posttoday

ตรวจนโยบายปราบยาระยะ 3 อาการยังน่าห่วง

01 กุมภาพันธ์ 2554

เริ่มเข้าสู่ระยะที่ 3 ของนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน  

เริ่มเข้าสู่ระยะที่ 3 ของนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน  

โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม

 

ตรวจนโยบายปราบยาระยะ 3 อาการยังน่าห่วง

เริ่มเข้าสู่ระยะที่ 3 ของนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน โดยนายกฯ อภิสิทธิ์ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องปราบปรามให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนยาเสพติดที่ทะลักเข้ามาในประเทศ

ในระยะที่ 2 ของนโยบายดังกล่าวสิ้นสุดไปเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผลการปฏิบัติงานที่น่าสนใจ โดยยังพบว่าการลักลอบนำเข้ายาเสพติดส่วนใหญ่ยังคงใช้เส้นทางลำเลียงทางภาคเหนือเป็นหลัก โดยเฉพาะยาบ้าถือเป็นยาเสพติดที่แพร่ระบาดมากที่สุดกว่า 80% ถูกลำเลียงจากแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้านผ่านชายแดนภาคเหนือเข้าสู่ประเทศไทย

ขณะที่บางส่วนถูกลำเลียงเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะมาจากแหล่งผลิตเดียวกัน แต่ใช้วิธีลำเลียงเข้าประเทศเพื่อนบ้านก่อน แล้วค่อยย้อนเข้ามาไทยในเส้นทางอื่น เนื่องจากเส้นทางเดิมถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่มากขึ้น

ปริมาณยาบ้าที่ถูกจับได้ในช่วงปฏิบัติการในระยะที่ 2 เฉพาะที่ผ่านเส้นทางภาคเหนือได้มากถึงเกือบ 8 ล้านเม็ด โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงราย สามารถจับกุมได้กว่า 3 ล้านเม็ด

ปริมาณของยาบ้าที่เพิ่มมากขึ้นทุกระยะ เป็นเพราะกลุ่มผู้ผลิตหลักคือ กลุ่มว้า ยังผลิตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่งคือผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะเป็นชาวตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยมีการลักลอบนำเข้ายาไอซ์ทั้งในรูปของผลึกและของเหลว มีวิธีการลักลอบหลายอย่างที่นิยมกันมาก คือ กลืนลงท้อง นอกจากนี้ยังมีแอมเฟตามีนเหลวที่ใช้วิธีบรรจุในขวดยาสระผมลักลอบนำเข้ามา

ข้อน่าสังเกตในการจับกุมยาบ้าในช่วงนี้คือ เมื่อนำไปวิเคราะห์แล้วจะพบว่ายาบ้าที่จับกุมได้จะมีปริมาณแอมเฟตามีนค่อนข้างต่ำ คืออยู่ในช่วง 10.0019.99 มก./เม็ด ซึ่งถือว่าคุณภาพต่ำกว่าที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะภายหลังจากที่ได้ดำเนินนโยบาย 5 รั้วป้องกันแล้ว การควบคุมตามแนวชายแดนเข้มงวด ได้ผลมากขึ้น มีการจับกุมยาบ้าได้มากขึ้น ทำให้ผู้ค้าต้องเปลี่ยนวิธีการด้วยการนำยาบ้าที่ลักลอบนำเข้ามาบดละเอียด แล้วผสมอัดเม็ดใหม่ในประเทศ ทำให้ปริมาณของแอมเฟตามีนลดลง

สรุปผลของการดำเนินนโยบาย 5 รั้วป้องกันระยะที่ 2 (ต.ค.ธ.ค. 2553) เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2552 พบว่ามีการจับกุมได้เพิ่มมากขึ้น จาก 172 คดี เพิ่มเป็น 204 คดี ได้ผู้ต้องหา 381 คน จับกุมได้ในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด 42.6% รองลงมาคือ ภาคเหนือ กทม. และภาคใต้ ตามลำดับ

ปริมาณยาบ้าที่จับกุมได้มีมากถึง 12,116,019 เม็ด เฮโรอีน 82.3 กิโลกรัม โคเคน 2,102.2 กรัม ยาไอซ์ 232.6 กิโลกรัม จากเดิม 92.8 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า โดยคดีการจับกุมที่น่าสนใจ คือ การจับกุมเครือข่ายยาเสพติดจำนวน 6 คน ที่ลักลอบนำยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านประเทศไทยเพื่อส่งไปยังแหล่งผลิตในประเทศรอบไทย ได้ของกลางกว่า 2.648 ล้านเม็ด ที่บ้านพักย่านซอยนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม อายัดทรัพย์ได้ถึง 7 ล้านบาท

สำหรับปัญหาที่ส่งต่อมาสู่ระยะที่ 3 ของนโยบาย 5 รั้วป้องกัน (ม.ค.–มี.ค. 2554) คือ กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายจากกลุ่มผู้ต้องขังจากเรือนจำเขาบิน จ.ราชบุรี และพฤติกรรมของผู้ค้าจะมีความระมัดระวังมากขึ้น มีการเตรียมอาวุธร้ายแรงไว้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

รวมทั้งต้องเฝ้าระวังผู้เสพที่จะปรับเปลี่ยนขึ้นมาเป็นผู้ค้าด้วย ซึ่งแผนการดำเนินการของนโยบาย 5 รั้วป้องกันระยะที่ 3 ที่สำคัญคือ การเข้าตรวจค้นพื้นที่เสียง โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นที่หลบซ่อนของผู้ค้ายาเสพติด และเป็นแหล่งพัก ระบายสินค้า ตลอดจนการจำหน่ายในชุมชนนั้นเอง ขณะนี้แม้เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจค้นไปแล้วหลายร้อยชุมชนเพื่อกดดันผู้ค้ายาเสพติดให้ยุติบทบาทหรือย้ายออกจากพื้นที่ แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่

อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายปราบปรามยาเสพติด ยังต้องเร่งทำงานหนักต่อไปในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เพราะยาเสพติดยิ่งจับยิ่งได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้นยังสั่งให้ตำรวจเข้มข้นกับการสแกนชุมชนพื้นที่เสี่ยงนับร้อยจุดทั่วประเทศ รวมถึงมุ่งเน้นจัดการกับผู้เสพที่ต้องบำบัดด้วย เพราะที่ผ่านมาปล่อยให้มาบำบัดกันแบบสมัครใจ สุดท้ายก็หนีไปแบบสมัครใจเหมือนกัน เลยมีคำสั่งใหม่ไม่เอาแล้วแบบสมัครใจ ให้เปลี่ยนมาบังคับบำบัดแทน

ต่อไปนี้ถ้าตำรวจจับผู้เสพได้ให้ส่งต่อมายังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้แต่ละจังหวัดประสานงานกับค่ายทหารในพื้นที่ จัดการบังคับบำบัดให้หมด ทั้งบังคับเข้าค่าย และบังคับให้อยู่ครบคอร์ส อย่าให้แหกค่ายหนีไปกลางคันเหมือนสมัยก่อน โดยตั้งเป้าต้องบังคับมาบำบัดให้ได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะส่งสัญญาณปราบปรามยาเสพติดอย่างหนักและเด็ดขาดในรายที่ริอาจต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังน่าเป็นห่วง ดูจากสถิติยอดจับกุมแต่ละครั้งยังเพิ่มจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญผู้ค้ายาเริ่มนำอาวุธหนักมาใช้กับเจ้าหน้าที่มากขึ้นเช่นกัน ถือเป็นหินและท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันในระยะที่ 3 นี้ !!!

เตือนยาเสพติดทำให้มีอาการทางจิต

มีข้อมูลน่าตกใจซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเสพยาเสพติดพบว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ ในปี 2553 มีทั้งหมด 45,369 ราย 68% เป็นชาย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน จำนวน 2,626 ราย คิดเป็น 5.79% แบ่งเป็นชาย 1,996 ราย หญิง 630 ราย และยาเสพติดที่ใช้อันดับ 1 คือ ยาบ้านั่นเอง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอดีตด้วย

สำหรับการบำบัดรักษาผู้ที่เสพสารเสพติด และมีอาการทางจิต จะมีความยุ่งยากกว่าผู้ที่เสพ แต่ยังไม่มีอาการ เนื่องจากสมองจะถูกพิษสารเสพติดทำลายอย่างถาวร จึงมีคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ควรพึ่งสารเสพติดเมื่อมีปัญหา เช่น ความเครียด นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดการติดยา ควรหาทางออกที่สร้างสรรค์ เช่น การออกกำลังกาย ก็สามารถลดความเครียดได้ดีมาก และนอนหลับพักผ่อนได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจรวมกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม แทนการเสพสารเสพติด ถ้าปฏิบัติได้สุดเจ๋ง