posttoday

ทุกพรรคการเมืองสอบตก ไร้นโยบายการศึกษา-สวัสดีการสังคม

14 เมษายน 2554

เปิดผลประเมินความชัดเจนของนโยบายพรรคการเมือง 5 พรรค ของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยโดย ศ.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เปิดผลประเมินความชัดเจนของนโยบายพรรคการเมือง 5 พรรค ของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยโดย ศ.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับการเมืองไทย เหลือเวลาอีกประมาณครึ่งเดือนก็จะครบกำหนดที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ตามที่ได้ประกาศย้ำเป็นสัญญาประชาคมเอาไว้

ขณะนี้แต่ละพรรคการเมืองก็ตอบรับการเลือกตั้งกันอย่างพร้อมหน้าและได้ต่างเร่งคลอดนโยบายมาซื้อใจประชาชนกันล่วงหน้า เพื่อชิงคะแนนความนิยมให้เห็นกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย

ใช่ว่าจะมีแต่ฝ่ายการเมืองเท่านั้น จะตื่นตัวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะภาคประชาสังคมในฝ่ายวิชาการก็ได้ติดตามจับตามองพรรคการเมืองเช่นกัน ล่าสุดเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย โดย ศ.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดผลการประเมินความชัดเจนของนโยบายพรรคการเมือง 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย และการเมืองใหม่

ศ.จรัส อธิบายว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์ ตรวจสอบนักการเมืองและพรรคการเมือง เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาก่อนการเลือกตั้ง โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รัฐสภา และองค์กรภาคเอกชนที่ตรวจสอบการคอร์รัปชัน ซึ่งจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 22 เม.ย.นี้

สำหรับวิธีการให้คะแนนมาจากการค้นหาคําสําคัญที่ปรากฏในเอกสารนโยบายของพรรคการเมืองที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งทีมงานวิจัยค้นหาได้ในระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. 2554 โดยนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่นำมาประเมินทั้งหมด 6 ด้าน ซึ่งสรุปได้ว่า

1.ทุกพรรคการเมืองไม่มีนโยบายการแก้ปัญหาโอกาสทางการศึกษาอย่างชัดเจน โดยมีคะแนนประเมินความชัดเจนไม่ถึง 50% เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ มีคะแนนประเมินความชัดเจนของนโยบาย 47% เท่ากัน รองลงมา เป็นชาติไทยพัฒนา 40% ทั้งนี้พรรคการเมืองใหม่และภูมิใจไทย มีคะแนนประเมินความชัดเจนของนโยบาย 33% เท่ากัน

2.ปัญหาสวัสดิการสังคม นโยบายของทุกพรรคยังไม่มีความชัดเจน โดยมีค่าเฉลี่ยไม่ถึง 50% เช่นกัน โดยพรรคเพื่อไทยและการเมืองใหม่มีคะแนนความชัดเจนเท่ากัน 33% ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีเพียง 17% ด้านพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ไม่มีนโยบายสวัสดิการสังคม โดยมีคะแนนอยู่ที่ 0%

ทุกพรรคการเมืองสอบตก ไร้นโยบายการศึกษา-สวัสดีการสังคม

3.ปัญหาสุขภาวะ พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ โดยอยู่ในระดับ 50% ส่วนพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนามีระดับความชัดเจนของนโยบาย 42% เท่ากัน รองลงมา พรรคเพื่อไทย 37% ขณะที่พรรคการเมืองใหม่มีระดับความชัดเจนน้อยที่สุด 25%

4.ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และภัยธรรมชาติ พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์มีคะแนนของความชัดเจนเรื่องนโยบายเท่ากัน 67% รองลงมา คือ พรรคการเมืองใหม่ 33% ส่วนพรรคภูมิใจไทย และชาติพัฒนามีคะแนนความชัดเจน 17% เท่ากัน

5.ปัญหาคอร์รัปชัน พบว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองใหม่มีนโยบายมุ่งแก้ปัญหาคอร์รัปชันค่อนข้างชัดเจน โดยมีคะแนนประเมินถึง 67% เท่ากัน เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและชาติไทยพัฒนามีความชัดเจนเท่ากัน 33% ส่วน พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ชัดเจน

สุดท้าย ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่าประชาธิปัตย์มีนโยบายที่ชัดเจนมากกว่าพรรคการ เมืองอื่นๆ ถึง 75% รองลงมาเป็นพรรคการ เมืองใหม่มีคะแนนประเมินความชัดเจนอยู่ที่ 42% พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย 33% เท่ากัน ส่วนชาติไทยพัฒนา 8%