posttoday

เมื่อล่ามภาษามือก้าวสู่โลกออนไลน์

24 กรกฎาคม 2559

ญี่ปุ่นเดินหน้าขยายการให้บริการ "ล่ามภาษามือ" ออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการในการติดต่อสื่อสาร

ญี่ปุ่นเดินหน้าขยายการให้บริการ "ล่ามภาษามือ" ออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการในการติดต่อสื่อสาร

ก่อนหน้าที่เทคโนโลยีทางโทรศัพท์จะพัฒนามาถึงขั้นให้เราคุยกันแบบเห็นหน้า หรือเฟซไทม์ได้ หากผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูดอยากจะใช้โทรศัพท์ พวกเขาจะต้องอัดคลิปภาษามือแล้วส่ง MMS ไปให้คู่สนทนาปลายสาย หรือคุยผ่านล่ามภาษามือ หรืออาจต้องพึ่งการเขียนข้อความ ซึ่งจะเรียงไวยากรณ์ต่างจากภาษาของคนปกติ ทำให้การติดต่อสื่อสารของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างยากลำบาก

เคนทะโระ ฮะยะเสะ ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด เผยว่า เขาไม่ค่อยประทับใจวิธีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ด้วยตัวเองในสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก เนื่องจากมีขั้นตอนหลายอย่างและยุ่งยาก แต่ด้วยความจำเป็นในฐานะเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินในเมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่น ทุกครั้งที่โทรศัพท์ติดต่อธุรกิจ เขาจะให้คนในครอบครัวที่พูดได้ตามปกติเป็นตัวแทนในการเจรจา

ทว่า หลังจากประเทศญี่ปุ่นให้บริการล่ามภาษามือออนไลน์ (Phone Relay Service) การสื่อสารในชีวิตประจำวันของผู้บกพร่องทางการได้ยินก็สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโทรนัดแพทย์ การจองโต๊ะอาหาร หรือการติดต่อธุรกิจ โดย ฮะยะเสะ เองใช้บริการนี้ในการคุยธุรกิจด้วยตัวเองสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง

เจ้าของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาวัย 43 ปีบอกว่า โลกของเขากว้างขึ้นหลังจากได้รู้จักและเรียนรู้เทคโนโลยีนี้ ตอนคุยโทรศัพท์เขาสามารถสื่อสารได้ว่า คำว่า “ไม่” ของเขาหมายถึงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือไม่แบบที่ยังสามารถพูดคุยต่อรองกันได้อยู่

ผู้พิการทางการได้ยินสามารถใช้ล่ามภาษามือออนไลน์ได้ทั้งในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ขอเพียงให้อุปกรณ์เหล่านั้นมีแอพพลิเคชั่นที่ส่งภาพวิดีโอได้ อาทิ สไกป์ ไลน์ จากนั้นล่ามแปลภาษาจะติดต่อไปยังสายปลายทางเพื่อถ่ายทอดข้อมูลแล้วแปลงสารจากปลายสายให้ผู้พิการทางการได้ยินผ่านภาษามือหรือข้อความ

แม้จะมีความสะดวกแต่ผู้คนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่กลับยังไม่เห็นถึงความสำคัญและความสะดวกสบายของการสื่อสารด้วยวิธีนี้ เนื่องจากบริการนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

ขณะนี้ Nippon Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรของญี่ปุ่น กำลังทดลองใช้ล่ามภาษามือออนไลน์ต้นแบบกับอาสาสมัครกว่า 3,600 คน

ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 และ 7.3 แมกนิจูดในเมืองคุมะโมะโตะเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการได้ใช้อุปกรณ์นี้ในการตรวจเช็กความปลอดภัยของผู้พิการทางการได้ยิน และให้ความช่วยเหลือคนหูหนวกที่ต้องการคำแนะนำ

ประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รัฐจะเป็นผู้อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการล่ามภาษามือออนไลน์ แต่ในญี่ปุ่นนั้นภาครัฐตั้งเป้าว่าจะจัดการปัญหาด้านค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในปีงบประมาณหน้า

ขณะที่ ฮิโระยุกิ มิอุระ ประธานบริษัท PLUSVoice ซึ่งให้บริการล่ามภาษามือออนไลน์มากว่า 10ปี คาดว่าความต้องการใช้บริการนี้จะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปี หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติกับผู้ที่มีความบกพร่องด้านร่างกายและการเป็นเจ้าภาพกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ของญี่ปุ่นในปี 2020