posttoday

กทม.เชื่อแผ่นดินไหวพม่าไม่ก่ออันตรายอาคารสูงในกทม.

24 มีนาคม 2554

สำนักโยธาฯ กทม. เชื่อแผ่นดินไหวพม่าไม่ทำอันตรายต่ออาคารที่ปลูกสร้างใหม่ในเมืองกรุง ขณะที่ผังเมืองเผยเขตความเสี่ยงแผ่นดินไหว 3 ระดับ 22จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง 

สำนักโยธาฯ กทม. เชื่อแผ่นดินไหวพม่าไม่ทำอันตรายต่ออาคารที่ปลูกสร้างใหม่ในเมืองกรุง ขณะที่ผังเมืองเผยเขตความเสี่ยงแผ่นดินไหว 3 ระดับ 22จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง 

นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ในประเทศพม่าที่สามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้จากอาคารสูงในพื้นที่ของกรุงเทพฯ จะไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคารที่ปลูกสร้างใหม่ เพราะมีการออกแบบให้รองรับการสั่นไหวที่ระดับ 4 ริกเตอร์จึงเชื่อว่าจะไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาจะเข้าตรวจสอบอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างละเอียดเพื่อสำรวจความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

อนึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แบ่งเขตที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2550 ไว้ 3 ระดับ รวม 22 จังหวัด ประกอบด้วย

“บริเวณเฝ้าระวัง” ซึ่งเป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผนดินไหว ได้แก่ จ.กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลาและสุราษฏร์ธานี รวม 7 จังหวัด

“บริเวณที่ 1” ซึ่งเป็นบริเวณหรือพื้นที่ที่เป็นดินอ่อนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปาการ และสมุทรสาคร รวม 5 จังหวัด

“บริเวณที่ 2”เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปางและลำพูน รวม 10 จังหวัด โดยเขตพื้นที่บริเวณที่ 2 ถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะกาญจนบุรี ที่มีรอยเลื่อนอยู่บริเวณศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว 2550 ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2550 เพื่อให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่มีความแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์ขึ้นไป