posttoday

อานันท์ พูดเรื่องคึกฤทธิ์ กับการเปิดสัมพันธ์ไทย-จีน (ตอนที่ 2)

01 พฤษภาคม 2554

ช่วง 23 ปี ที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น

ช่วง 23 ปี ที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น

โดย..วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

มีคำสั่งเป็นการภายใน หาทางคลี่คลายอุปสรรคเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูทางการทูตกับจีน ทั้งๆ ที่สงครามในเวียดนามก็ยังไม่เสร็จสิ้น แต่ภาพในอนาคตของความสำคัญและบทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น การติดต่อระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ก็เริ่มมีขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนคณะนักกีฬาเทเบิลเทนนิส แบดมินตัน ฟุตบอล บาสเกตบอล คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แม้แต่การติดต่อขอซื้อน้ำมันดิบในราคามิตรภาพจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น นอกเหนือจากประเทศในยุโรปตะวันตก ในทวีปอเมริกาและแอฟริกาแล้ว รัฐบาลต่างๆ ของประเทศในเอเชียก็เริ่มขับเคลื่อนที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากขึ้น ญี่ปุ่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 29 ก.ย. 2515 ออสเตรเลียในวันที่ 21 ธ.ค. 2515 มาเลเซียในวันที่ 31 พ.ค. 2517 ฟิลิปปินส์ในวันที่ 9 มิ.ย. 2518 สิงคโปร์และอินโดนีเซียเริ่มติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นทางการ แต่โดยที่ทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียยังมีปัญหาภายในประเทศเกี่ยวกับเรื่องคนจีน จึงยังไม่มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วงนั้น

อานันท์ พูดเรื่องคึกฤทธิ์ กับการเปิดสัมพันธ์ไทย-จีน (ตอนที่ 2)

ในขณะเดียวกัน ในเมืองไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐบาล ภายหลังจากที่มีรัฐบาลทหาร และรัฐบาลแบบประชาธิปไตยครึ่งใบติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ก็ได้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2518 และ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) เป็น รมว.ต่างประเทศ

นับเป็นบุญของเมืองไทยที่บังเอิญมีนายกรัฐมนตรีเป็นนักการเมืองอาชีพ ที่นอกเหนือจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี สังคมศาสตร์ ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม แล้วยังเป็นผู้รอบรู้การเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างดี มาเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีความกล้าหาญที่จะตัดสินใจปรับนโยบายการต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เสี่ยงกับความรู้สึกต่อต้านของหน่วยราชการบางหน่วยและประชาชนจำนวนไม่น้อย

ในวันที่ 19 มี.ค. 2518 นายกรัฐมนตรีไทยได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎรว่า ปรารถนาที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยจีน คำแถลงนี้เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทราบถึงนโยบายใหม่ และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้แสดงท่าทีตอบรับสนองคำแถลงนี้

ความปรารถนาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ที่จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน และระหว่างไทยสหรัฐอเมริกา ดังปรากฏในคำแถลงนโยบายในรัฐสภาดังที่ได้กล่าวข้างต้น ได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นจากอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคในช่วงนั้น กล่าวคือ กรณีเรือมายาเกซ

ในบ่ายวันที่ 12 พ.ค. 2518 เรือบรรทุกสินค้าและเวชภัณฑ์สหรัฐอเมริกาชื่อ มายาเกซ ถูกเขมรแดงยึดและลูกเรือถูกจับเป็นตัวประกัน ระหว่างเดินเรืออยู่ในน่านน้ำใกล้ชายฝั่งกัมพูชาเพื่อมายังท่าเรือสัตหีบ สหรัฐอเมริกาจึงส่งนาวิกโยธินจากโอกินาวามายังฐานทัพอู่ตะเภา ในช่วงวันที่ 1415 พ.ค. เพื่อช่วงชิงลูกเรือมายาเกซที่ถูกควบคุมตัวอยู่บนเกาะในเขตกัมพูชา

การปฏิบัติการในการนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่สหรัฐเสียชีวิตไป 41 คน และสูญหายไปจำนวนหนึ่ง รัฐบาลไทยเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องที่สหรัฐได้ใช้ดินแดนไทยเพื่อดำเนินการดังกล่าว และจากการตั้งข้อสังเกต สหรัฐก็ยอมรับว่าใช้ฐานทัพไทยจริง และอ้างว่าได้รับความเห็นชอบจากกองบัญชาการทหารสูงสุดของไทยแล้ว

นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงได้เชิญอุปทูตสหรัฐมาพบเพื่อมอบบันทึกช่วยจำประท้วงอย่างเป็นทางการต่อการกระทำของรัฐบาลสหรัฐ และเรียกร้องให้สหรัฐถอนกำลังดังกล่าวออกไปทันที

ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมว.ต่างประเทศ ได้เชิญอุปทูตสหรัฐมาพบเมื่อวันที่ 17 พ.ค. เพื่อแจ้งเป็นทางการว่า โดยที่มีการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนไทย รัฐบาลไทยจะทบทวนความร่วมมือและข้อผูกพันระหว่างไทยกับสหรัฐทั้งหมด จนกว่าจะมีการถอนทหารสหรัฐออกจากประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ในเดือน พ.ค. 2519 และในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน เดินทางกลับกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ (วิธีการเรียกทูตกลับโดยไม่กำหนดระยะเวลา เป็นวิธีการทางการทูตในการแสดงความไม่พอใจ)

เอกอัครราชทูตไทยเดินทางออกจากกรุงวอชิงตันในวันที่ 19 พ.ค. และกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2518 ต่อมาประธานาธิบดีเจอรัล ฟอร์ด ของสหรัฐอเมริกา รายงานต่อรัฐสภา ชี้แจงถึงความจำเป็นที่สหรัฐต้องดำเนินการโดยฉับพลันและเข้าใจถึงปัญหาที่สร้างให้แก่รัฐบาลไทย สหรัฐย้ำว่ายังคงมีนโยบายที่จะเคารพต่ออธิปไตยและเอกราชของไทย รวมทั้งให้คำมั่นว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความพอใจต่อการแถลงของประธานาธิบดีฟอร์ด

กรณีมายาเกซแสดงให้เห็นชัดถึงความเคารพต่อหลักการ ความเชื่อมั่นในจุดยืน และวิจารณญาณของนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนไทย นอกเหนือไปจากนี้ยังแสดงความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยวที่จะยืนหยัดต่อสู้มิตรประเทศมหาอำนาจ เพื่อรักษาความถูกต้องชอบธรรมอันเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความเป็นตัวของตัวเองของนายกรัฐมนตรีไทยด้วย

จากการที่เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และมีตำแหน่งควบคู่เป็นผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติด้วย เดินทางกลับมาราชการที่กรุงเทพฯ เพราะกรณีเรือมายาเกซ ช่างสอดคล้องกับจังหวะที่ไทยกำลังจะขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ (อ่านต่อฉบับหน้า)