posttoday

คพ.โต้ไม่จ่ายค่าโง่9พันล้าน

11 กุมภาพันธ์ 2554

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลง ไม่จ่ายค่าโง่คดีคลองด่าน 9 พันล้านบาท ยัน ไม่รับคำตัดสินของอนุญาโตฯ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ชาวคลองด่านจี้ คพ.เร่งเพิกถอนคำชี้ขาดให้ทันเวลา อย่าโยกโย้  เลิกพฤติกรรมเอื้อประโยชน์แก่เอกชนได้แล้ว

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลง ไม่จ่ายค่าโง่คดีคลองด่าน 9 พันล้านบาท ยัน ไม่รับคำตัดสินของอนุญาโตฯ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ชาวคลองด่านจี้ คพ.เร่งเพิกถอนคำชี้ขาดให้ทันเวลา อย่าโยกโย้  เลิกพฤติกรรมเอื้อประโยชน์แก่เอกชนได้แล้ว

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงตอบโต้คณะอนุญาโตตุลาการที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีกับกรมควบคุมมลพิษ กรณีผิดสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยมีคำชี้ขาดให้คพ.ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย ฯลฯ ประมาณ 6.2 พันล้านบาท รวมดอกเบี้ยให้แก่กิจการร่วมค้าฯ ร้อยละ 7.5 ว่า ทางคพ.ไม่รับคำตัดสินดังกล่าว และจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสัญญาโครงการเป็นโมฆะและไม่ได้มีสัญญาเกิดขึ้น

นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า คพ.ได้รับสำเนาคำตัดสินเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา และได้ส่งหนังสือคัดค้านคำตัดสินและไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ตามพ.ร.บ.อนุญาโตฯ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 เรื่องการคัดค้านคำชี้ขาด ซึ่งสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่เขตอำนาจภายใน 90 วัน และระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ พ.ศ. 2544 ข้อ 5 ที่ว่าด้วยการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ เว้นแต่คำชี้ขาดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมิได้อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญา

นอกจากนั้น ในข้อ 7 ยังระบุว่า หากหน่วยงานสงสัยว่ามีเหตุตามข้อ 5 ที่จะไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้หน่วยงานรัฐส่งสำเนาชี้ขาดพร้อมคำชี้แจงให้กระทรวงการคลัง เพื่อขอความเห็นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนา รวมทั้งต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบ ซึ่ง คพ. ได้แจ้งคู่กรณีแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ทาง คพ. ยังดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงกรณีดังกล่าวเพื่อเตรียมดำเนินการขั้นตอนต่อไป หากกระทรวงการคลังเห็นด้วยกับการคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว แต่หากกระทรวงคลังชี้ขาดให้จ่ายเงิน คพ. ยินยอมจ่ายเงินตามคำสั่ง ซึ่งจะรู้ผลประมาณต้นเดือนมี.ค.

“คพ.ยังได้แสดงเอกสารเพิ่มเติมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด โดยยื่นคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผูดำรงตำแหน่งทางการเมืองในส่วนคดีที่ดิน และคำพิพาษาคดีอาญา ศาลแขวงดุสิต ฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีในข้อหาฉ้อโกงสัญญาและที่ดิน ซึ่งกรณีทั้งสอง ศาลตัดสินให้จำคุกผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้คดีที่ศาลแขวงดุสิตอยู่ระหว่างการอุทธรณ์”

นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตามที่อนุญาโตฯ ชี้ขาดให้ชำระเงินแก่กิจการร่วมค้าฯ นั้น รวมเงินต้นและดอกเบี้ยแล้วจะตกประมาณ 9 พันล้านบาท อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังตอบคำถามถึงการดำเนินการต่อในโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการเข้าไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าวจะทำได้หรือไม่ เพราะมีประชาชนยื่นฎีกาถวายในหลวงโดยระบุว่ามติครม.เรื่องการเข้าดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตอนนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าสถานภาพของโครงการเป็นอย่างไร แต่หากมีการชี้ว่าสามารถเข้าไปสำรวจได้คาดว่าจะสำรวจในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ทางด้านนางดาวัลย์ จันทรหัสดี ชาวบ้านคลองด่านที่ต่อสู้กับโครงการนี้จนกระทั่งรัฐบาลได้สั่งยุติโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ. 2546 ให้ความเห็นต่อคำแถลงของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ คพ. ที่ออกมาคัดค้านและไม่ยอมรับคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ขณะเดียวกันก็เห็นว่า เมื่อ คพ. ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว สิ่งที่ คพ. ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนมี 3 ข้อ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียค่าโง่แก่บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ถูกศาลตัดสินว่าร่วมกันฉ้อโกงรัฐ นั่นคือ

1.คพ. ต้องรีบร้องขอต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลแพ่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 90 วันตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเรื่องนี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 นั่นหมายถึง คพ. ต้องร้องขอต่อศาลแพ่งไม่เกินวันที่ 12 เม.ย. 2554 ข้อสำคัญคือ คพ. จะต้องเอาผลคำตัดสินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 2 คดีไปประกอบการร้องขอต่อศาลแพ่งคือ 1) คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งตัดสินจำคุกนายวัฒนา อัศวเหมเป็นเวลา 10 ปีเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2551 และ 2) คดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดิน ที่ศาลแขวงดุสิตได้ตัดสินไปแล้วโดยสั่งจำคุกจำเลยที่เป็นบุคคลคนละ 3 ปี และสั่งปรับนิติบุคคลรายละ 6000 บาท เมื่อเดือนพ.ย. 2552

2.คพ. ควรนำผลจากคำตัดสินของคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินมาขยายผลเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป ด้วยการนำมาฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เรื่องที่ คพ. ต้องเร่งทำโดยทันทีด้วย ไม่ควรปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป เนื่องจากศาลแขวงได้ตัดสินคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินไปแล้วปีกว่าแล้ว

3.ถ้าหาก คพ. ปล่อยเรื่องนี้ให้นานออกไป จะมีผลเสียต่อประเทศมากไปกว่านี้และจะส่งผลให้ คพ. แพ้อุทธรณ์ในคดีอาญาฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินที่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และ คพ.ได้ยื่นอุทธรณ์อยู่ในขณะนี้

นางดาวัลย์ ยังมีความเห็นเพิ่มเติมต่อคำแถลงของอธิบดี คพ. ว่า คำแถลงของอธิบดี คพ. ที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ และพฤติกรรมของ คพ. ที่ผ่านๆ มาที่ต้องการฟื้นคืนบ่อบำบัดน้ำเสียมีความขัดแย้งกันเอง โดยตนรู้สึกว่า คพ. มีเจตนาต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะในเรื่องนี้และเตะถ่วงเวลาออกไปเพื่อให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมีผลบังคับเกิดขึ้น นั่นคือให้รัฐบาลจ่ายค่าโง่แก่เอกชน

“จากการที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และติดตามในส่วนของการต่อสู้คดีความของ คพ. มาอย่างใกล้ชิด เห็นว่าที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความพยายามที่จะให้ฝ่าย คพ. แพ้คดีความทั้งหมด เช่น หลังจากที่ คพ. ประกาศให้สัญญาโครงการคลองด่านเป็นโมฆะและมีการฟ้องร้องคดีตามมา โดย คพ. ได้ว่าจ้างทนายเอกชนมืออาชีพเข้ามาดำเนินการฟ้องร้องบริษัทเป็นคดีอาญาที่ศาลแขวงฐานฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินเพื่อทำให้คดีความสามารถดำเนินการไปได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายในกระทรวงทร้พย์ เกิดขึ้น คพ. ก็เปลี่ยนท่าทีและมีความพยายามจากฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการให้มีการถอนคดีฟ้องร้องเพื่อเอาผิดกับบุคคลและบริษัทเอกชนที่ฉ้อโกง เมื่อไม่สามารถถอนคดีได้ก็ใช้วิธีเปลี่ยนตัวทนายความระหว่างไต่สวนคดีแทน ซึ่งการเปลี่ยนตัวทนายกลางครันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำกัน”

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ การที่อธิบดี คพ. บอกว่าจะต้องส่งสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไปให้กระทรวงการคลังพิจารณา ว่าถ้าหากกระทรวงการคลังเห็นด้วยและชี้ขาดให้จ่ายเงินแก่เอกชน คพ. ก็จะยินดีจ่ายเงินตามคำสั่ง ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังในต้นเดือนมี.ค. ปีนี้นั้น ตนเห็นว่า หาก คพ. จะรอผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังแล้วค่อยดำเนินการในเรื่องนี้มันนานเกินไป

นางดาวัลย์ ยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการต่อสู้คดีกันอยู่ คพ. มีความพยายามต่างต่างนานาที่จะเอาโครงการกลับคืนมา โดยอธิบดี คพ. ได้เสนอเรื่องไปยังนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยฯ ในสมัยนั้น ให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการให้สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทกับเอกชนได้ และเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการทับลงบนลำคลองสาธารณะและที่สาธารณะต่อไปได้จนแล้วเสร็จ

นางดาวัลย์ กล่าวว่า ความพยายามดังกล่าวของ คพ. ในช่วงที่ผ่านมาจะมีผลทำให้รัฐต้องยอมรับงานก่อสร้างทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถใช้การได้ นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทเอกชนเป็นฝ่ายได้เปรียบในการต่อสู้คดีความในอนาคตอีกด้วย จึงขอเรียกร้องให้ คพ ต้องหยุดพฤติกรรมการเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างเกี่ยวกับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านได้แล้ว