posttoday

น้ำตาลปาล์มข้าวกระหน่ำรัฐ

07 มีนาคม 2554

แฉผู้ผลิตผู้ค้าตัวการป่วนตลาดชาวนาเดือดประท้วงราคาตกต่ำ

แฉผู้ผลิตผู้ค้าตัวการป่วนตลาดชาวนาเดือดประท้วงราคาตกต่ำ

แฉผู้ผลิต ผู้ค้า รวมหัวป่วนตลาดน้ำตาล นายกฯ การันตี น้ำตาลไม่ขาด ปาล์มเริ่มคลี่คลาย แต่ข้าวเริ่มปะทุ

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขา ธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายขาดแคลนเกิดขึ้นในส่วนของโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก แต่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานกับผู้ผลิตน้ำตาลบรรจุถุง 4 รายใหญ่ให้ผลิตน้ำตาลเพิ่มถึง 150% หรือเป็น 266 ล้านถุงจากปีก่อน อีกทั้งได้เตรียมเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) 35 ล้านกระสอบ เป็น 2830 ล้านกระสอบ

“ในห้างโมเดิร์นยังมีน้ำตาลขาย แต่ยอมรับว่าน้ำตาลบรรจุถุงต้องเสียค่าวางสินค้า และยังมีโปรโมชันลด แลก แจก แถม ทำให้ผู้ค้าน้ำตาลต้องการขายรายย่อย ซึ่งได้เงินสดง่ายกว่า” นายประเสริฐ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาห กรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคนพยายามทำให้น้ำตาลในตลาดตึงตัว โดยให้ข้อมูลสินค้ามีจำกัด จนผู้บริโภคตื่นตระหนก ซื้อตุน เป็นช่องทางให้ผู้ค้าน้ำตาลฉวยโอกาสขึ้นราคา กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่โรงงาน ไปถึงยี่ปั๊ว ซาปั๊ว

นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) วันที่ 11 มี.ค. จะของบจากกองทุนอ้อยฯ 510 ล้านบาท จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

“ตอนนี้ชาวไร่ต้องการให้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ขยายมากขึ้น จากที่ได้ 70% และโรงงาน 30% รวมทั้งต้องการให้แบ่งเขตโรงงานน้ำตาลให้เล็กลง แต่โรงงานขนาดเล็กก็ไม่ต้องการเสี่ยง เพราะไม่มีทุนพัฒนาโรงงาน หวั่นว่าชาวไร่อ้อยจะหนีหายหมด แต่การลอยตัวราคาน้ำตาลคงทำไม่ทันปีนี้” นายประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันน้ำตาลไม่ได้ขาดแคลน แต่ที่กำลังมีปัญหาคือ ราคาในประเทศต่ำ แต่ราคาตลาดโลกแพง จึงมีการลอบส่งออก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปดูแลแล้ว ส่วนเรื่องน้ำมันปาล์ม ขอประชาชนอย่าซื้อตุน เพราะน้ำมันปาล์มฝาชมพูกำลังทยอยสู่ตลาด

ขณะเดียวกัน ชาวนาจาก 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร และพิจิตร กว่า 500 คน รวมตัวปิดถนนประท้วงสายพิษณุโลกนครสวรรค์ หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก เรียกร้องนายกฯ แก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ 3 ข้อ คือ 1.ให้รัฐบาลประกันราคาข้าวเปลือกตันละ 1.4 หมื่นบาท 2.ให้เกษตรกรใช้สิทธิในโครงการประกันรายได้จากเดิมรายละ 25 ตัน เป็น 40 ตัน และ 3.ให้ราคาข้าวเปลือกความชื้น 30% ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งนายกฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันที่ 7 มี.ค.

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวนายังคงรวมตัวกันต่อเพื่อรอคำตอบรัฐบาล โดยยังคงปิดถนนต่อไป