posttoday

ยื้อทำสงคราม

10 กุมภาพันธ์ 2554

นายกฯ กัมพูชา โต้ไทยสู้รบชายแดนคือสงคราม ไม่ใช่แค่ปะทะ สถาบันการเงินวิเคราะห์ยืดเยื้อธุรกิจไทยในเขมรมีปัญหา

นายกฯ กัมพูชา โต้ไทยสู้รบชายแดนคือสงคราม ไม่ใช่แค่ปะทะ สถาบันการเงินวิเคราะห์ยืดเยื้อธุรกิจไทยในเขมรมีปัญหา

นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยืนยันผ่านสื่อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ว่า การสู้รบกับทหารไทยบริเวณชายแดนในพื้นที่พิพาทเป็นสงครามที่แท้จริง ไม่ใช่การปะทะของทหาร จึงขอเรียกร้องไปยังนานาชาติให้เข้ามาช่วยในการไกล่เกลี่ย เพราะเชื่อมั่นว่า 2 ประเทศไม่มีทางเจรจากันได้ และไกลเกินกว่าจะคุยทวิภาคีแล้ว

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหน่วยงานด้านความมั่นคงไทย ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปะทะกันทางการทหาร ไม่มีการขยายขอบเขต ไม่ใช่สงคราม ไม่มีผลกระทบทางการค้าและการเดินทางต่อกัน

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลกระทบจากการสู้รบที่เกิดขึ้นว่า หากสถานการณ์คลี่คลายได้ภายใน 1 เดือน ไทยอาจสูญเสียรายได้เข้าประเทศราว 1,100 ล้านบาท แต่หากไม่สามารถคลี่คลายได้ใน 3 เดือน จะส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้อย่างน้อย 3,000 ล้านบาท จากการส่งออกสินค้า

“ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อดังกล่าว ยังจะมีผลบั่นทอนโอกาสการลงทุนของไทยในกัมพูชาให้ชะลอตัวลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง/การทูต ที่อาจมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติการลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศ” รายงานดังกล่าว ระบุ

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2537-2553 ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 5 ของกัมพูชา ครอบคลุมธุรกิจ อาทิ โรงแรม ท่องเที่ยวและบริการ โทรคมนาคม โรงไฟฟ้า ปศุสัตว์ เป็นต้น

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า กัมพูชาอยากบรรลุเป้าหมายขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และต้องการพื้นที่โดยรอบ 4.6 ตร.กม.

“ดังนั้นวิธีที่ทำให้ได้ดังใจมากที่สุด คือเปิดแนวรบให้รุนแรงสาหัส อย่างเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่เขาทำสำเร็จ จึงฟ้องสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” นายกษิต กล่าว

รมว.ต่างประเทศ กล่าวอีกว่า กัมพูชาได้สร้างภาพว่าเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ไทยจะไม่อนุญาตให้นายฮุนเซนเป็นเด็กเกเรกับประเทศไทย

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ยืนยันกับนายบันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ไทยไม่มีความประสงค์ใช้ความรุนแรง หรือไปรุกรานใคร แต่เมื่อกัมพูชาละเมิดอธิปไตยและใช้อาวุธยิงเข้ามาก่อน จึงต้องตอบโต้ พร้อมยืนยันว่ายังมีกลไกอื่นๆ ที่จะดูแลปัญหาอยู่ และอาเซียนสนับสนุนให้แก้ไขปัญหาระดับทวิภาคี

“ผมเรียนกับเลขาฯ ยูเอ็นด้วยว่า เคยบอกตั้งแต่ปีที่แล้วว่าความตึงเครียดมันจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ตราบเท่าที่ยังมีแรงกดดันจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา เพราะว่าทางกัมพูชาก็รู้สึกกดดันว่าต้องมาจัดการพื้นที่ตรงนี้ ขณะที่ฝ่ายไทยถือว่าเป็นพื้นที่ของไทย ท่านก็รับว่าจะไปติดตามเรื่องนี้กับทางยูเนสโก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว