posttoday

สธ.เตรียมพร้อม1ก.ค.โควิดในไทยเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่

27 มิถุนายน 2565

ปลัดสธ.ยัน 1 ก.ค.ในไทยยังไม่ใช้คำว่าโรคประจำถิ่นต้องรอให้องค์การอนามัยโลกประกาศ แต่ในไทยใช้คำว่าเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ ยันวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็นมากลดความรุนแรงของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นหลังวันที่ 1 กรกฎาคมว่า โรคประจำถิ่นคงต้องรอให้องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศ ส่วนประเทศไทยจะใช้ว่า เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หัวใจสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว และโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 กรกฎาคมจะไม่มีโรคแล้ว ก็จะมีเป็นคลื่นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง อาจเป็นคลัสเตอร์เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ยังต้องดำเนินการตลอด ขณะนี้ฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว ประชาชน 60 ล้านคนได้ฉีดเข็มแรกไปแล้ว บางทีเราก็หาคนฉีดไม่ค่อยได้ ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับกระทรวงการต่างประเทศบอกว่า มีคนไทย 16 ล้านคนอยู่นอกประเทศ บางทีอาจจะได้ฉีดอยู่ข้างนอกประเทศ อาจจะไม่ได้รายงาน เราก็พยายามทำตัวเลขให้ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังรายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ถึง 5 ปี จะมีการหารือเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสม อาจเป็นสถานพยาบาล เพราะเด็กเล็กต้องมีการตรวจติดตามอยู่แล้ว โดยมีการเตรียมวัคซีนไว้แล้ว หากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จะมีการฉีดในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะประกาศให้ประเทศไทยเป็น Post-Pandemic ใช่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า คงเป็นไปตามแผน แต่ไม่ใช่จะไม่มีโรค จะมีการติดเป็นคลัสเตอร์บ้าง แต่ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆ คนติดเป็นล้าน เกิดคลัสเตอร์แล้วจะลดลง เป็นคลื่นเล็กๆ และโรคไม่รุนแรงอยู่ในการควบคุม คือ ความหมาย Post-Pandemic ของเรา ส่วนเรื่องสิทธิการรักษารัฐบาลก็ดูแล สิทธิกองทุนต่างๆ ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป

เมื่อถามถึงคนเริ่มกังวลถึงสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แต่ขณะนี้มีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากตามความสมัครใจ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้เพิ่งเจอตอนนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการวางระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยพบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว เมื่อผ่านมา 3 เดือนแล้ว เคสก็เพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาที่เรากังวลว่า โรคแพร่เร็วจนควบคุมไม่ได้ใช่หรือไม่ และทำให้เกิดอาการหนักขึ้นจนมีคนป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลมากหรือไม่ ซึ่งเราเฝ้าระวังอยู่ ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะนั้น ต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ พบ BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ประเทศอื่นในยุโรปก็บอกว่า แพร่ได้น้อยกว่า ดังนั้น เรื่องแพร่เร็วก็ยังไม่มีความชัดเจน แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวกับตัวเชื้ออย่างเดียว แต่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้วยที่ทำให้เกิดการแพร่เร็ว เราก็เฝ้าระวังว่าจะเกิดเช่นนั้นในประเทศไทยหรือไม่

ทั้งนี้ จากการตรวจส่งสายพันธุ์ เราก็พบสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 โดยเจอในคนต่างชาติมากกว่าคนไทย นอกจากนี้ ยังพบว่า BA.4 และ BA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพิ่มเติม บางคนคิดว่า ฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะเพียงพอ แต่จริงๆ ถ้าถึงระยะเวลาที่แนะนำคือ 4 เดือน ควรไปฉีดซ้ำ เพราะเมื่อเราไปดูคนที่ป่วย BA.4 และ BA.5 ถ้าได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) อาการเจ็บป่วยน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ก็ชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลป้องกันหนักและเสียชีวิต

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กต้องรอทางไฟเซอร์และโมเดอร์นามาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม เพื่อฉีดในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป ขณะนี้ยังไม่มีการมายื่นขอขยายอายุการฉีดเพิ่มเติม แต่หากยื่นเรื่องเข้ามาแล้วก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยขนาดที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะมีขนาดน้อยกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุ 5-11 ปี