posttoday

มหาดไทยปลุกพลังสตรีร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

11 มิถุนายน 2565

รองปลัดมหาดไทยกระตุ้นพลังสตรีฯ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” หนุนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างอาชีพ กระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมพบปะ พูดคุย ให้กำลังใจ และบรรยายพิเศษ “พลังสตรี กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ในโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สร้างสรรค์บทบาทสตรี สู่ความเข้มแข็งของชุมชน ที่จัดขึ้นโดยกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชนปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พัฒนาการจังหวัด ผู้แทนกรุงเทพมหานคร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด และคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ทุกจังหวัด ร่วมรับฟัง

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากชุมชนมีระบบ “เศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น” มีการ “พึ่งตนเอง” โดยชุมชน “มีส่วนร่วม” ใช้วัตถุดิบ ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพลังสตรีนั้น ถือว่าเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากทำให้เกิดการสร้างอาชีพ และกระจายรายได้ในชุมชน ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยยกตัวอย่างชุมชน 5 จังหวัด ได้แก่ 1.กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร หลังการรวมกลุ่ม สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จาก 300 บาท เป็น ประมาณ 7,000 บาท ต่อเดือน ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม ประมาณ 350,000 บาท ต่อเดือน โดยมีปัจจัยความสำเร็จ โดยการสืบทอดภูมิปัญญาและถ่ายทอดองค์ความรู้ การรวมกลุ่มการผลิต และพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด

มหาดไทยปลุกพลังสตรีร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

2.หมู่บ้านหัตถกรรมร่มบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จัดเทศกาลร่มบ่อสร้างที่จะจัดขึ้นในทุกๆ ปี ณ หมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ หลังการรวมกลุ่ม สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จาก 2,000 บาท เป็น ประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในภาพรวมประมาณ 300,000 – 500,000 บาท ต่อเดือน โดยมีปัจจัยความสำเร็จ ความเชี่ยวชาญในงานศิลป์ การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 3. วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หลังการรวมกลุ่ม สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จาก 3,000 บาท เป็น ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ในภาพรวมประมาณ 360,000 บาท ต่อเดือน โดยมีปัจจัยความสำเร็จ การรวมกลุ่มสร้างพลังต่อรองราคาสินค้า ความร่วมมือของคนในชุมชน ใช้ทรัพยากรในชุมชน และการตลาดทางเลือก (เกษตรอินทรีย์)

4.วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปเสื่อกกชุมชนดีบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี หลังการรวมกลุ่ม สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จาก 2,000 บาท เป็น ประมาณ 5,000 บาท ต่อเดือน ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในภาพรวมประมาณ 150,000 บาท ต่อเดือน โดยมีปัจจัยความสำเร็จ การพึ่งตนเอง ใช้วัตถุดิบในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ และความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน และ5. วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง หลังการรวมกลุ่ม สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น จาก 3,000 บาท เป็น ประมาณ 6,000 – 10,000 บาท ต่อเดือน ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม ประมาณ 600,000 บาท ต่อเดือน

ทั้งนี้ มีปัจจัยความสำเร็จ พึ่งตนเอง ใช้วัตถุดิบในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้ออกแบบ (Design) เพิ่มมูลค่า ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และการรวมกลุ่มคนในชุมชนเพิ่มกำลังการผลิตทั้งนี้ ขอขอบคุณ สตรีฯทุกท่าน ภาคีเครือข่าย กรมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ขับเคลื่อนงานทุกท่าน ที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ชุมชนท้องถิ่น เพราะสตรีทุกท่านถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานทำให้เศรษฐกิจฐานราก ชุมชนเกิดการสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชุมชน ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย