posttoday

ซิ่งท้านรก...Need for Speed

04 เมษายน 2554

ความเร็วมักเป็นสิ่งที่ถวิลหาเมื่ออยู่ในสนามแข่งรถ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มาใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนสาธารณะ

ความเร็วมักเป็นสิ่งที่ถวิลหาเมื่ออยู่ในสนามแข่งรถ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มาใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนสาธารณะ

เขาอาจจะกลายเป็นฆาตกรโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอย่างไร้เจตนา ในทางกลับกัน ความเร็วก็อาจทำให้ใครบางคนกลายเป็นเหยื่อความตายอย่างไม่คาดฝัน

เหตุการณ์ที่ พีรพล ทักษิณทวีทรัพย์ หนุ่มนักศึกษาวัย 19 ปี ขับรถยนต์ปอร์เช่พุ่งชน คำใบ อินทิลาด สาวลาววัย 17 ปี เสียชีวิตอย่างสยดสยองร่างขาดสองท่อนบนถนนสาย 345 เขตเมืองปทุมธานี นับเป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับการใช้ความเร็วบนท้องถนน แม้ว่าเขาจะยอมรับว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ร่างไร้วิญญาณของหญิงสาววัย 17 ปี ฟื้นกลับคืนมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวเธอได้

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา สาววัย 16 ปี ก่ออุบัติเหตุบนทางยกระดับโทลล์เวย์จนทำให้ผู้โดยสารบนรถตู้สาธารณะเสียชีวิตไปอย่างไม่คาดคิดมากถึง 9 คน ก็เกิดจากการใช้ความเร็ว และความไร้เดียงสาของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ซิ่งท้านรก...Need for Speed

ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้ตำรวจนครบาลออกมาเข้มงวดอีกครั้ง กับการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เพื่อตัดตอนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอย่างร้ายแรง หรือ “ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต”

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่รับผิดชอบงานจราจรของเมืองหลวง บอกให้รู้ว่า กฎหมายของบ้านเรากำหนดให้ขับรถบนถนนในเขตเทศบาล หรือในเมืองเพียงแค่ 80 กม./ชม. เท่านั้น ขณะที่ทางหลวงระหว่างเมืองกำหนดไว้ที่ 90 กม./ชม. ส่วนถนนที่ใช้ความเร็วได้สูงสุดคือบนทางด่วนมอเตอร์เวย์ ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กม./ชม. แต่เป็นที่รู้กันไม่มีใครใช้ความเร็วเท่านั้นได้อย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้ตำรวจอะลุ่มอล่วยให้โดยยึดเกณฑ์ไม่เกิน 110 กม./ชม. หากเกินจะถือว่าผิดกฎหมาย ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพราะตำรวจถูกต่อว่ามาโดยตลอด หากจับกุมตามที่กฎหมายกำหนด เพราะคนขับรถมักอ้างถึงการพัฒนาการของเครื่องยนต์ในปัจจุบันที่มีสมรรถนะสูง และมักจะหาว่าตำรวจกลั่นแกล้ง” พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว พร้อมกับยืนยันว่า กฎหมายในบ้านเรากำหนดความเร็วไว้สูงกว่าในหลายประเทศ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี หลายประเทศในยุโรปและสิงคโปร์ กำหนดความเร็วบนถนนไว้ไม่เกิน 50 กม./ชม. ส่วนในบางพื้นที่ในเขตเมืองกำหนดไว้เพียงไม่เกิน 40 กม./ชม.เท่านั้น

เขาอ้างอิงถึงโครงการวิจัยกฎหมายการจราจรทางบก ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุว่าประเทศสวีเดนได้ศึกษาเรื่องความเร็ว และการเกิดอุบัติเหตุ จนพบว่าความเร็วของรถเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต จนทำให้หลายประเทศจำกัดความเร็วเพื่อความปลอดภัยของคนเดินเท้า ทั้งนี้การวิจัยดังกล่าวพบว่า ความเร็ว 30 กม./ชม. คนเดินเท้าที่ถูกชนส่วนใหญ่จะรอดชีวิต คือมีโอกาสรอดราว 90% ในขณะที่ความเร็ว 50 กม./ชม. คนเดินเท้าจะมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 85% เลยทีเดียว

การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า สำหรับคนขับและผู้โดยสารที่รัดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ที่ออกแบบมาอย่างดีโดยทั่วไป จะสามารถป้องกันคนที่อยู่ในรถได้ในขณะเกิดอุบัติเหตุด้านหน้าที่ความเร็วแค่ 70 กม./ชม. ส่วนด้านข้างสามารถป้องกันได้เพียงความเร็วที่ 50 กม./ชม. เท่านั้น อย่างไรก็ตามรถอาจจะป้องกันได้ในกรณีที่ชนในความเร็วสูงกว่านี้ แต่ต้องมีการออกแบบรองรับพิเศษ เช่น มีถุงลมนิรภัย

“เมื่อขับรถที่มีความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสม แม้จะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม จะมีโอกาสชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการเหยียบเบรกในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจะเพิ่มขึ้น เพราะระยะที่รถจะหยุดหลังเหยียบเบรกจะยาวขึ้น

“ความเร็วที่ 30 กม./ชม. เมื่อเบรกรถจะหยุดในระยะประมาณ 13 เมตร แต่ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะหยุดจะเพิ่มเป็น 36 เมตร หรือประมาณ 3 เท่า ขณะที่ความเร็วเพิ่มขึ้นเพียง 2 เท่าเท่านั้น” พล.ต.ต.ภาณุ อ้างอิงถึงผลวิจัย พร้อมกับเสนอความเห็นส่วนตัวว่าในเมืองไทยนั้นความเร็วที่ 80 กม./ชม. น่าจะเป็นความเร็วที่ดี และเหมาะสมกับท้องถนนเมืองไทยมากที่สุด

พล.ต.ต.ภาณุ บอกให้รู้ถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ ว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุจราจรเกิดขึ้นทั้งสิ้น 37,985 ครั้ง ลดน้อยลงกว่าปี 2552 ที่เกิดขึ้นจำนวน 41,800 ครั้ง ส่วนการเกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้มีคนตายเกิดขึ้น 427 ครั้ง ส่งผลให้มีคนตายมากถึง 456 คน แบ่งเป็นชาย 365 คน และหญิง 91 คน นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัส 957 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 15,655 คน

จึงเสนอความเห็นว่าเมืองไทยน่าจะทำตามอย่างหลายประเทศที่เห็นความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะมาจากความเร็วหรือประมาทจากกรณีอื่นๆ บางประเทศเมื่อสร้างถนนจะแบ่งงบประมาณ 10% จากการก่อสร้างมาเพื่อติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว (Speed Camera) หรือกล้องตรวจจับรถฝ่าไฟแดง (Red Light Camera) ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ดีและบ้านเราควรนำมาใช้

พล.ต.ต.ภาณุ บอกว่า อายุและประสบการณ์ของผู้ขับขี่รถยนต์มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งนี้ผู้ใหญ่จะมีการตัดสินใจที่ดีกว่าเด็กวัยรุ่น เนื่องจากมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้มากกว่า นอกจากนี้ยังใจเย็นกว่าเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งได้ใบขับขี่มาใหม่หมาดๆ อุบัติเหตุที่ส่งผลร้ายแรงจึงมักเกิดจากวัยรุ่น เนื่องจากการตัดสินใจขณะขับขี่ยังไม่ดีพอ