posttoday

ก.แรงงานถอยแล้วยอมดึงร่างแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์มาพิจารณาใหม่

29 มิถุนายน 2565

กระทรวงแรงงานยอมถอยดึงร่างแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์กลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาเพื่อทบทวนใหม่ หลังผู้ใช้แรงงานแสดงพลังรวมตัวคัดค้านบุกถึงหน้ากระทรวง

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.  นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย National Congress of Thai Labour (NCTL) นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย Labour Congress of Thailand (LCT) และ สหภาพแรงงานต่างๆที่มาจากหลายจังหวัดเดินทางมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมกันคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผ่านทาง นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรมว.แรงงาน ณ กระทรวงแรงงงาน

นายพนัส กล่าวว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่ใช้มานาน ผู้ใช้แรงงานจึงเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขที่ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ร่วมกันยกร่างแก้ไข แต่เมื่อนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกากลับมีการแก้ไขสาระสำคัญอย่างมากมายเหมือนยกร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องกับร่างแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันในไตรภาคี เนื่องจากส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและขบวนการแรงงานอย่างมาก ลูกจ้างจะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นกติกาเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ด้วยกันได้ด้วยดี แต่การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขจนไม่เหลือเค้าเดิม เหมือนเขียนกฎหมายใหม่ โดยไม่สอบถามความคิดเห็นของนายจ้าง ลูกจ้าง และส่งผลเสียหาย เช่น เดิมการลงโทษใดๆ รวมถึงการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้างต้องขออำนาจศาลแรงงานก่อน แต่ร่างฉบับใหม่กำหนดเฉพาะการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้น ที่ต้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง

นายพนัส กล่าวว่า เดิมกฏหมายห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้อง แต่ฉบับแก้ไขคุ้มครองเฉพาะลูกจ้าง ที่เป็นผู้แทนเจรจาเท่านั้น โดยไม่คุ้มครองสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายแรงงานมีเจตนาเพื่อคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เดิมมีการกำหนดโทษทางอาญา แต่ร่างกฎหมายฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการตัดโทษทางอาญา คงเหลือแต่โทษปรับเพียงเล็กน้อย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 การกำหนดโทษต้องเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ผู้ใช้แรงงานจึงร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานแก้ไขปัญหา โดยสาระสำคัญในหนังสือขอให้ปัดตกร่างกฎหมายที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้กฎหมายปัจจุบันที่ใช้อยู่ หรือหากสภาฯพิจารณารับหลักการในวาระแรก ที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอให้เสนอชื่อผู้นำแรงงานจำนวน 2 คนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฝ่ายรัฐบาล เพื่อชี้แจงในการพัฒนาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้าน

ด้าน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมพูดคุยหาทางออกของปัญหานี้ร่วมกับผู้นำแรงงาน โดยใช้เวลาร่วมชั่วโมง โดยนายสุรชัย กล่าวภายหลังหารือว่า ขั้นตอนการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ เมื่อผู้นำแรงงานเห็นว่าหากมีการบังคับใช้จะสร้างปัญหาอย่างยิ่งแล้ว ตนจะแจ้งรมว.แรงงานให้พิจารณาเสนอต่อครม.ขอนำร่างที่ผ่านกฤษฎีกากลับมาทบทวนแก้ไขใหม่โดยไตรภาคี โดยจะยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในเรื่องนี้ได้สร้างความยินดีในกลุ่มผู้นำแรงงานที่สนับสนุน โดยระบุว่าหากไม่มีการแก้ไข ปล่อยให้กฎหมายเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะไม่ยอมอย่างแน่นอน