posttoday

หัวคะแนนผวา!ไข้โป้งหลังคืนหมาหอน

10 กรกฎาคม 2554

ความเสี่ยงของหัวคะแนนใหญ่ ใช่จะมีเพียงหลังเลือกตั้ง แต่ชีวิตของหัวคะแนนแขวนอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา

ความเสี่ยงของหัวคะแนนใหญ่ ใช่จะมีเพียงหลังเลือกตั้ง แต่ชีวิตของหัวคะแนนแขวนอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา

โดย...ทีมข่าวภูมิภาค

สถานการณ์หลังเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหมาย การแข่งขันที่ดุเดือด ทำทุกวิถีทางเพื่อชัยชนะ ย่อมไม่จบลงง่ายหลังรู้ผลแพ้ชนะ การเช็กบิลเกิดขึ้นตามมา หัวคะแนนในหลายพื้นที่เริ่มผวา นอนตาไม่หลับ หลังผลคะแนนพลาดเป้า ส่งผลให้ผู้สมัครเจ้าของเงินต้องวืด กลายเป็น สส.สอบตก โดยกองปราบปรามได้ขึ้นบัญชี 8 จังหวัดเฝ้าระวังพิเศษ ซึ่งอาจเกิดเหตุรุนแรงแก่บรรดาหัวคะแนน

พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการกองปราบปราม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ติดตามสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า พื้นที่ซึ่งอาจเกิดเหตุรุนแรง ได้แก่ จ.สระบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งอีกหลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่างและภาคกลาง

เมื่อฤดูกาลเลือกตั้งมาถึง ผู้ที่เนื้อหอมมากที่สุดคือบรรดา “หัวคะแนน” เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะกำหนดว่าใครจะได้รับชัยชนะ ได้รับเลือกเข้าสภา แต่หลังผลการนับคะแนนออกมา บรรดาคนเนื้อหอมเหล่านี้ก็อาจต้องนอนผวา หากผลคะแนนที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้า

หัวคะแนนจะแบ่งเป็นหัวคะแนนใหญ่ ซึ่งใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้สมัคร ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะมีเครือข่ายที่เรียกว่าหัวคะแนนรายย่อย ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น

หัวคะแนนผวา!ไข้โป้งหลังคืนหมาหอน

หัวคะแนนในพื้นที่ภาคกลางคนหนึ่ง เปิดเผยว่า การซื้อเสียงในสมัยก่อน หัวคะแนนจะหารายชื่อชาวบ้านที่สามารถควบคุมได้ จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเพื่อนำไปเบิกเงินค่าหัวกับผู้สมัคร แต่ปัจจุบันไม่ทำในลักษณะนี้แล้ว เนื่องจากคุมเสียงยาก คะแนนมีความคลาดเคลื่อนสูง ไม่เป็นไปตามเป้า และผู้สมัครเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ปัจจุบันผู้สมัครและทีมงานหรือหัวคะแนนรายใหญ่จะพิจารณาว่า ในแต่ละพื้นที่หัวคะแนนรายย่อยสามารถคุมเสียงใครได้บ้าง โดยมองความสัมพันธ์เครือญาติ เพื่อนบ้าน โดยจะซอยหัวคะแนนออกเป็นรายย่อยให้มากที่สุด แต่ละคนจะรับผิดชอบชาวบ้าน 30-50 คนเท่านั้น เนื่องจากสามารถควบคุมให้ผลคะแนนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผิดพลาดไม่มากนัก

หัวคะแนนใหญ่จึงมีความเสี่ยงในการถูกคิดบัญชีสูงมาก เนื่องจากเป็นคนคุมเงินจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็คุมหัวคะแนนย่อยอีกหลายๆ คน การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง หากผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความเสี่ยงของหัวคะแนนใหญ่ที่จะถูกคิดบัญชีจึงมีสูง

เมื่อผลคะแนนไม่เข้าเป้าตามที่ได้จ่ายเงินรายหัวไปให้แล้ว ผู้สมัครหรือหัวคะแนนใหญ่จะสอบถามกับหัวคะแนนรายย่อยว่าทำไมผลคะแนนถึงไม่เข้าเป้า ซึ่งก็แทบจะส่วนใหญ่ที่ตอบว่า “จ่ายเงินไปแล้ว เขาไม่เลือก” จากนั้นผู้สมัครหรือหัวคะแนนรายใหญ่ก็จะส่งทีมลงพื้นที่ซึ่งหัวคะแนนรายย่อยคนนั้นดูแลอยู่ โดยจะเข้าไปพูดคุยหาข้อมูลเชิงลึกว่าชาวบ้านได้รับเงินจากหัวคะแนนรายย่อยหรือไม่ เพื่อตามเช็กบิลต่อไป หนักเบาแล้วแต่พฤติการณ์อมหรือไม่อม แต่อย่างน้อยหากเป็นการไร้ประสิทธิภาพ หัวคะแนนใหญ่ก็จะไม่มาเรียกใช้อีก จะหาหัวคะแนนรายย่อยคนอื่นแทน

หัวคะแนนรายใหญ่จะมีการกินค่าหัวคิวมาก และลดหลั่นกันไปตามลำดับความสำคัญของหัวคะแนนรายย่อย เป็นการกินหัวคิวกันเป็นทอดๆ ผู้สมัครจ่ายค่าหัวชาวบ้านมาคนละ 1,000 บาท เมื่อผ่านหัวคะแนนมาหลายคนกว่าจะมาถึงชาวบ้านอาจเหลือเพียง 200-300 บาทเท่านั้น

ฉะนั้น ผู้ที่เสียชีวิตจากไข้โป้งหลังเลือกตั้ง เกือบจะทั้งหมดเป็นหัวคะแนนใหญ่ เนื่องจากรับเงินมาเป็นจำนวนมากและกินค่าหัวคิวไปแล้ว

หัวคะแนนในภาคอีสานรายหนึ่งซึ่งอยู่ในวงการเลือกตั้งมานาน เล่าว่า สมัยก่อนนั้นเน้นแจกเป็นสิ่งของ แต่ในปัจจุบันแจกเป็นเงินซึ่งง่ายกว่ามาก ไม่ต้องแบกหามอะไร มีเพียงกระเป๋าใส่เงิน 1 ใบ ก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งผู้รับก็ชื่นชอบมากกว่า

“เริ่มแจกตั้งแต่สมัยขวดน้ำปลาตรานักการเมือง สมัยนั้นใช้น้ำปลาที่คุณภาพไม่ดีราคาถูก นำบัตรหมายเลขของผู้สมัครมารัดหนังยางติดกับขวดแล้วไปวางตามบ้าน”

เขาเล่าวิธีการว่า ก่อนแจกเงินจะเริ่มสำรวจรายชื่อเป้าหมายซึ่งต้องไว้ใจได้ ไม่หักหลัง รับเงินแล้วไปแจ้งเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ยอดก็จะแจ้งแก่ผู้สมัครเพื่อรับเงินและเริ่มยิง

“การยิงนัดแรกเป็นการยิงก่อนการลงคะแนน สมัยก่อนใช้วิธีนำเงินใส่กระเป๋าแล้วไปให้ตามบ้าน แต่สมัยนี้ใครโง่หิ้วไปมีหวังถูกหัวคะแนนฝ่ายตรงข้ามแจ้งจับแน่ๆ ยุคนี้ใช้วิธีนัดเวลาให้เขามารับเงินที่บ้านเรา แล้วจดยอดคนที่มารับ เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่นั้นเราจะได้กี่คะแนน และสะดวกในการตรวจสอบผลนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เช่น เราแจกไป 400 คน คะแนนต้องได้ไม่ต่ำกว่า 400 นี่คือข้อเสียของการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ทำให้หัวคะแนนและผู้สมัครทราบว่าจุดไหนแจกแล้วเข้าเป้าบ้าง ทำให้ชาวบ้านที่รับเงินจำเป็นต้องลงคะแนน เพราะเกรงจะเกิดปัญหาในภายหลังได้”

แม้จะเปิดฉากยิงก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะมั่นใจว่านอนมาแน่ หากคู่แข่งก็ยิงเช่นกัน ก็จำเป็นต้องยิงตาม เช่น จ่ายก่อน 300 แต่คู่แข่งจ่ายให้ 500 ซึ่งมากกว่า ผู้สมัครรายแรกก็จะสั่งหัวคะแนนยิงตาม ซึ่งต้องจ่ายให้มากกว่าคู่แข่งอย่างน้อยๆ 50 บาท

แต่การจ่ายเงินซื้อเสียงใช่จะจบง่ายๆ เพียงเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่ากุมสภาพคะแนนเสียงในพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ ผ่านเข้าสู่สภาได้ชัวร์ๆ ผู้สมัครจึงใช้วิธีตั้งรางวัล เช่น หากสอบผ่าน ก็จะแจกตอบแทนคะแนนเสียง เรียกว่ายิงครั้งสุดท้าย

“หากคะแนนเข้าเป้าและผู้สมัครได้รับเลือกเป็น สส. ก็จะมีการตอบแทนให้ชาวบ้าน ซึ่งเงินที่จะจ่ายให้นั้นสูงถึงหลักพันบาท”

ค่าตอบแทนหัวคะแนนมีสองส่วน ส่วนแรก เป็นค่าแรงที่ผู้สมัครให้โดยตรง หัวคะแนน 1 คน รับผิดชอบ 100 คะแนน จะได้ค่าเหนื่อยประมาณ 5,000 บาท ขณะเดียวกันเมื่อรับเงินมาแล้ว หัวคะแนนก็จะหักหัวคิวไว้ก่อนจ่ายให้ชาวบ้าน เช่น ผู้สมัครสั่งจ่ายคนละ 500 บาท หัวคะแนนก็จ่ายให้ 400-450 บาท แต่หากใครหักหัวคิวไว้เยอะกว่านี้ ถ้าผลออกมาแล้วไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็หมายถึงการถูกตรวจสอบและเช็กบิล ซึ่งอาจถึงชีวิต

ความเสี่ยงของหัวคะแนนใหญ่ ใช่จะมีเพียงหลังเลือกตั้ง อันที่จริงชีวิตของบรรดาหัวคะแนนแขวนอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะทุกฝ่ายก็อยากได้เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมาใช้งาน แต่หากถูกปฏิเสธ ซ้ำยังช่วยเหลือฝ่ายตรงข้าม ก็อาจจำเป็นต้องรีบกำจัดมิให้กลายเป็นอุปสรรค

“หัวคะแนนรายใหญ่ไม่อยากรับเงินสองฝ่าย เพราะจะมีความเสี่ยงในชีวิตสูง ผู้ที่กล้ารับเงินสองทางจะเป็นหัวคะแนนย่อยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากว่าการเลือกตั้งมีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ซื้อเสียงแบบเขตให้คนหนึ่ง ส่วนการเลือกพรรคก็ซื้อให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีปัญหา แต่ในอนาคตน่าจะไม่ยอมกันแน่ๆ”

ประชาธิปไตยใต้ระบบหัวคะแนน จึงมีบทสรุปซ้ำซาก ที่ต้องแลกด้วยชีวิต