posttoday

ไทยสร้างสมดุลแรงงานคุณภาพฟื้นศก.หลังโควิด-19ระบาด

09 มิถุนายน 2565

"สุชาติ"เผยบนเวทีนานาชาติ ไทยพร้อมฟื้นฟูแรงงานคุณภาพ หลังโควิด-19 สิ้นสุดการระบาด เพื่อสร้างงานมีคุณค่า

เมื่อวันที่ 9มิ.ย.65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว ในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 110 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2565 โดยมีเนื้อหาดังนี้ ลำดับแรก ผมขอแสดงความยินดีกับ ILO ในการจัดการประชุมในครั้งนี้ ในรูปแบบพบหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟู ผมขอขอบคุณ คุณกาย ไรเดอร์ สำหรับการเป็นผู้นำและการทุ่มเทในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ก่อนสถานการณ์โควิด ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด Least Development Countries (LDC) ประสบกับความท้าทายในหลายด้าน ปัจจุบัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรและมีความร่วมมือกับประเทศอาเซียน รวมถึงภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา โดยเฉพาะด้านการประกันสังคม การพัฒนาทักษะอาชีพ และระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประเทศไทยขอสนับสนุนและแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของผู้อำนวยการใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นของ LDC และบรรจุลงในวาระสำคัญ

ผลกระทบของโควิด – 19 ทำให้เราต้องมีความยืดหยุ่น ประเทศไทยในฐานะสมาชิกร่วมก่อตั้ง ILO มีพันธกิจในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม การจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุคน และรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนผมขอยกตัวอย่างการดำเนินการที่ดีของประเทศไทยในช่วงโควิด – 19 ดังนี้

ลำดับแรก คือ มาตรการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือกับโควิด – 19 ในสถานที่ทำงาน โดยเราสามารถกระจายวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น และเข้าถึงแรงงานทุกสัญชาติ เป็นผลให้แรงงานจำนวน 4 ล้านคนได้รับวัคซีนจากกระทรวงแรงงาน

เรื่องที่ 2 มาตรการรักษาการจ้างงานสำหรับ SMEs สามารถที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 4 แสนแห่ง และรักษาการจ้างงานให้กับแรงงาน 5 ล้านคน รวมถึงสร้างงานใหม่อีกกว่า 6 หมื่นตำแหน่ง

เรื่องที่ 3 โครงการ Factory Sand Box ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด โดยสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการสาธารณสุข ลูกจ้างในภาคการผลิตได้รับการคุ้มครองการจ้างงานและรายได้ ผ่านการตรวจ ฉีดวัคซีน และการแยกกักตัว โดยโครงการได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการ ป้องกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง และทำให้ประเทศสามารถรักษาการจ้างงานได้มากกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าในการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการฝึกงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการจ้างงานที่มีผลิตภาพและเต็มที่ ดังนั้นประเทศไทยจึงสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานแรงงานใหม่ เรื่องการฝึกงาน

ก่อนที่จะจบการกล่าวถ้อยแถลง ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นฟูหลังโควิด – 19 โดยเราคาดหวังที่จะสร้างอนาคตที่มีการจ้างานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง