posttoday

น้ำมัน-น้ำตาล-ปาล์ม แพงลิ่ว ข้าวสารกระแสตกฮวบ

06 มีนาคม 2554

กบง.ต่อลมหายใจ อุ้มดีเซลเพิ่ม

กบง.ต่อลมหายใจ อุ้มดีเซลเพิ่ม

 

น้ำมัน-น้ำตาล-ปาล์ม แพงลิ่ว ข้าวสารกระแสตกฮวบ

หลังราคาน้ำมันตลาดโลกฉุดไม่อยู่ จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองประเทศในแถบตะวันออกกลาง ล่าสุดน้ำมันดิบตลาดโลกทะลุถึง 109 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้ว ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อหาทางชดเชยน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินระดับ 30 บาท/ลิตร

ผลจากที่ประชุม กบง.มีมติให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยน้ำมันดีเซล บี2 เพิ่มเติมอีก 50 สตางค์/ลิตร รวมเป็นเงินที่ชดเชยทั้งหมด 5 บาท/ลิตร จากเดิมที่ชดเชยอยู่ที่ 4.50 บาท/ลิตร เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตามนโยบายรัฐบาล

ส่งผลให้มีเงินไหลออกจากกองทุนฯ จากการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลวันละ 302 ล้านบาท/วัน หรือเดือนละ 9,054 ล้านบาท ทำให้กองทุนฯ มีเงินเหลืออยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้อุดหนุนได้ไม่เกินสิ้นเดือนนี้

สำหรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยน้ำมันดีเซลของค่ายเอกชนราคาทะลุ 30.49 บาท/ลิตรแล้ว มีเพียง ปตท.และบางจาก ที่ตรึงราคาต่ออยู่ที่ 29.99 บาท/ลิตร

น้ำตาลทรายขาดราคาแพง

สถานการณ์น้ำตาลทรายขาดแคลนและราคาแพง แม้จะมีการแก้ไขปัญหามาเกือบ 1 ปี แต่สถานการณ์กลับไม่ทุเลาลง ยังมีประชาชนร้องเรียนหาซื้อน้ำตาลทรายได้ยาก โดยเฉพาะในห้างค้าปลีกที่ยังจำกัดการซื้อน้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กก. ครอบครัวละไม่เกิน 13 ถุง ขณะที่ตลาดปกติประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มต้องซื้อกับยี่ปั๊วซาปั๊ว ในราคาสูงถึง กก.ละ 28-30 บาท

ล่าสุด ทางฝั่ง รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงมาแก้ไขปัญหาด้วยการจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. หรือน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศอีก 35 ล้านกระสอบ เป็น 28-30 ล้านกระสอบ จากเดิมกำหนดไว้ 25 ล้านกระสอบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ

ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงกลุ่มที่กักตุนน้ำตาล เช่น ยี่ปั๊ว หรือโรงงานน้ำตาล ให้เร่งกระจายน้ำตาลออกมาอย่างเร่งด่วน เพราะหากสถานการณ์ในตลาดตึงตัว กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซื้อโควตา ก. มาบริหารจัดการและกระจายเอง

ด้านฝั่งกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลราคาปลายทาง เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการเตรียมตรวจสอบบัญชีย้อนกลับของโรงงานน้ำตาลทรายที่ส่งไปให้ยี่ปั๊วซาปั๊ว ถูกต้องหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุน้ำตาลทรายหายไปจากระบบได้อย่างไร

น้ำมันปาล์มวุ่นไม่เลิก

แม้คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ จะมีมติชดเชยผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด โดยให้รับซื้อน้ำมันปาล์มในประเทศ 1.5 หมื่นตัน ชดเชย 9.50 บาท มาผลิตน้ำมันปาล์มจุกสีชมพูออกจำหน่ายให้ประชาชน ซึ่งเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนก็ยังมีอยู่

โดยเฉพาะในชั้นวางของห้างค้าปลีกที่ยังคงมีน้ำมันปาล์มให้เห็นน้อย แม้กระทรวงพาณิชย์จะสั่งการให้ขายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดแบบไม่อั้น แต่ประชาชนยังตื่นตระหนกซื้อกักตุนเป็นจำนวนมาก จนน้ำมันปาล์มในชั้นวางหมดเร็ว และบางตลาดยังมีการจำหน่ายราคาสูงเกินราคาควบคุม 47 บาท/ขวด

ปัญหาดังกล่าว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ สั่งการไปยังตำรวจทุกท้องที่ เพื่อจับกุมผู้ที่ขายน้ำมันปาล์มเกินราคา

สต๊อกทุบราคาข้าวเปลือกร่วง

ในขณะที่พืชอาหารและพลังงานชนิดอื่นต่างราคาขึ้นไม่หยุด ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง แต่ราคาข้าวเปลือกของไทยกลับราคาลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาข้าวเปลือกเจ้าราคาเหลือตันละ 8,500 บาท จากต้นเดือน ก.พ. ราคา 9,400 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิเหลือตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท จาก 1.48 หมื่นบาท หรือลดลงตันละ 2,000 บาท

ทางฝั่งกระทรวงพาณิชย์ จึงออกมาชี้แจงสาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกราคาตกไม่น่าเกิดจากการระบายสต๊อกข้าวรัฐบาล แต่เกิดจากเวียดนามลดค่าเงินด่อง ทำให้ราคาข้าวไทยห่างเวียดนามมากขึ้น