posttoday

พระนิสิตใจงามสอนภาษาล้านนาโบราณนักเรียน

22 กรกฎาคม 2558

พระนิสิตสอนภาษาล้านนาให้นักเรียน"รองอธิการฯ" ชูสืบทอดภาษาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย

พระนิสิตสอนภาษาล้านนาให้นักเรียน"รองอธิการฯ" ชูสืบทอดภาษาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย

เมื่อวันที่22ก.ค.58 พระเกรียงไกร วิสุทธิญาโณ ไชยลังกา พระนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)วิทยาเขตพะเยา ชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาเอกภาษาไทย อายุ 24 ปี ซึ่งมีความรู้นำภาษาล้านนา หรือภาษาเหนือ เข้าทำการสอนให้กับนักเรียนในชั้นระดับมัธยมศึกษา ของโรงเรียนเทศบาล 3 ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นการสืบทอด วัฒนธรรมทางภาษาพื้นเมืองล้านนาที่งดงามและมีคุณค่ามิให้สูญหายไป
 
พระเทพญาณเวที รองอธิการบดี มจร.วิทยาเขตพะเยา กล่าวว่า ทาง มจร.วิทยาเขตพะเยา ได้ดำเนินการโครงการอบรมให้ความรู้ด้านภาษาล้านนาแก่นิสิตและบุคลากรขององค์กร ซึ่งมีทั้งการอบรมการเรียนรู้ภาษาล้านนา และการศึกษาดูงานสถาบันการศึกษาที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องภาษาล้านนาในภาคเหนือ โดยมีวิทยากรผู้รู้มาอบรมตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา ในโครงการดังกล่าวนิสิตทั้งพระและฆราวาสได้เรียนรู้การเขียนและอ่านภาษาล้านนา เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ได้ คือ ความร่วมมือหนึ่งระหว่าง มจร.วิทยาเขตพะเยา กับสถาบันการศึกษาภายในจังหวัดพะเยา
 
พระราชปริยัติ ผู้อำนวยการ(ผอ.)สำนักวิชาการ มจร.วิทยาเขตพะเยา กล่าวว่า พระเกรียงไกร ได้บวชเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปี ถึงปัจจุบันรวม 12 พรรษา เป็นพระนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ปี 4 คณะครุศาสตร์  สาชาวิชาเอกภาษาไทย   ซึ่งมีความสามารถเขียนและอ่านภาษาพื้นเมืองล้านนาและภาษาขอมได้อย่างแตกฉาน ขณะนี้ได้ทำการฝึกสอนอยู่โรงเรียนเทศบาล 3 โดยเอาความคิดจากการมีความรู้ด้านภาษาพื้นเมืองโบราณล้านนาเอามาสอนนักเรียนเพื่อจะได้เป็นการสืบทอดภาษาให้คงอยู่มิให้สูญหาย
 
ด้านพระเกรียงไกร กล่าวว่า  การนำภาษาพื้นเมืองล้านนาโบราณมาสอนเนื่องจากปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่คุ้นเคยกับภาษาพื้นเมืองที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งเป็นภาษาที่มีความงดงามและเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมของคนล้านนา หากไม่มีการสืบสานและถ่ายทอดเกรงว่าจะสูญหายไป ดังนั้นตนเองในฐานะที่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้มา จึงได้มีถ่ายทอดให้กับเยาวชนนักเรียนนักศึกษาในการที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นการสืบทอดไม่ให้วัฒนธรรมทางภาษาพื้นเมืองสูญหายไป
 
นายอำนวย สุขแปง ผู้บริหารโรงเรียนเทศบาล 3 ทม.พะเยา กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือมีเอกสารที่เป็นคัมภีร์ใบลานหรือปั๊บสาโบราณที่เขียนด้วยอักษรพื้นเมืองล้านนาจำนวนมาก หากสามารถที่จะอ่านออกเขียนได้ก็จะมีประโยชน์ ดังนั้นทางโรงเรียนมีนโยบายด้านการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาพื้นเมือง ซึ่งเป็นภาษาที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของชาวล้านนา โดยเฉพาะภาษาเขียนที่มีความสวยงาม ในอนาคตมีแผนงานที่จะดำเนินการพัฒนาให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเล่าเรียนและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป.