posttoday

สหรัฐฯหนุนมธ.ศูนย์กลางอาเซียนยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์

20 มิถุนายน 2565

ม.ธรรมศาสตร์ เดินหน้าเปิดศูนย์อบรมด้าน Cybersecurity เสริมองค์ความรู้ให้หน่วยงานดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ หลังก.ต่างประเทศสหรัฐฯ-PNNL สนับสนุนเป็นศูนย์กลางของไทยและอาเซียน

รศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตและการทำงานของทุกคน รวมถึงทุกอ พื่อที่จะปกป้องอุปกรณ์ ข้อมูล ตลอดจนทรัพย์สินทางดิจิทัลต่างๆ ซึ่งล้วนมีโอกาสเสี่ยงในการตกเป็นเป้าของการโจมตีทางไซเบอร์ได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ล่าสุด มธ. ได้รับความไว้วางในการเป็นศูนย์กลางด้าน Cybersecurity สำหรับระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (Critical Infrastructure) ของประเทศไทย และในประเทศประชาคมอาเซียน (ASEAN) ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (US Department of State) ผ่านห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ หรือ Pacific Northwest National Laboratory (PNNL)

สหรัฐฯหนุนมธ.ศูนย์กลางอาเซียนยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์

สำหรับ เป้าหมายสำคัญของศูนย์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความรู้ การให้คำปรึกษา และการอบรมให้แก่บุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ระบบไฟฟ้า พลังงาน หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ของประเทศไทย และประเทศในอาเซียน โดยได้มีการทำพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 พร้อมผู้บริหารของ มธ. และ PNNL เข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความร่วมมือนี้ ทางธรรมศาสตร์จะดำเนินการใน 3 เรื่องได้แก่ 1. สร้างทักษะด้าน grid cybersecurity ให้กับคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. ดำเนินการจัดอบรม Pilot training ให้กับหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศใน ASEAN และ 3. ดำเนินการพัฒนา business plan เพื่อให้ศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต

ด้าน รศ.ดร.จิรพล กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดการอบรม Thammasat-PNNL Cybersecurity Workshop ไปแล้ว ในช่วงระหว่างวันที่ 7-14 มิถุนายน 2565 เพื่อสร้างทักษะด้าน Cybersecurity Framework for Electric Utilities ด้วยเครื่องมือ Facility Cybersecurity Framework (FCF) ให้แก่คณาจารย์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ PNNL จำนวน 23 ท่าน เพื่อให้คณาจารย์เหล่านี้ได้นำทักษะไปให้ความรู้และคำปรึกษาต่อหน่วยงานที่ดูและระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

“การสร้างศักยภาพด้าน Cybersecurity นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน เพราะปัจจุบันการจัดการความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ จะมีผลโดยตรงต่อความยั่งยืนของเมืองและประเทศ” รศ.ดร.จิรพล กล่าว

รศ.ดร.จิรพล กล่าวว่า ในเบื้องต้นความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรของทั้งการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ด้วยรูปแบบของการจัดการความเสี่ยงและทรัพยากรความรู้ต่างๆ ที่พัฒนาโดย PNNL ซึ่งจะช่วยให้การจัดการต่อภัยคุกคาทางไซเบอร์ของไทย และประเทศอาเซียนนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานที่สนใจยกระดับศักยภาพในการจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้แก่บุคลากร สามารถติดต่อได้ที่ 02-564-4440 ต่อ 1102