posttoday

ม.ปลายไทยร่วมแข่งหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก

13 ตุลาคม 2558

นักเรียนม.ปลายร.ร.เทศบาลวัดกลาง ขอนแก่น เป็นตัวแทนประเทศร่วมแข่งหุ่นยนต์โอลิมปิคชิงแชมป์โลกที่กาตาร์

นักเรียนม.ปลายร.ร.เทศบาลวัดกลาง ขอนแก่น เป็นตัวแทนประเทศร่วมแข่งหุ่นยนต์โอลิมปิคชิงแชมป์โลกที่กาตาร์

เมื่อวันที่13ต.ค.58 ที่ห้องประชุมชั้น 1 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมหารือกับนายชูเกียรติ  เหลืองอุบล ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง เรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง 3 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์  มีสวรรค์ นักเรียนชั้น ม.5/5,น.ส.ศริญญา  นามแถ่ง นักเรียนชั้น ม.6/5 และ น.ส.ปารีสา พร้อมรุ่งเรือง นักเรียนชั้น ม.6/5 ซึ่งเป็นนักเรียนตัวแทนประเทศไทยที่ได้สิทธิเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคหุ่นยนต์โลกรอบชิงชนะเลิศ ประจำปี 2558 หรือ WRO2015:World Robot Olympiad 2015 ซึ่งกำหนดการแข่งขันในระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย.2558 ที่ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์
            
นายนครินทร์  มีสวรรค์ นักเรียนชั้น ม.5/5 ร.ร.เทศบาลวัดกลาง กล่าวว่า ปีนี้ ทางผู้จัดการแข่งขันได้ตั้งชื่อหัวข้อไว้เพียงแค่ว่า “Robot Explorer” หรือ หุ่นยนต์นักสำรวจ ซึ่งยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยาก และท้าทาย จำเป็นจะต้องค้นหาวิธีในการจัดส่งอุปกรณ์เข้าตรวจสอบสภาพความเสียหาย , สำรวจผู้ประสบอุทกภัยหรือแม้การตรวจสอบสภาพพื้นที่ต่างๆในภาพรวม จึงได้เกิดแนวคิดในการทำให้หุ่นยนต์นักสำรวจผลงานของทีม ร.ร.เทศบาลวัดกลางนั้นวิ่งได้และบินได้ไปพร้อมๆกัน และได้รับงบประมาณการสนับสนุนจากเทศบาลนครขอนแก่นและโรงเรียนฯ เป็นวงเงิน 60,000 บาท

จัดซื้ออุปกรณ์ที่จะต้องมีความคงทนต่อความสมบุกสมบันและรับได้ในทุกสภาพพื้นที่ที่จะต้องวิ่งเข้าไปสำรวจ อีกทั้งยังคงจะต้องบินได้ จึงได้เริ่มจัดสร้างหุ่นยนต์ฐานรากในรูปแบบรถบังคับที่จะต้องใช้น้ำหนักเบาและวัสดุที่แข็งแรงยืดหยุ่น ก่อนนำมาประกอบเข้าใส่ระบบควบคุมและมอเตอร์บังคับไฟฟ้า ขณะที่ส่วนที่บินได้ได้ดัดแปลงและจำลองโดรนบังคับที่มีปีกหมุนใบพัด 4 มุมมายึดติดด้านบนอีกชั้นและติดตั้งกล้องไว้ที่บริเวณด้านหน้าเพื่อให้สามารถบันทึกภาพทั้งพื้นราบและมุมสูงให้ได้ไปพร้อมๆกัน โดยมีตัวบังคับและระบบรับ-ส่งสัญญาณภาพและคอมพิวเตอร์ โนตบุค ทำการควบคุมระบบสั่งการทั้งหมด ขณะที่พลังงานที่ใช้เดิมจะทำเป็นรูปแบบของโซลาเซลล์แต่มีน้ำหนักที่มากเกินไปจึงใช้ระบบชาร์จพลังงานไฟฟ้า โดยมีระบบอินเตอร์เนตคอยกำกับและควบคุมอีกชั้น”
               
นายนครินทร์ กล่าวต่ออีกว่า แม้หุ่นยนต์ต้นแบบจะสามารถวิ่งได้ในทางตรงและถอยหลังเท่านั้น ขณะที่การบินบินสูงได้ในระดับความสูงประมาณ 20 เมตรจากพื้นดิน โดยสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องประมาณ 20 นาทีตามความจุของแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบที่สามารถตอบ โจทย์ความต้องการของผู้จัดการแข่งขันที่ต้องการนวัตรกรรมในการสำรวจและสามารถบันทึกภาพและข้อมูลเบื้องต้นส่งกลับมายังศูนย์บัญชาการในการประเมินการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม “Exploring Pilot Robot” ผลงานของโรงเรียน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา ทั้งในระบบการบันทึกภาพ-การต้านแรงลม-การบังคับควบคุมทิศทางและคำนวณพลังงานทั้ง 2 ส่วนในภาพรวมรวมทั้งระบบ เพื่อให้หุ่นยนต์ผลงานของทีมฯสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของคณะกรรมการจัดการแข่งขันจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศหรือรางวัลประเภทใดประเภทหนึ่งและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยให้ได้