posttoday

ผู้ว่าฯกฟน.เสียใจไฟไหม้สำเพ็งเหยื่อลั่นจะรวมตัวฟ้องการไฟฟ้า

27 มิถุนายน 2565

หลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบตึกแถวย่านสำเพ็งที่ถูกไฟไหม้จนมีผู้บาดเจ็บ 11 ราย และเสียชีวิต 2 ศพ ผู้ว่าฯกฟน.เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยันพร้อมช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร พร้อมด้วย น.ส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย สภาวิศวกร, ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชปถัมภ์, น.ส.อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์, น.ส.โสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน, นายวิลาส เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ใกล้เคียงท่าน้ำราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

น.ส.อาทิตยา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายประมาณ 4 คูหา จากการประเมินมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ยอมรับว่า ยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงแบบนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย ถือเป็นบทเรียนสำคัญ โดยหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งสำรวจสายไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบจุดที่มีความเสี่ยงก็ให้แจ้งมายังสำนักงานเขตได้ รวมถึงจะเชิญการไฟฟ้ามาประชุมร่วมกันว่าให้ไปตรวจสอบว่าในพื้นที่ มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่เก่าเกินอายุที่สมควร คือ มากกว่า 20 ปี หรือไม่ เพราะจากข้อมูลของการไฟฟ้าระบุว่าหม้อแปลงที่มีอายุเกิน 20 ปี จะต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ และหากในพื้นที่ยังมีหม้อแปลงประเภทนี้อยู่ก็จะประสานให้ดำเนินการดูแลเปลี่ยนใหม่ หรือซ่อมแซม ให้สมบูรณ์อย่างรัดกุมมากขึ้นต่อไป ส่วนหม้อแปลงบริเวณหน้าร้านที่เกิดเหตุนั้นไม่สามารถตอบได้ว่ามีอายุการใช้งานมากี่ปี แต่เท่าที่สังเกตด้วยสายตาเชื่อว่าน่าจะใช้งานมานานพอสมควรแล้ว ในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์นี้ทางเขตจะมีการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จึงจะถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเรื่องการดูแลสายไฟ และมาตรการป้องกันระวังภัยเกี่ยวกับสายไฟฟ้าด้วยอีกทางหนึ่ง

ผู้ว่าฯกฟน.เสียใจไฟไหม้สำเพ็งเหยื่อลั่นจะรวมตัวฟ้องการไฟฟ้า

ด้าน น.ส.โสภา กล่าวว่า ขณะนี้ตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย มีการทำประกันสังคมไว้ รวมถึงรายที่เป็นแรงงานต่างด้าวด้วย ในเบื้องต้นทั้งคู่ จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 5 หมื่นบาทต่อราย และยังมีเงินทดแทนตามระยะเวลาการทำงาน ที่กระทรวงแรงงานจะจ่ายให้ 70% ของค่าแรง โดยต้องไปตรวจสอบระยะเวลาการทำงานของทั้ง 2 คนก่อน ส่วนยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจากการที่มีการสรุปตั้งแต่เมื่อวานคือ 11 คน ตอนนี้กลับบ้านได้แล้ว 10 คน ยังเหลืออีก 1 คนที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

ขณะที่ นายเกียรติศักดิ์ แซ่แต้ อายุ 40 ปี เจ้าของร้านพิชิตชัยค้าของเล่นเด็ก อยู่ติดกับห้องต้นเพลิง ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ กล่าวว่า โชคดีที่ช่วงเกิดเหตุทางร้านปิดให้บริการ ไม่เช่นนั้นตนและลูกจ้างอีก 5-6 คนไม่รู้จะมีชะตากรรมเป็นเช่นไร จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าและโครงสร้างอาคารร้านตนได้รับความเสียหายทั้งหมด ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ทั้งตนและเจ้าของร้านต้นเพลิงรวมถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ จะดำเนินการแจ้งความฟ้องร้องกับการไฟฟ้าเพื่อให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายอย่างแน่นอน

"ที่ผ่านมาทั้งสายไฟและหม้อแปลงมีปัญหาบ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น. หม้อแปลงไฟฟ้าลูกนี้ก็เพิ่งมีปัญหา มีเสียงคล้ายเกิดการช็อตจนชาวบ้านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่มาดู แต่เจ้าหน้าที่ก็มาแก้ไขเพียงชั่วครู่แล้วกลับไป กระทั่งช่วงเช้าหม้อแปลงก็มีปัญหาอีก ส่งผลให้เกิดการระเบิดมีทรัพย์สินได้รับความเสียหายมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ฒมองว่าเรื่องนี้การไฟฟ้าควรต้องรับผิดชอบ ขอเวลาปรึกษากับผู้เสียหาย เพื่อเตรียมการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทางพนักงานสอบสวน อีกครั้งจะมีการตั้งเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามกระบวนการศาลควบคู่กันไป" นายเกียรติศักดิ์ กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ ผกก.สน.จักรวรรดิ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระบวนการสอบสวนยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด จนกว่าจะรอผลการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเสร็จสิ้น อีกทั้งยังต้องรอผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน นำมาประกอบสำนวนคดี ซึ่งต้องใช้ ระยะเวลานานพอสมควร ส่วนเรื่องผู้เสียหายที่ประสงค์จะเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานใด ก็สามารถเดินทาง เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ตามสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ ดร.ธเนศ กล่าวว่า ต้องแบ่งตัวอาคารเป็นสองส่วน อาคารส่วนแรกที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้านั้นส่วนใหญ่ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและได้รับผลกระทบน้อย พื้นไม่มีรอนแตกร้าว แต่ห้องทางฝั่งซ้าย 2 หลังนั้นเป็นผนังอิฐก่อ และเสริมโครงสร้างเหล็ก เมื่อเจอความร้อน เหล็กได้เสียรูปและแอ่นตัว ผนังเองก็มีการบิดตัว โดยมีข้อเสนอแนะว่าสามารถตรวจสอบห้องที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทางขวาตามหลักวิศวกรรมได้ ส่วนสองห้องทางด้านซ้ายนั้นอาจต้องทำการรื้อทั้งหมด โดยทั้งสามห้องนั้นไม่ได้มีโครงสร้างเชื่อมกัน และมีโอกาสถล่มได้ หากประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตในอาคารโดยรอบต้องมีการค้ำยันก่อน

ขณะที่ นายวิลาส กล่าวว่า ทาง กฟน. ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ขณะนี้ต้องรอผลการพิสูจน์ให้เสร็จสิ้น แต่เรื่องมาตรการรับผิดชอบนั้นมีอยู่แล้ว ทั้งในส่วนทรัพย์สินที่เสียหายและผู้เสียชีวิต ส่วนหม้อแปลงนั้นมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี ลูกนี้ใช้มาแล้วประมาณ 20 ปี มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐาน โดยได้ตรวจสอบล่าสุดเมื่อกลางปีที่แล้ว ปกติทำการตรวจสอบปีต่อปี เบื้องต้นยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาได้ แต่จากสภาพแวดล้อม เห็นว่ามีควันขึ้นและมีไฟไหม้ ต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน ส่วนเรื่องที่มีข้อมูลว่าเจ้าของอาคารจะฟ้องร้อง กฟน. เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาทนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของผู้เสียหาย อย่างไรก็ตามอยากให้มีการพูดคุยกันก่อน จากนี้ผู้เสียหายอาจสามารถติดต่อที่สำนักงานเขตท้องที่ได้ ปกติแล้วหม้อแปลงไฟฟ้าลักษณะนี้มีจำนวนประมาณ 400 ลูกทั่วกรุงเทพฯ และจะมีการปรับแผนการบำรุงรักษา ติดอุปกรณ์เตือนเหตุ รวมถึงประสานกับทางกรุงเทพมหานคร และประสานในเรื่องสายสื่อสารเช่นกัน

ด้าน น.ส.บุษกร กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นเหตุที่ทำให้ทุกคนตระหนักเรื่องความเสี่ยง สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการใช้พื้นที่จุดเสี่ยง เช่น การค้าขายใต้หม้อแปลงไฟฟ้า เพราะเมื่อเกิดเหตุนั้นจะเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว รวมถึงการจัดเก็บสิ่งของภายในอาคาร เช่น พลาสติก ที่ติดไฟแล้วจะสามรถดับได้ยาก ที่สำคัญคือตัวอาคารที่ต้องมีทางหนีไฟ