posttoday

"ชัชชาติ"ถกตำรวจจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลางแก้ปัญหารถติด

08 มิถุนายน 2565

ผู้ว่าฯกทม.หารือตำรวจนครบาลร่วมหาวิธีแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ เบื้องต้นจะจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลาง (Command Center) แก้ปัญหารถติด

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล( บช.น.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้ กทม.ได้หารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมี พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งรับผิดชอบการจราจร ปัจจุบันการจราจรเป็นเรื่องด่วนที่คนกรุงเทพฯ บ่นกันเยอะ โดยเฉพาะโรงเรียนเปิดเต็มที่แล้ว และมีเรื่องฝนตกด้วย จึงได้มาหารือกับกองบังคับการตำรวจจราจรที่ บก.02 ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการจราจร ที่ประชุมได้ข้อสรุป 5 ข้อ ประกอบด้วย

1. ต้องมีความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นของทุกหน่วยงาน เพราะเรื่องจราจรของกรุงเทพฯ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 30 หน่วยงาน ทั้ง กทม. และตำรวจจราจร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก รวมถึงหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงคมนาคม ขสมก. รถไฟฟ้า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต้องมีความร่วมมือกันส่วนใดส่วนหนึ่งให้สำเร็จให้ได้

"ชัชชาติ"ถกตำรวจจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลางแก้ปัญหารถติด

2.จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม ปัจจุบันมีอยู่ที่ บก.02 แต่การปฏิบัติยังไม่เข้มแข็งมาก ต่อไปก็จะมีเจ้าหน้าที่ของ กทม. มาร่วมปฏิบัติการด้วย เพราะปัญหาการจราจรติดขัดนั้นเกี่ยวเนื่องกับ กทม. เช่น น้ำท่วม ต้นไม้ล้ม หรือหน่วยงานอื่น เช่น ขสมก. ที่มีรถเมล์เสีย ขณะเดียวกันจะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจไปช่วยอำนวยจราจรช่วยแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดย กทม. จะรับผิดชอบในการทำแผนที่จุดติดซ้ำซาก จุดที่ติดมากๆ นำมาประชุมวิเคราะห์ประสานงานหาทางแก้ไขร่วมกัน โดยจะเริ่มเลยทันทีเพราะจะเป็นทางที่ช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหาได้ โดยผู้บริหารฯ จะมีการหารือร่วมกันทุกเดือนเพื่อดูความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา

3.เรื่องเทคโนโลยีซึ่งถือว่าสำคัญ เพราะปัจจุบันกล้อง CCTV ของกทม. ที่มาใช้ดูแลจราจรที่ บก.02 มีแค่ 100 กว่ากล้อง จากที่กล้องทั้งหมดของกทม. มี 50,000 กว่ากล้อง ในส่วนของการจัดการจราจรใช้ตำรวจที่สี่แยก ซึ่งจะไม่เห็นภาพรวม ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้ว เราควรจะมีระบบที่เห็นภาพรวมของการจราจรทั้งกรุงเทพฯ บริหารจัดการไฟจราจรกึ่งออโตเมติก มีคนประจำจุดช่วยดูแลบางเรื่อง การจัดการโดยตัดสินใจในภาพรวมจะช่วยให้สามารถใช้ถนนและสี่แยกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกันในการทำระบบเทคโนโลยีที่จะมาปรับปรุงการบริหารการจราจร เรียกระบบ Intelligent Traffic Management System (ITMS) ซึ่งทาง ตำรวจได้มีการศึกษาในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับงบประมาณ ด้าน กทม. มีระบบ Area Traffic Control (ATC) ดูเฉพาะทางแยก จะนำมารวมกัน ในคณะทำงานจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม ร่วมพิจารณาระบบที่จะติดตั้งเพื่อบริหารจัดการไฟจราจรทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ กำหนดเป้าหมายศึกษาให้เสร็จใน 1 ปี และเริ่มดำเนินการติดตั้ง

"ชัชชาติ"ถกตำรวจจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลางแก้ปัญหารถติด

4.เรื่องความปลอดภัย จากกรณีหมอกระต่าย มีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยตามทางม้าลาย ซึ่งกทม.ดูด้านกายภาพ แต่เรื่องสำคัญคือการจำกัดความเร็วบนถนนในกทม. ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจำกัดความเร็วอย่างเหมาะสมทุกเส้นทาง กทม. ก็จะนำข้อมูลความเสี่ยงจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มาวิเคราะห์ความเร็วจุดที่ต้องต่ำกว่า 80 กม./ชม. โดยนำมาหารือกับ บชน. เพื่อกำหนดควบคุมความเร็ว ลดความเร็วในเมือง ชุมชน และเส้นทางที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ สามารถทำได้ทันทีในอำนาจของ กทม.ร่วมกับ บชน. ในการกำหนดความเร็วเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

5.เรื่องรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่ง ต้องหาแนวทางที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย เช่น ทำเลนจักรยานยนต์ หรือ ทำจุดจอดก่อนถึงสี่แยก แยกจากรถยนต์ ต้องหารือวิศวกรรมจราจรถึงแนวทางที่เหมาะสม เพื่อลดอันตรายของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วย

"ชัชชาติ"ถกตำรวจจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลางแก้ปัญหารถติด

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า หน่วยงานที่ดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจราจรมีมากถึง 37 หน่วยงาน แบ่งความรับผิดชอบเป็นหลายส่วน เช่น กทม.ดูแลโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่ง เช่น ไฟจราจร ถนน สะพาน ป้ายรถเมล์ เป็นต้น และโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้ก็กระจายความรับผิดชอบไปยังอีกหลายหน่วยงานในสังกัด กทม.ทั้งสำนักโยธา สำนักจราจรและขนส่ง เป็นต้น กองบังคับการตำรวจจราจร ดูแลเรื่องการบริหารจัดการจราจร จับ/ปรับผู้กระทำผิด หน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการขนส่งทางบก ดูแลเรื่องสภาพรถ ใบอนุญาตยานพาหนะ กรมทางหลวงชนบท ดูแลสะพานและถนน เป็นต้น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำงานด้านจราจรข้างต้นยังคงบริหารจัดการแยกส่วน ต่างฝ่ายต่างดำเนินการตามขอบเขตอำนาจของตนเอง แม้มีการจัดการประชุมร่วมกัน แต่ประชุมเป็นครั้ง ๆ ไปตามนัดหมาย ไม่มีศูนย์กลางที่ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันบริหารเป็นประจำ จึงส่งผลให้การแก้ไขปัญหาจราจรล่าช้า และไม่ได้รับการจัดการปัญหาอย่างเหมาะสมทันที ดังนั้น กทม.จะจัดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการจราจรกลาง (Command Center) ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารการจราจรเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จัดการจราจรโดยภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ สอดประสานเป็นเนื้อเดียวกัน ไร้รอยต่อ โดยจัดตัวแทนเจ้าหน้าที่ กทม.เข้าร่วมทำงานกับตำรวจอย่างใกล้ชิด

“สัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ไปในจุดที่มีปัญหาการจราจร เชื่อว่าจากนี้ไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันเคารพกฎจราจร มีวินัยจราจรด้วย แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาจราจรได้ ภาครัฐลุยเต็มที่ ทุกอย่างจะดีขึ้นได้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว