posttoday

“ชัชชาติ” ปลื้ม “บิ๊กตู่” หนุน กทม. เต็มที่ ยืนยันไม่ห่วงเรื่องงบฯ เน้นทำงานเพื่อ ปชช. ก่อน

25 กรกฎาคม 2565

“ชัชชาติ” ปลื้ม! “บิ๊กตู่” ช่วยกทม. เต็มที่ยังไม่ต้องห่วง เรื่องงบฯทำให้ประชาชนก่อนสั่ง ทหาร พร้อมช่วย 4 เรื่องเร่งด่วนที่ คลองลาดพร้าว-คลองแสนแสบ เก็บขยะหน้าโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ เก็บขยะบริเวณตะแกรง ช่วยขนคนกลับบ้าน กรณีมีน้ำท่วมขัง มีปัญหาการจราจร ขุดลอกคลอง ส่ง นายทหาร ฝ่าย เสธ.ประสานงาน มาประจำ ศูนย์บัญชาการระบายน้ำ ดินแดง “แม่ทัพภาค1” ลงพื้นที่นำทหารลุย ใต้ทางด่วนพระราม 9 ห้วยขวาง และประตูระบายน้ำ เขตพระโขนง ปภ. เตือน 10 จังหวัด-กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.เป็นต้นไป หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

“ชัชชาติ” ปลื้ม! “บิ๊กตู่” ช่วยกทม. เต็มที่ยังไม่ต้องห่วง เรื่องงบฯทำให้ประชาชนก่อนสั่ง ทหาร พร้อมช่วย 4 เรื่องเร่งด่วนที่ คลองลาดพร้าว-คลองแสนแสบ เก็บขยะหน้าโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ เก็บขยะบริเวณตะแกรง ช่วยขนคนกลับบ้าน กรณีมีน้ำท่วมขัง มีปัญหาการจราจร ขุดลอกคลอง ส่ง นายทหาร ฝ่าย เสธ.ประสานงาน มาประจำ ศูนย์บัญชาการระบายน้ำ ดินแดง “แม่ทัพภาค1” ลงพื้นที่นำทหารลุย ใต้ทางด่วนพระราม 9 ห้วยขวาง และประตูระบายน้ำ เขตพระโขนง ปภ. เตือน 10 จังหวัด-กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.เป็นต้นไป หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ช่วยเหลือเต็มที่ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. โดยได้สั่งการ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาค 1 และกรมกิจการพลเรือนทหารบก โดยทางกองทัพ จะช่วย กทม.ใน 4 ด้าน คือ การเก็บขยะหน้าโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ การเก็บขยะบริเวณตะแกรงที่มีปัญหา การช่วยขนคนกลับบ้านในกรณีที่มีน้ำท่วมขัง และมีปัญหาการจราจร และเรื่องการขุดลอกคลอง ทางกรมกิจการพลเรือน ก็ได้ส่งนายทหารระดับเสนาธิการ 1 นาย มาประจำอยู่ที่ศูนย์บัญชาการระบายน้ำ ที่ดินแดง ก็มีการประสานงานอย่างดีมาก เพราะ กทม.เองเรามีกำลังจำกัด

โดย นายกฯก็ได้มีการสั่งการเร่งด่วน วันนึ้ 25 ก.ค. เริ่มมีการวางแผนขุดลอกคลองลาดพร้าวเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมามีปัญหาที่2 คลองหลัก คือ คลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบ

โดยคลองลาดพร้าวมีปัญหาเรื่องความตื้นเขิน น้ำไหลช้า เพราะมีปัญหาเรื่องเขื่อนที่ยังทำไม่เสร็จ

โดย ทางทหาร ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กำหนดพื้นที่แบ่งกันช่วยขุดลอก

“นายกฯบอกว่าไม่ต้องกังวล เรื่องค่าใช้จ่ายเลย ทำให้ประชาชนก่อน”

ทั้งนี้ บ่ายวันนี้ พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำและทำกิจกรรมการระบายน้ำร่วมกับหน่วยในพื้นที่และ กทม.ในพื้นที่ใต้ทางด่วนพระราม 9 เขตห้วยขวาง และประตูระบายน้ำเขตพระโขนง—-

วันที่ 25 ก.ค.65 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า จากสถานการณ์ฝนตกสะสมและฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าวันที่ 27 ก.ค.จะมีน้ำไหลผ่านบริเวณอ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ประมาณ 900–1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังมีปริรมาณ 150 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,050 – 1,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 850 – 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 60–80 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.เป็นต้นไป

กอ ปภ.ก. จึงประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึง กรุงเทพฯ ตลอดจนศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ

ผู้ว่าโคราช กังวลสถานการณ์น้ำ หลังอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง ปริมาณน้ำเกินความจุ ชลประทานเร่งระบายลงคลองธรรมชาติ พร้อมคุมทิศทางให้อยู่ในลำน้ำ หวั่นออกนอกลำท่วมพื้นที่การเกษตร ประกาศเตือน ปชช.ติดลำน้ำทุกแห่ง ขนของขึ้นที่สูงรอ คาดสัปดาห์นี้พายุเข้าอีก

นครราชสีมา-วันนี้ (25 กรกฎาคม 2565) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล อ.แก้งสนามนาง , อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง , อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด , อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ และอ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อ.พิมาย ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่งนี้ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างทั้ง 5 แห่งอย่างใกล้ชิด และมีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลงสู่คลองธรรมชาติ โดยพยายามควบคุมไม่ให้น้ำที่ระบายออก ไหลออกนอกลำน้ำแล้วเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชนในพื้นที่ติดลำน้ำ

ทั้งนี้ ต้องขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ติดลำน้ำทุกลำน้ำของจังหวัด ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งของจังหวัดขณะนี้มีปริมาณน้ำมาก และในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป คาดว่า จะมีพายุฝนเข้ามาในพื้นที่อีก ประชาชนจะต้องติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ติดลำน้ำหรือพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่เคยน้ำท่วม ควรเตรียมตัวให้พร้อมกับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น ขนสิ่งของมีค่าไว้บนที่สูง

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งของจังหวัด ยังคงมีปริมาณในอ่างเก็บน้ำ เฉลี่ยร้อยละ 60 ของความจุ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 167 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ความจุ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ , อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี ความจุ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 88 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ความจุ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 176 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 64 เปอร์เซ็นต์” นายวิเชียรฯ กล่าว .