posttoday

คิดดี...เฮ็ดดี ชุบชีวิตผู้ด้อยโอกาสหาดสองแคว

11 กันยายน 2558

การทำความดี ไม่เพียงแค่สังคมไทยเท่านั้นที่เรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักในเรื่องนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ย่อมแยกแยะได้ว่า สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี

โดย..บุญนำ เกิดแก้ว

การทำความดี ไม่เพียงแค่สังคมไทยเท่านั้นที่เรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักในเรื่องนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ย่อมแยกแยะได้ว่า สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี แต่หลายคนก็ปล่อยปะละเลยที่จะสร้างและทำความดี จนถูกสิ่งไม่ดีเข้ามาครอบงำความคิดความรู้สึกเข้ามาแทนที่ จนทำให้คนเห็นแก่ตัว พยายามทำทุกวิถีทางที่จะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง

แต่ที่ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ โดย “พงษ์เทพ ชัยอ่อน” นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หาดสองแคว มีแนวคิดที่จะทำให้ชุมชนสร้างแต่ความดีนั่นคือ “เฮ็ดดี” หรือ อาสาสมัครทำความดี ซึ่งคำว่า “เฮ็ด” เป็นภาษาถิ่นของชาวหาดสองแควที่แปลว่า “ทำ”

พงษ์เทพ บอกว่า ปัจจุบันสังคมมีความเหลื่อมล้ำกันมาก คนรวยไม่เกื้อหนุนคนจน และคนจนก็ไม่สามารถที่จะปรับตัวเองขึ้นเป็นอยู่ในฐานะปานกลางได้ จะทำอย่างไรที่จะให้คนรวยและคนจนจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แบ่งว่ารวยหรือจน จากการสำรวจพบว่ามี 178 รายในพื้นที่ ต.หาดสองแคว ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ จะทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระดับที่ไม่เป็นภาระของสังคม จึงนำปัญหานี้เข้าพูดคุยในกลุ่มผู้นำท้องถิ่นและท้องที่ จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปก็นำเสนอไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) อุตรดิตถ์ แต่ได้รับคำตอบว่า สามารถช่วยเหลือได้ปีละ 1 รายเท่านั้น

ทำให้กลับมาย้อนคิดว่าในจำนวน 178 ราย หาก พมจ.อุตรดิตถ์ ช่วยเหลือได้เพียงปีละ 1 รายก็ต้องใช้เวลานานถึง 178 ปี คนเหล่านี้ถึงจะได้รับการเหลือดูแล ถือว่าช้าและไม่ทันต่อการช่วยเหลือ จึงเกิดแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่พอจะมีกินเจียดเงินหรือแบ่งปันเงินบริจาคเข้า “กองทุนอาสาเฮ็ดดี” ของ ต.หาดสองแคว วันละ 50 สตางค์ เฉลี่ยเดือนละ 15 บาท แต่การเริ่มต้นโครงการนั้นได้เริ่มที่ผู้บริหาร สมาชิก อบต.ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างร่วมกันลงขันก่อน จากนั้นก็ขยายไปยังกลุ่มผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพ ซึ่งทุกคนพร้อมบริจาคให้กับกองทุนนี้โดยความสมัครใจ ร่วมบริจาคจากน้อยไปหามาก เช่นเดียวกับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็ร่วมบริจาคด้วยความสมัครใจ

ไม่เพียงแค่การบริจาคจากกลุ่มมวลชนดังกล่าวแล้ว ทุกกิจกรรมที่มีการจัดขึ้นในพื้นที่ก็มีการตั้งตู้รับบริจาค ภายใต้แนวคิด “เศษสตางค์ของท่านสามารถต่อลมหายใจให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้” ซึ่งผลตอบรับที่ออกมาเป็นที่น่าภาคภูมิใจมาก เพราะทุกคนร่วมกันเจียดเงินแบ่งปันเงินเข้ากองทุนนี้จนทุกวันนี้มียอดเงินอยู่ที่ราว 50,000 บาท เมื่อมีเงินในกองทุนจำนวนที่มากขึ้นแล้ว ทุกวันพุธจะมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนทั้ง 178 คน โดยจะให้การดูแลช่วยเหลือในทุกด้านที่ขาดหายไปตั้งแต่การซ่อมแซมบ้าน การสร้างบ้านหลังใหม่ให้ การพัฒนาพื้นที่รอบบ้าน ระบบสาธารณูปโภคที่ชำรุดเสียหายก็จะทำการเปลี่ยนหรือซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

สำหรับทีมที่ออกไปช่วยเหลือจะมีเจ้าหน้าที่ของ อบต.หาดสองแคว เยาวชน จะร่วมมือกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จนทุกวันสามารถพัฒนาขึ้นมากถึงขั้นสร้างบ้านให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้แล้ว ล่าสุดในจำนวน 178 รายได้รับการช่วยเหลือไปแล้วมากกว่า 40 รายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีกราว 130 รายเศษ ก็จะให้การช่วยเหลือจนกว่าจะหมดไป ส่วนเงินที่อยู่ในกองทุนแม้จะใช้ไปแต่ก็จะมีเงินเข้ามาเติมตลอดจากการร่วมกันบริจาคของคนในชุมชน และผลจากการดำเนินการทำให้เรื่องนี้รู้ถึงหน่วยงานราชการนำเงินมาช่วยสนับสนุน บางหน่วยก็บริจาคเป็นสิ่งของเพื่อนำมาปรับปรุงก่อสร่างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาส

แต่สิ่งที่ได้มากกว่านอกจากได้ให้ชีวิตกับกลุ่มคนด้อยโอกาสแล้ว สิ่งที่ได้คือทำให้คนในชุมชนรู้จักคำว่าเสียสละให้กับคนที่ด้อยกว่า การรู้จักเสียสละเงินทองเพียงไม่กี่บาทก็สามารถทำให้คนที่ด้อยโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และที่ก่อเกิดขึ้นในชุมชนคือ “ความสามัคคี” ทั้งผู้ให้และผู้รับก็สุขใจด้วยกันทั้งคู่.

คิดดี...เฮ็ดดี ชุบชีวิตผู้ด้อยโอกาสหาดสองแคว