posttoday

บัตรเครดิตชาวนาโดนใจเกษตรกร

26 พฤษภาคม 2554

เอแบคเผยผลสำรวจกลุ่มเกษตรกรไทย/ประมงถือบัตรเครดิตน้อยสุดเกินร้อยละ80.9ไม่มีเงินออม ชี้บัตรรูดปรื๊ดเป็นความหวังลดหนี้นอกระบบ 

เอแบคเผยผลสำรวจกลุ่มเกษตรกรไทย/ประมงถือบัตรเครดิตน้อยสุดเกินร้อยละ80.9ไม่มีเงินออม ชี้บัตรรูดปรื๊ดเป็นความหวังลดหนี้นอกระบบ 

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลวิจัย ดัชนีความรู้สึกผู้บริโภคประจำไตรมาสที่ 1/2554 กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 2,453 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี  ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี  กาฬสินธุ์  เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ระหว่างวันที่  15-25 พ.ค. 2554 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 85.5 ยังไม่มีบัตรเครดิต ในขณะที่ตัวอย่างร้อยละ 14.5 มีบัตรเครดิต

เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงเป็นกลุ่มที่มีการถือครองบัตรเครดิตน้อยที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ในขณะที่ตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ เป็นอาชีพที่มีการถือครองบัตรเครดิตมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 35.2

เมื่อจำแนกตามรายได้ส่วนตัวเฉพาะตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงนั้น พบว่า ตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท และระหว่าง 5,001-10,000 บาท มีสัดส่วนการถือครองบัตรเครดิตใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 2.1 และ 2.9 ตามลำดับ

ขณะที่ ตัวอย่างที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท มีสัดส่วนการถือครองบัตรเครดิตมากกว่า หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 เมื่อถามถึงประเภทบัตรเครดิตที่มีในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.4 มีบัตรเงินสด ร้อยละ 27.1 มีบัตรทอง ร้อยละ 24.3 มีบัตรแพลทตินั่ม และร้อยละ 20.9 มีบัตรเงิน

ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจยังพบว่า ตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงเกินกว่าร้อยละ 80.9 ไม่มีเงินออม ในขณะที่ตัวอย่างเพียงร้อยละ 19.1 มีเงินออม

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า เป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองที่กำลังขายนโยบายบัตรเครดิตชาวนาจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มเกษตรกรอย่างดี เพราะชาวนามีบัตรเครดิตอยู่น้อยมาก และอาจเป็นความหวังว่าจะช่วยลดการเป็นหนี้นอกระบบได้

แต่อาจต้องพิจารณาถึงโอกาสที่จะก่อหนี้สินเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร บัตรเครดิตชาวนาจึงน่าจะเป็นบัตรที่ถูกใช้ในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะสินค้าและบริการด้านการทำการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า จะให้จับจ่ายใช้สอยได้ทุกอย่าง เพราะอาจส่งผลทำให้ “ฉุด” คุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ร่วงมากกว่าช่วยให้ “รุ่ง”