posttoday

ภัยใหม่...โจรพันธุ์เด็ก

19 มกราคม 2553

เด็กที่เริ่มกระทำผิดตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ และกระทำผิดเป็นอาชีพเมื่อโตขึ้นกว่าเด็กที่เริ่มกระทำผิดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า....

เด็กที่เริ่มกระทำผิดตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ และกระทำผิดเป็นอาชีพเมื่อโตขึ้นกว่าเด็กที่เริ่มกระทำผิดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า....

โดย...อิทธิกร เถกิงมหาโชค

"8 ขวบรุมโทรมเพื่อนร่วมห้อง!"

พาดหัวข่าวตัวไม้ บนหนังสือพิมพ์รายวันหัวสี กระพือข่าวความฟอนเฟะในสังคมที่มีเด็กตัวน้อยๆ เป็นตัวละคร แต่หลังจบข่าววันนั้นไม่มีใครรู้ว่า ปลายทางชีวิตเด็กที่ก่อคดีแบบนี้ อนาคตของพวกเขาจะปิดฉากอย่างไร และถูกลงโทษทัณฑ์หนักเบาแค่ไหน...

แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญา มาตรา 73 ซึ่งปรับอายุขั้นต่ำของการรับโทษทางอาญาเพิ่มจาก 7 ขวบ เป็น 10 ขวบ ซึ่งหมายความว่า เด็กที่อายุไม่ถึง 10 ขวบ เมื่อกระทำผิดคดีอาญาก็ไม่ต้องรับโทษ หลายคนจึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับเด็กกลุ่มนี้อีกแ??้ว จึงไม่แปลกหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองข้ามการให้ความช่วยเหลือ บำบัด แก้ไข ฟื้นฟู สภาพจิตใจของ "เด็ก" กลับปล่อยให้จมหายไปกับคดีความกลายเป็นบาดแผลลึกในใจ จึงไม่ต่างกับการเพาะพันธุ์อาชญากรวัยโจ๋โดยไม่รู้ตัว

 

ภัยใหม่...โจรพันธุ์เด็ก

ทั้งที่ภาครัฐมียาแก้ชั้นดีอยู่ในมือแล้ว แต่ไม่รู้สรรพคุณ "ของดี" ว่าจะใช้แก้ปัญหาอย่างไร...ความซ้ำซ้อนของประมวลวิธีพิจารณาความกฎหมายอาญา และระเบียบการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก จึงเป็นเหมือน "หลุมดำ" ที่ไม่มีใครกล้าก้าวออกมายืนเคียงข้างเด็ก ทั้งที่สถิติการกระทำผิด พบว่าเด็กอายุ 7-12 ปี กระทำผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนไม่ถึง 1% ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่สารบบทั้งหมด

นั่นเพราะเด็กเหล่านี้มีสภาพไร้เดียงสา ซึ่งผลการศึกษาทางแพทย์แสดงให้เห็นว่า เด็กกลุ่มนี้มี??ัฒนาการด้านความคิด สติปัญญา และจริยธรรมยังไม่สมบูรณ์ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และไม่อาจคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองได้ และบางครั้งเด็กบางรายยังตกเป็น "เครื่องมือ" ของแก๊งอาชญากรด้วย สภาพที่แท้จริงแล้วเด็กวัยนี้จึงตกเป็น "เหยื่ออาชญากรรม" เสียมากกว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้จึงเป็นเครื่องเยียวยาชั้นดีที่จะสกัดไม่ให้เด็กกลายพันธุ์เป็น "โจร" เมื่อเติบโตขึ้น...

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ขยายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายให้เด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายส่งเสริมให้เด็กไปก่อเหตุรุมโทรมข่มขืน ตั้งแก๊งลักจักรยานยนต์ หรือไปลักขโมยของ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวนคดีเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ทั้ง 76 จังหวัด ต้องตีโจทย์และมองเป้าหมายของกฎหมายใหม่ และสร้างโอกาสให้เด็กเดินกลับสู่เส้นทางเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมากกว่าจะซ้ำเติมความผิดของเด็ก และดันเข้าสู่วงจรอาชญากรทางอ้อม

จากการศึกษาลักษณะการกระทำผิดและสภาพทางจิตใจและทางสังคมของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พบมีอายุระหว่าง 10-12 ปี ที่มีการตัดสินและถูกพิพากษาคดี จำนวน 529 ราย ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาให้ว่ากล่าวตักเตือนและปล่อยตัวไป 229 ราย คิดเป็น 18.9% รองลงมาคือศาลสั่งให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามกำหนด จำนวน 169 ราย คิดเป็น 13.5% ที่เหลือถูกวางข้อกำหนดควบคุมพฤติกรรมต่างๆ จำนวน 147 ราย คิดเป็น 11.7%

ตัวเลขที่ว่านี้จะเห็นว่าไม่ใช่การช่วยเหลือเด็กที่ชัดเจน เด็กส่วนใหญ่ที่กระทำผิดเมื่ออายุยังน้อยมักถูกมองข้ามที่จะให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจจากกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเหตุให้เด็กกระทำผิดซ้ำอีกและยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่หากได้รับการช่วยเหลือแก้ไขพฤติกรรมจะทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่มีปัญหา เช่น ลักขโมย ทำตัวเกเรเลียนแบบเด็กโตกว่า

ฉะนั้น เมื่อมีการปรับอายุขั้นต่ำไม่ถึง 10 ขวบ ไม่ต้องรับโทษทางอาญาแล้ว ก็ต้องหันมามองถึงกระบวนการดูแลและคุ้มครองเด็กที่กระทำผิด เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจถึงลักษณะของปัญหาต้นตอที่แท้จริงที่ทำให้เด็กกระทำผิด และหาแนวทางดูแลให้เหมาะสม จึงจะเดินถูกแนวทางของการแก้กฎหมายใหม่นี้

สรรพสิทธิ์ บอกว่า เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้ชัดเจนว่า ต้องการแก้ไขปัญหาของเด็กที่ก้าวพลาดกระทำผิดตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งไม่ใช่กฎหมายที่ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด จุดต่างกันคือ เป็นกรอบสำหรับเด็กที่ทำผิดไปแล้ว แต่สำหรับเด็กอีกกลุ่มที่มีแค่ความเสี่ยง ยังไม่ได้กระทำผิด ก็เป็นคนละแนวทางกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องตีโจทย์ให้แตก เพราะการแก้โจทย์ไม่เหมือนกันแล้ว แนวทางส่งต่อดำเนินคดีเมื่อเด็กวัยนี้กระทำผิด ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม และมีแผนบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา ให้รอบด้านทั้งตัวเด็กผู้กระทำผิด รวมถึงผู้เสียหายด้วย

ส่วนในมุมมองของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พล.ต.ต.สัญญา บัวเจริญ ศาสตราจารย์ (สบ 6) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ยอมรับว่า พนักงานสอบสวนตามโรงพักต่างๆ ยังเข้าใจข้อกฎหมายนี้ไม่ลึกซึ้งเท่าไร จึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้มากขึ้น แม้ว่าเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ กระทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ แต่กระบวนดำเนินการทางกฎหมายไม่สิ้นสุดแค่ปล่อยตัวเด็กไปเท่านั้น เด็กยังต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดพฤติกรรมด้วย เพราะมีระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ บังคับใช้อยู่ด้วย จึงเห็นด้วยกับการร่วมกันแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กที่มีปัญหา

หน่วยงานหลักอย่าง พม. ที่เป็นเจ้าภาพดูแลโดยตรง ก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับการแก้ปมความซ้ำซ้อนของปัญหาสังคมนี้ นภา เศรษฐกร ผู้ตรวจราชการ พม. กล่าวว่า เมื่อนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2551 ต้องพิจารณาแก้ไขพฤติกรรมเด็กด้วยหลักจิตวิทยาอย่างรอบคอบ อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า เด็กวัยนี้ไม่มีเจตนากระทำผิด แต่อาจตกอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ดี ถูกเพื่อนหรือเด็กวัยโตกว่าชักชวนให้ร่วมกระทำ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ตัวเด็ก ซึ่งอาจมีปัญหาสภาพจิตใจไม่ปกติ เกิดจากการเลี้ยงดูทางครอบครัว ซึ่งเป็นแรงขับให้กระทำผิด

"สิ่งที่พม. พยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด แม้ว่าข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจนเพื่อดูแลเด็กที่มีปัญหา จนกลายเป็นเหมือนแผลในใจของเด็กที่อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็คือการประเมินสภาพจิตใจ และเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก

ซึ่งต้องดำเนินการแบบคู่ขนานไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัวเด็กและจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือพนักงานสอบสวนที่ดำเนินคดีเด็ก ทางพม. ดูแลเรื่องการ คุ้มครองสวัสดิการและดูแลเด็ก และยังอยากให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาร่วมดูแลเรื่องการฟื้นฟูจิตใจเด็กด้วย เพราะสธ. มีจิตแพทย์อยู่ทั่วประเทศ" ผู้ตรวจราชการ พม. ระบุ n

เปิดปม `เด็กดื้อ' สุ่มเสี่ยงยุวอาชญากร

ขัตติยา รัตนดิลก นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง"ผลที่ผู้ต้องหาเด็กได้รับภายหลังการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมอายุความรับผิดชอบทางอาญา" พบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่กระทำความผิดเมื่ออายุยังน้อย มีปัญหาด้านต่างๆ และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ หรือให้การช่วยเหลือแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะปัญหาเด็กกระทำผิดเป็นปัญหาของสังคมที่เด็กไม่ได้เป็นผู้ก่อ

ทั้งนี้ มีรายงานกรณีศึกษาน่าสนใจเกี่ยวกับการกระทำผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบจำนวน 12 รูปแบบ ประกอบด้วย

1) 5 ขวบเศษ ประมาทอันเป็นการทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ 2) 5 ขวบ 9 เดือน ร่วมกันดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า และร่วมกันทำของตกใส่ผู้อื่น ก่อความเดือดร้อนรำคาญ 3) 6 ขวบ 4 เดือน ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต 4) 6 ขวบ 1 เดือน ข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี

5) 6 ขวบ 11 เดือน ร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี 6) 7 ขวบ 10 เดือนข่มขืนกระทำชำเรา 7) 8 ขวบ 12 วัน ร่วมข่มขืนกระทำชำเรา 8) 8 ขวบ 4 เดือนประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต 9) 8 ขวบเศษ กระทำอนาจาร 10) 9 ขวบ ข่มขืนกระทำชำเรา 11) 9 ขวบ 1 เดือน ลักทรัพย์ 12)9 ขวบ ร่วมกันกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน15 ปี

ขณะที่เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด อายุ10-12 ปี ใน 4 รูปแบบ ประกอบด้วย ประเภทประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทำตัวเกเร รังแกผู้อื่นพบ 58.82% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ พบ26.67% ประเภท ประกอบอาชีพผิดกฎหมายเช่น มิจฉาชีพ พบ 58.82% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ พบ 20.00% ประเภท มั่วสุมก่อความเดือดร้อน พบ 82.35% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ พบ 33.33% ประเภทถูกทิ้งในสภาพแวดล้อมเสี่ยงถูกชักชวนไปในทางเสียหาย พบ 82.35% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ พบ 46.67%

งานศึกษาวิจัย พบว่า เด็กที่เริ่มกระทำผิดตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำ และกระทำผิดเป็นอาชีพเมื่อโตขึ้นกว่าเด็กที่เริ่มกระทำผิดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ที่มีปัญหาพฤติกรรมและกระทำผิดมักไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือแก้ไขเนื่องจากคดีความผิดของเด็กส่วนใหญ่เป็นคดีไม่รุนแรง ขณะกระทำผิดยังอายุน้อย จึงมีคดีสะสมไม่มากนัก และภาครัฐไม่มีแนวทางในการช่วยเหลือแก้ไขที่ชัดเจน