posttoday

ศึกตลาดจาก "ปัฐวิกรณ์" ถึง "คลองเตย"เงินทองไม่ใช่พี่น้องกัน

10 กุมภาพันธ์ 2553

เงื่อนปมและผลประโยชน์ทางธุรกิจในตลาดคลองเตยได้ลุกลามเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานบานปลายมาสู่การใช้ความรุนแรง

เงื่อนปมและผลประโยชน์ทางธุรกิจในตลาดคลองเตยได้ลุกลามเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานบานปลายมาสู่การใช้ความรุนแรง

โดย - ธนก บังผล

มรดกหมื่นล้านที่นำมาสู่อาถรรพ์มรณกรรมของตระกูล “ธรรมวัฒนะ” มีจุดเริ่มต้นมาจากการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกิจการธุรกิจตลาด “ยิ่งเจริญ”

เช่นเดียวกับเงื่อนปมและผลประโยชน์ทางธุรกิจในตลาดคลองเตย ที่ลุกลามเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน บานปลายมาสู่การใช้ความรุนแรง

ซ้ำรอยความขัดแย้งของพี่น้องที่แย่งพื้นที่ดูแลตลาด หลังจากที่ "เฮียโต" นายสมชาย สิทธิโชค หรือที่รู้จักกันในนาม "โต คลองเตย" อดีตเจ้าของตลาดคลองเตย 3 และ 4 เสียชีวิตลงอย่างปริศนา

กว่า 18 ปีที่ "เฮียโต" บริหารจัดการตลาดคลองเตย 3 และ 4 จนรุ่งเรือง มีเงินหมุนเวียนปีละ 400-500 ล้านบาท การเสียชีวิตของพี่ชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 16 คน จึงถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ศึกตลาดจาก "ปัฐวิกรณ์" ถึง "คลองเตย"เงินทองไม่ใช่พี่น้องกัน

กล่าวกันว่า พื้นที่สำหรับการเปิดประมูลตลาดคลองเตยใหม่ประมาณ 10 ไร่เศษ รวม 4 ตลาดเก่าในปัจจุบัน โดยได้ให้บริษัทที่ปรึกษาประเมินมูลค่าราคาที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ 1.5 แสนบาทต่อตารางวา รวมราคากลางอยู่ที่ 613 ล้านบาท

เมื่อบวกกับการพัฒนาใหม่แล้วคาดว่าจะมีมูลค่า 700 – 800 ล้านบาท ผู้ได้รับสัมปทานต้องให้ผลตอบแทนรายปีระบุไว้ในแบบคงที่ คือ 7% ต่อปี ตลอดอายุสัญญาการได้รับสัมปทาน 10 ปี ส่วนค่าธรรมเนียม เปิดช่องว่างให้ผู้ร่วมประมูลเสนอเข้ามาเอง เมื่อเรียบร้อย จึงประกาศประกวดราคา มีผู้ซื้อซองรวม 6 ราย

ผลของการประกวดซองราคา พบว่า บริษัท ลีเกิ้ล โปรเฟสชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลที่ให้ผลตอบแทนกับการท่าเรือฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปี รวม 631 ล้านบาท จากเดิมที่การท่าเรือฯ เคยได้รับจากผู้ได้รับสัมปทานเดิม 3 รายอยู่ที่ 11.2 ล้านบาทต่อปี ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมคาดว่าจะได้รับรายได้จากการให้เช่าแผงต่อไม่น้อยกว่า 180 – 250 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมรายได้จากผู้เช่าที่ไม่มีแผงเป็นของตัวเองด้วย

ทั้งนี้ พื้นที่ตลาดคลองเตยที่เดิมมีผู้ประกอบการ 3 รายเป็นผู้ดูแลอยู่นั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ตลาด โดยตลาด 1 มีจำนวน 180 แผง ตลาด 2 มีจำนวน 430 แผง ตลาด 4 มีจำนวน 700 แผง ทางลีเกิ้ลฯ ยืนยันว่า จะคิดค่าเช่าไม่เกิน 300 บาทต่อวัน โดยขณะนี้ผู้ประกอบการ 2 รายได้คืนพื้นที่มาแล้ว 2 ส่วน เหลือเพียง 1 ราย ที่ยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด ดูแลตลาด 2 พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ซึ่งการท่าเรือฯ และลีเกิ้ล อยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องศาลขับไล่

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุด มาจากปมพื้นที่ที่ถูกส่งคืนมานั้น บางส่วนเป็นการส่งคืนเฉพาะในนามบริษัทเท่านั้น แต่ผู้คุมพื้นที่เดิมกลับยังไม่ยอมคืนพื้นที่อย่างแท้จริง มีการเก็บค่าเช่าต่อเนื่อง ซึ่งแม่ค้า และพ่อค้าบางรายจ่ายล่วงหน้าให้กับเจ้าของเดิมไปแล้ว ทั้งที่ผู้เช่าเดิมทราบดีว่าจะหมดสัญญาสัมปทานกับการท่าเรือฯ และไม่มีสิทธิเก็บเงินค่าเช่าดังกล่าวแล้ว

สำหรับข้อเสนอของผู้เช่าพื้นที่ที่ต้องการให้การท่าเรือฯ ยกเลิกสัญญากับลีเกิ้ลฯ ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่นั้น ต้องยืนยันว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงยุติธรรมเองก็เคยชี้แจ้งแล้วว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะลีเกิ้ลฯ ได้จ่ายผลตอบแทนบางส่วนให้กับการท่าเรือฯ แล้ว อีกทั้ง การยกเลิกสัญญาก็จะทำให้การท่าเรือฯ ได้รับความเสียหายอย่างมากด้วย

คล้ายคลึงยิ่งนัก กับปมปัญหาเม็ดเงินมหาศาล ในกรณี "ตลาดยิ่งเจริญ" ของตระกูล "ธรรมวัฒนะ"

และเมื่อ นางสุนัทที เนื่องจำนง นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับพันล้าน ถูกลอบยิงเสียชีวิตอย่างอุกอาจ

เจ้าหน้าที่ตำรวจเผยประเด็นความขัดแย้งที่มีน้ำหนัก ว่าหนึ่งในหลายๆปม มีเรื่องของความขัดแย้งในครอบครัว "มรดกกงสีตลาดบ้านบึง" ซึ่งมูลค่ามหาศาล มากกว่าการฟ้องร้องทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆที่คาดว่าจะนำไปสู่การสังหารโหด

โดยข้อมูลจากทีมสืบสวนทุกหน่วยที่ทำคดีต่างมุ่งเป้าไปที่ปมขัดแย้งกับคนในครอบครัวจนมีการขู่ฆ่าในที่สุด

ทันทีที่ “ตลาดปัฐวิกรณ์” ถูกลอบวางระเบิด ประเด็นความขัดแย้งเรื่องเงินๆทองๆ ในครอบครัว จึงเสมือนตอกย้ำให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
ขุมทรัพย์ธุรกิจตลาดระดับ 1,500 ล้านบาท ระหว่างนายภูเทพ สิทธิถาวร เจ้าของบริษัท ปัฐวิกรณ์ จำกัด กับนางวาสนา ธาระวานิช เจ้าของบริษัท โชคชัยทรัพย์ทวี จำกัด ได้กลายเป็นเงื่อนปมหนังเรื่องยาว เรื่องใหม่ ที่ซ้ำรอยวนเวียนไปมาอีกครั้ง

เฉพาะเครือข่ายธุรกิจตลาดของนายภูเทพ ทุนจดทะเบียน 21.5 ล้าน ส่วนนางวาสนา นอกจากตลาดแล้ว ยังประกอบธุรกิจขายน้ำมันเชื้อเพลิง รวมเม็ดเงินได้มากกว่า 2,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ความขัดแย้งในตลาดปัฐวิกรณ์ ระหว่างบริษัท ปัฐวิกรณ์ จำกัด และ บริษัท โชคชัยทรัพย์ทวี จำกัด เกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ในโฉนดที่ดินนั้น ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลฎีกา โดยที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายได้มีปัญหากระทบกระทั่งกันตลอด

เหตุเกิดเมื่อเวลา 04.00น. วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมือมืดลอบปาระเบิดลูกเกลี้ยง M26 เข้าไปภายในอาคารดุสิตานวมินทร์คลินิกเวชกรรม ซึ่งอยู่บริเวณหน้าตลาดปัฐวิกรณ์ ปากซอยนวมินทร์ 72 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม.จนพังยับเยิน
แถมระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานและเก็บกู้วัตถุระเบิด เข้าเก็บหลักฐานในจุดเกิดเหตุ ยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 50 คน อ้างเป็นทีมงานนายทหารยศพลโท รับคำสั่งจาก บริษัท ปัฐวิกรณ์ ให้เข้ามาเคลียร์พื้นที่ จนปะทะคารมกับกลุ่ม บริษัท โชคชัยทรัพย์ทวี

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สันนิษฐานว่า การลอบวางระเบิดดังกล่าว อาจจะเกิดมาจากเรื่องข้อพิพาทกันอยู่ระหว่างเครือญาติในการ ครอบครองสิทธิ์ที่ดินในเขตพื้นที่ตลาดปัฐวิกรณ์ ซึ่งมีการตั้งบริษัทขึ้นมา 2 บริษัท คือ บริษัท โชคชัยทรัพย์ทวี จำกัด ของนางวาสนา น้องสาว กับ บริษัทปัฐวิกรณ์ จำกัด ที่มีนายภูเทพ ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นผู้ก่อตั้งตลาดปัฐวิกรณ์

จนกระทั่งมีการฟ้องร้องขึ้นศาลกันมาหลายคดี ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างชั้นฎีกา และมีการแจ้งความกันไปมาไม่ต่ำกว่า 20 คดี ที่สน.บึงกุ่ม

ซึ่งขณะนี้มีการพิพาทกันทั้งหมด 49 ไร่ โดยเป็นของบริษัท โชคชัยฯ เพียงแค่ 115 แปลง จากทั้งหมด 272 โฉนด เหลือที่ยังพิพาทกันอยู่ 157 แปลง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจพี่น้องในตลาดปัฐวิกรณ์ นั้น ถือว่ามีมาตั้งแต่ปี 2538 และทำท่าจะบานปลาย เช่นเดียวกับกรณีของตลาดยิ่งเจริญ และตลาดบ้านบึง

ตราบใดที่เงินทองไม่ใช่พี่น้องกัน ความขัดแย้งในธุรกิจตลาดซึ่งมีมูลค่าสูงก็จะยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ 

เมื่อลงรายละเอียดในธุรกิจประเภทให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทตลาด พื้นที่ หรือพื้นที่โฆษณา เช่นเดียวกับบริษัท ปัฐวิกรณ์ จำกัด ยังพบอีก 10 บริษัท

โดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจแบบกงสีพี่น้องที่มีมูลค่ามากกว่าร้อยล้าน มีที่น่าสนใจ เช่น บริษัทเอกเกษม สมบัติ จำกัด ทำกิจการให้เช่าอสังหาฯ

บริษัท เอกเกษม สมบัติ เป็นธุรกิจครอบครัว “พูลวรลักษณ์” ที่มีเครือข่ายทั้งหมด 29 บริษัท มากกว่าตลาดปัฐวิกรณ์หลายเท่าตัว
หนึ่งในเครือข่ายคือบริษัท พูลวรลักษณ์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้าน ประกอบธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจที่เข้าข่ายบริหารจัดการโดยครอบครัวยังมี บริษัท ตลาดวัชรพล จำกัด ที่ประกอบกิจการ “ตลาดวัชรพล” จดทะเบียน 20 ล้านบาท เป็นธุรกิจของตระกูล “วรสีหะ”

นายพรเลิศ ถือหุ้นใหญ่ ที่เหลือคือ อัญชลี, จินตนา และนายมีเอก วรสีหะ ถือหุ้นลดหลั่นกันลงมา

ซึ่งแม้การทำธุรกิจระหว่างพี่น้องหรือคนในครอบครัวอีก มูลค่ามหาศาลและผลประโยชน์จะทำให้เกิดความแตกแยกทางสายเลือด

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเลือกจบแบบโศกนาฏกรรมเสมอไป