posttoday

รอไปก่อน!! ศบค. ยังไม่ปลดล็อกเปิดสถานบันเทิงถึงตี 2 เหตุโยงกม.หลายฉบับ

17 มิถุนายน 2565

โฆษก ศบค. แจง ยังไม่ปลดล็อก ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง 02.00 น. เหตุเชื่อมโยงกฎหมายหลายฉบับ นายกฯ สั่งเร่งหาข้อสรุปโดยเร็วให้ทัน 1 กค. นี้

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุม ศบค. รับทราบข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ 8 มาตรการ ดังนี้

1.พื้นที่สถานการณ์ ให้ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ และยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

2.มาตรการการใส่หน้ากากอนามัย ให้ปรับเป็นข้อแนะนำว่าควรสวมหน้ากาก และให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด หรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก

3.การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ให้เปิดบริการได้ตามปกติโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

4.สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ฯลฯ เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด

5.การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ

6.การคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)

7.การเว้นระยะห่าง แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

8.มาตรการรวมกลุ่ม ให้ตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเฝ้าระวังการระบาด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องดื่มสุราและสถานบันเทิงใช้เวลาในการพิจารณามากพอสมควร เพราะมีข้อเรียกร้องเปิดถึง 02.00 น. เมื่อไปดูกฎหมายแล้ว มีเชื่อมโยง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สถานบริการ วึ่งมีสถานบริการหลายประเภท กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดสถานบริการ พ.ศ.2547 มีการกำหนดโซนนิ่ง เวลาเปิดปิดก็เหลื่อมกันสูงสุดคือ 01.00 น. แต่สถานที่เต้นรำ 02.00 น. และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2558 เรื่องเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมอบให้ฝ่ายกฎหมาย เลขา สมช.ไปหาข้อสรุปมา ขั้นตอนคือดูกฎหมายเก่าและมาผ่อนคลายอย่างไร ซึ่งต้องไปผ่านกระบวนการจัดการกฎหมายและเสนอ ครม. โดยนายกฯ ขอให้ทำให้เร็วที่สุด ถ้าให้เร็วคืออยากให้เกิดวันที่ 1 ก.ค. แต่ต้องขอเวลาฝ่ายต่างๆ ทำงานก่อน วันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เมื่อกฎหมายถูกรวบรวมและแก้ไขอย่างถูกต้อง

โฆษกศบค. กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ยังเห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. ยกเว้นการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ทั้งต่างชาติและคนไทย ต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน มีการสุ่มตรวจผู้เดินทาง หากไม่มีเอกสารใดๆรับรอง จะดำเนินการตรวจ Professional ATK ที่สนามบิน จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ จะยังคงระบบและเปลี่ยนหน้าที่ของ Thailand Pass สำหรับโควิดเพื่อให้ผู้เดินทางใช้แต้งรายงานกรณีมีอาการสงสัยโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ซึ่งครอบคลุมการผ่านแดนทางบกด้วย ซึ่งมี 39 จุดด่านผ่านแดนถาวร ส่วนเรื่องเงินประกันยกเลิกไม่ต้องกำหนดวงเงิน แต่ส่งเสริมให้ซื้อประกัน ไม่ให้เป้นภาระเมื่อเจ็บป่วยในไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบประกาศได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้