posttoday

เจ้าของดารุมะซูชิแจงยิบขาดสภาพคล่องจากพิษโควิดทำธุรกิจพัง

22 มิถุนายน 2565

ผบช.ก.แถลงจับกุมเจ้าของบริษัท ดารุมะ ซูชิคาสนามบินสุวรรณภูมิหลังดอดเข้าไทยแจ้งข้อหาร่วมฉ้อโกงประชาชน ผู้ต้องหาอ้างขาดสภาพคล่องจากวิกฤตโควิดทำให้ธุรกิจมีปัญหา ตำรวจสอบพบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 300 ล้าน

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ. พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผกก.1 บก.ปอศ. และตัวแทนจากหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) ประเทศใต้หวัน ร่วมแถลงผลการจับกุม บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด โดย นายเมธา ชลิงสุข ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1266/2565 ลง 22 มิถุนายน 2565 และ นายเมธา ชลิงสุข อายุ 39 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1267/2565 ลง 22 มิถุนายน 2565 ข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" จับกุมได้พร้อมของกลางเงินสด 20,186 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 710,000 บาท จับกุมได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ได้มีการจดทะเบียนบริษัทเพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร เครื่องดื่ม โดยมีนายเมธาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาบริษัทได้ทำการประกาศขายคูปองบุพเฟต์อาหารญี่ปุ่นทางเพจเฟซบุ๊กให้กับประชาชนในราคา 199 บาท จนผู้เสียหายที่มีความสนใจ ซื้อคูปองดังกล่าวจำนวนมาก นอกจากนี้ทางบริษัทได้มีการเปิดให้มีการชื้อแฟรนไชส์ด้วย จนปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 27 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ร้านดารุมะซูชิได้มีการปิดกิจการทุกสาขา รวมถึงประชาชนไม่สามารถติดต่อทางบริษัทและนายเมธาได้ จนเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ผู้เสียหายจึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปคบ. ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาต่อศาลอาญา กระทั่งวันนี้ (22 มิถุนายน) เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบว่าผู้ต้องหาจะเดินทางกลับมาประเทศไทย ผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงตามจับกุมได้

เจ้าของดารุมะซูชิแจงยิบขาดสภาพคล่องจากพิษโควิดทำธุรกิจพัง

ทั้งนี้ จากการสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธให้การว่าการเงินขาดสภาพคล่อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำการออกคูปองบุฟเฟต์ราคา 199 บาทมีปัญหา โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามีปัญหาการเงินอย่างหนัก จนสุดท้ายกลับไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ประกอบกับถูกทวงหนี้จำนวนกว่า 100 ล้านอย่างหนัก จึงหลบหนีไปตั้งหลักที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีการเปลี่ยนเครื่องที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายหลังได้รับชมข่าวประกอบถูกกดดันอย่างหนัก จึงเดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยเปลี่ยนเครื่องที่ไต้หวัน ซึ่งทางตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การ โดยเบื้องต้นได้นำตัวส่งนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปคบ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว และจะคัดค้านการประกันตัวในขั้นศาล โดยจะทำการฝากขังในช่วงเช้าวันที่ 23 มิถุนายน

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถอายัดเงินได้หลักแสนบาท และสามารถตรวจยึดเงินสดได้ประมาณ 710,000 บาท หลังจากนี้ ทางตำรวจจะทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลในเรื่องเส้นทางการเงินว่า มีการยักย้ายถ่ายเทไปที่บุคคลอื่นหรือไม่ หากพบว่ามีเส้นทางการเงินไปถึงบุคคลใด ก็จะเข้าข่ายกระทำความผิดฐานฟอกเงิน รวมถึงขยายผลในเรื่องผู้ร่วมขบวนการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบว่ายังมีผู้ก่อเหตุคือนายเมธาเพียงคนเดียว ล่าสุด มีผู้เสียหายเดินทางมาแจ้งงความด้วยตนเองมากกว่า 100 คนและแจ้งความทางออนไลน์มากกว่า 300 คน แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้เสียหายหลายพันคน มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการรายงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความได้ทั้งที่ บก.ปคบ. และสถานีตำรวจในท้องที่

เจ้าของดารุมะซูชิแจงยิบขาดสภาพคล่องจากพิษโควิดทำธุรกิจพัง

รายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหามีปัญหาหนี้สินจากการประกอบธุรกิจ และไม่สามารถหาเงินไปชำระค่าวัตถุดิบ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและนำมาจำหน่ายให้กับบริษัท ไม่ส่งของเข้ามา จนเป็นเหตุให้ร้านไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบมีเงินหมุนเวียนในบัญชี บริษัทดารุมะ ซูชิ กว่า 303,447,243 บาท

สำหรับ ความเสียหายพบว่า มียอดขายคูปองวอยเชอร์ผ่านแอพฯ 174,177 ใบ ลูกค้ากว่า 33,002 คน คิดเป็นมูลค่า 27,070,915 บาท และมูลค่าความเสียหายจากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์มาทำธุรกิจ อีก 17,500,000 บาท