posttoday

‘ดอกไม้สด’นักประพันธ์ลือนาม

07 มิถุนายน 2558

ดอกไม้สดที่ผู้เขียนจั่วหัวไว้ เป็นชื่อนักประพันธ์สตรีลือนามคนหนึ่งของแผ่นดินไทยที่มีผลงานเขียน

โดย...ส.สต

ดอกไม้สดที่ผู้เขียนจั่วหัวไว้ เป็นชื่อนักประพันธ์สตรีลือนามคนหนึ่งของแผ่นดินไทยที่มีผลงานเขียนตั้งแต่ปี 2472-2492 ผลงานแต่ละเล่ม แต่ละเรื่องอยู่ในระดับที่กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา และบางเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

สำนักหอสมุดแห่งชาติ ตั้งชื่อห้องประชุม ดอกไม้สด เพื่อเป็นที่ระลึก โดยมีภาพเขียนรูปเหมือน 1 รูป ติดตั้งไว้พร้อมกับผลงานที่เก็บไว้โชว์ในตู้หนังสือที่อยู่ในห้องประชุมนั้น ทั้งนี้ เพราะทายาทของท่านมอบลิขสิทธิ์งานประพันธ์ทั้งหมดให้เป็นของสำนักหอสมุดแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเรื่องการประชุม สภาบรรณารักษ์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 16 ในห้องประชุมดอกไม้สดนี้ เป็นเหตุให้ผู้เขียนสะดุดตาจึงต้องเขียนถึงนักเขียนสตรีลือนามท่านนี้ ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงแล้วเพื่อขจัดความเข้าใจผิดบางท่านที่ได้ยินชื่อห้องประชุมก็เข้าใจว่าเป็นชื่อดอกไม้

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีดอกไม้สด เป็นนามปากกาของ ม.ล.บุปผา (กุญชร) นิมมานเหมินท์ ที่มีชีวิตระหว่างวันที่ 17 ก.พ. 2448-17 ม.ค. 2506

‘ดอกไม้สด’นักประพันธ์ลือนาม

 

เป็นธิดาลำดับที่ 31 ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และหม่อมมาลัย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2448 ปีมะเส็ง ที่วังบ้านหม้อ เป็นพี่สาวร่วมบิดากับ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักเขียนชาวไทย ที่มีนามปากกาว่า บุญเหลือ

หม่อมมารดากับท่านพ่อของท่านแยกทางกัน เมื่อท่านอายุ 4 ขวบ ม.จ.หญิงชมในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงได้ขอไปเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง

ด้วยความที่ ม.จ.หญิงชมเป็นผู้ยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ส่งผลให้ดอกไม้สดเป็นคนที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาตั้งแต่เล็กๆ จนอายุ 13 ปี ท่านกลับมาอยู่บ้าน และเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ทางภาษาฝรั่งเศส

ท่านเริ่มต้นอาชีพนักเขียน โดยเริ่มเขียนบทละคร “ดีฝ่อ” และเริ่มเขียนหนังสือในปี 2472 เมื่ออายุ 20 ปี เรื่องแรก คือ “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยเขษม ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2472

‘ดอกไม้สด’นักประพันธ์ลือนาม

 

งานเขียนของดอกไม้สดถือได้ว่าเป็นนิยายกึ่งพาฝันกึ่งสมจริงรุ่นบุกเบิก งานส่วนใหญ่ของท่านจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องความรักและการหาคู่ของคนหนุ่มสาว ท่านเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับตัวละครฝ่ายหญิงมาก

ผลงานในระยะแรกของดอกไม้สดจะมีความเป็นโรแมนซ์ แต่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของท่านในฐานะที่เป็นราชตระกูลที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในวัง นวนิยายของท่านจะมีลักษณะเรียลลิสติกมากขึ้น เช่น เรื่อง “ผู้ดี”

ในปี 2491 ท่านมีผลงานเรื่องสั้น ชุด “พลเมืองดี” ออกมา และในปี 2492 ท่านเขียนเรื่อง “วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย” ได้เพียงสองบทก็ต้องหยุดไปเพราะปัญหาสุขภาพ ในปี 2497 ท่านเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศออสเตรเลีย และสมรสกับ ศ.สุกิจ นิมมานเหมินท์ (ผู้เขียน “คนแซ่หลี”) ในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน ที่ซานฟรานซิสโก

ต่อมาปี 2502 ติดตามสามีไปประเทศอินเดีย ที่ไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี

‘ดอกไม้สด’นักประพันธ์ลือนาม

 

ดอกไม้สด ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2506 ด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย อายุ 58 ปี

ดอกไม้สดมีผลงานนวนิยายทั้งสิ้น 12 เรื่อง, เรื่องสั้น 20 เรื่อง และนวนิยายที่เขียนไม่จบอีก 1 เรื่อง รวมพิมพ์เป็นเล่มทั้งสิ้น 14 เล่ม

1.ศัตรูของเจ้าหล่อน (2472)2.นิจ (2472) 3.นันทวัน (2472)4.ความผิดครั้งแรก (2473) 5.กรรมเก่า (2475) 6.สามชาย (2476) (เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนอยู่สมัยหนึ่ง) 7.หนึ่งในร้อย (2477) (อยู่ใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน) 8.อุบัติเหตุ (2477) 9.ชัยชนะของหลวงนฤบาล (2478) 10.ผู้ดี (2480) (กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาชั้นมัธยมศึกษาถึงปัจจุบัน) 11.นี่แหละโลก (2483) (ได้รับรางวัลนวนิยายของชาวเอเชีย แล้วได้ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น) 12.วรรณกรรมชิ้นสุดท้าย (2492) (แต่งไม่จบ) 13.บุษบาบรรณ (รวมเรื่องสั้น สมาคมนักประพันธ์ออสเตรเลียนำเรื่องสั้นชื่อ “พลเมืองดี” ไปตีพิมพ์ในหนังสือเล่มพิเศษชื่อ “SPAN” บางครั้งเรื่องนี้นำไปพิมพ์ในชุด “พู่กลิ่น”) 14.พู่กลิ่น (รวมเรื่องสั้น เดิมใช้ชื่อว่า “เรื่องย่อย”)