท้งที่อังกฤษได้

Mellet เป็น 1 ในผู้หญิงชาวไอริช 3 คน ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกฏหมายห้ามการทำแท้งอันเข้มงวด ด้วยการส่งเสียงไปยังสหประชาชาติ เรียกร้องให้พวกเขาสนใจ กฏหมายห้ามการทำแท้งจากกรณีที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ

เธอและเจมส์ สามี ยื่นกรณีที่เกิดขึ้นให้แก่คณะกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2556 หลังจากทั้งคู่พบว่าเด็กทารกในครรภ์มีปัญหา แม้ว่าทั้งคู่จะอยากมีลูกก็ตาม แต่เธอและสามีตัดสินใจที่จะไม่เก็บเด็กคนนี้เอาไว้

หลังการพิจารณา เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ทางสหประชาชาติสรุปว่า Mellet ถูกเลือกปฏิบัติอย่างโหดร้าย และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไอร์แลนด์แก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้ผู้ที่ครรภ์มีปัญหาสามารถทำแท้งอย่างปลอดภัยได้

นอกจากนั้นรัฐบาลไอร์แลนด์ยังต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่เธอ และจ่ายค่าการปรึกษาสุขภาพจิต หากเธอต้องการอีกด้วย ซึ่ง Mellet ได้ค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 30,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 ล้านบาท

"มาในวันนี้ฉันเลือกที่จะทิ้งความทรงจำร้ายๆไว้เบื้องหลัง จากสิ่งที่เกิดขึ้นฉันหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงให้ผู้หญิงในไอร์แลนด์สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตามที่พวกเขาต้องการ ในประเทศตนเอง" เธอกล่าว