posttoday

หาบเร่สยามประท้วงจุฬาฯให้ย้ายที่ขาย

07 มีนาคม 2554

ม็อบหาบเร่สยามฯ ยึดบาทวิถีปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ต่อต้านจุฬาฯให้ย้ายสถานที่ค้าไปที่สยามสแควร์ซอย 6 ขู่ปิดถนนพระราม 1 ตลอดสาย หากจุฬาฯไม่ยอมให้ตั้งแผงค้าบนบาทวิถี 

ม็อบหาบเร่สยามฯ ยึดบาทวิถีปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ต่อต้านจุฬาฯให้ย้ายสถานที่ค้าไปที่สยามสแควร์ซอย 6 ขู่ปิดถนนพระราม 1 ตลอดสาย หากจุฬาฯไม่ยอมให้ตั้งแผงค้าบนบาทวิถี 

เมื่อ 16.00 น. กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยย่านสยามสแควร์ที่ปักหลักชุมนุมอยู่บนถนนพระราม 1 ตั้งแต่ช่วงเช้า ได้ทำการรื้อย้ายกระถางต้นไม้บนบาทวิถีที่เจ้าหน้าที่ได้นำมาวางปิดกั้นแผงค้าออกไป และยอมเปิดทางจราจรให้รถยนต์สัญจรผ่านได้ จากนั้นผู้ชุมนุมจึงถอยร่นขึ้นมาปักหลักชุมนุมบนบาทวิถีแทน โดยมีตำรวจ สน.ปทุมวัน เข้าเจรจาต่อรองเพื่อให้ผู้ค้าส่งตัวแทนไปประชุมหารือกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพงษ์เทพ โพธิพันธุ์ แกนนำกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ค้าไม่ยินยอมที่จะย้ายสถานที่ค้าขายเข้าไปยังสยามสแควร์ซอย 6 ตามข้อเสนอของสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ตาบอดและเกรงว่าจะไม่สามารถทำการค้าขายได้ อีกทั้งยังต้องถูกเรียกเก็บค่าเช่าอีกวันละ 200 บาท หรือเดือนละ 6,000 บาท

"ที่ผ่านมาจุฬาฯ ไม่เคยมีความจริงใจในการเจรจาและไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน ดังนั้นหากจุฬาฯ ไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ค้าขายบนบาทวิถี กลุ่มผู้ค้าก็จะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ โดยหลังจากนี้จะใช้มาตรการอารยะขัดขืนขั้นรุนแรงต่อไปด้วยการปิดถนนพระราม 1 ตลอดทั้งสาย"นายพงษ์เทพ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ค้าหาบเร่ยังได้รื้อกระถางต้นไม้ที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ นำมาวางปิดกั้นไว้มิให้ทำการค้าขายบนบาทวิถี ส่งผลให้พื้นผิวจราจรบนถนนพระราม 1 มีกระถางต้นไม้เกลื่อนกระจัดกระจายตลอดแนว โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจไม่ได้เข้าห้ามปรามหรือเก็บกวาดแต่อย่างใด ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนสัญจรไปมาอย่างพลุกพล่าน

ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า มีกลุ่มผู้ค้าหาบเร่สยามสแควร์จำนวนกว่า 300 ราย ได้มาลงทะเบียนแสดงความจำนงที่จะเข้าไปค้าขายในสยามสแควร์ซอย 6 แล้ว และยืนยันว่าห้ามค้าขายบนบาทวิถีเด็ดขาด โดยจะตรึงกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจจำนวน 70 นาย เข้าควบคุมพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาทำให้การจราจรบนถนนพระราม 1 ติดขัดอย่างนัก แต่ไม่เกิดเหตุปะทะกันกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

จากการลงพื้นที่สำรวจสถานที่รองรับผู้ค้าแห่งใหม่ที่จุฬาฯ จัดไว้ให้บริเวณสยามสแควร์ซอย 6 พบว่า สามารถรองได้เพียง 18 แผงเท่านั้น ส่วนซอยถัดไปก็ไม่มีประชาชนใช้สัญจร เนื่องจากอยู่ติดกับสถานที่ก่อสร้างและมีสภาพเสื่อมโทรม อีกทั้งไม่มีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เต็นท์ ไฟฟ้า น้ำประปา เพื่อรองรับผู้ค้าแต่อย่างใด

ขณะที่จุฬาฯ มีประกาศระเบียบข้อบังคับผู้ค้าที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการสยามสแควร์ ไนต์ มาร์เก็ต ว่า ได้จัดแผงค้าเสื้อผ้าไว้ให้ขนาด 1.2x2 เมตร แต่ไม่ระบุจำนวนและสถานที่ที่ชัดเจน อีกทั้งกำหนดให้เริ่มนำค้าได้ตั้งแต่เวลา 20.00-24.00 น.เท่านั้น

ด้าน พ.ต.อ.กิตติพันธุ์ จุนทการ ผกก.สน.ปทุมวัน เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูเหตุการณ์ประท้วงแล้ว แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการรื้อถอนแต่อย่างใด เนื่องจากต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่เทศกิจ และของจุฬาฯ ดำเนินการเอง เพียงแต่ตำรวจจะดูแลในส่วนของการปะทะกัน หรือการกระทบกระทั่งกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

หาบเร่สยามประท้วงจุฬาฯให้ย้ายที่ขาย

 

หาบเร่สยามประท้วงจุฬาฯให้ย้ายที่ขาย