posttoday

แนะจับสัญญาณเด็กส่อมีปัญหาสุขภาพจิต ลดเสี่ยงฆ่าตัวตาย

03 มิถุนายน 2565

กรมสุขภาพจิต ชี้ช่องจับสัญญาณเด็กส่อมีปัญหาสุขภาพจิต ช่วงเปิดเทอมป้องกันเหตุสูญเสีย ผู้ใหญ่ละอคติตัดสินเด็กต้องสร้างความเป็นกันเองให้เกิดความไว้วางใจบอกเล่าปัญหาได้

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการเปิดเทอม เด็กที่มีความเปราะบางอยู่เดิมก็จะปรับตัวได้ยากขึ้น เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจกันมากขึ้น ครูอาจต้องทำงานหนักขึ้น เพิ่มความละเอียดอ่อนในการสังเกตลูกศิษย์ตัวเองเด็กที่เคยมีปัญหาแต่เดิม มีความสุ่มเสี่ยงแต่เดิม กลับมาเปิดเทอมครั้งนี้กำลังเผชิญกับความยุ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า อาจต้องการความใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ ต้องการการดูแล หรือการเปิดช่องทางต่างๆ ให้เด็กเข้าถึงครู บอกเล่าปัญหาได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองก็เช่นกัน หากมีลูกที่เปราะบาง โยเยไม่อยากไปโรงเรียน มีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อน ไม่ลงตัวด้านการเรียน หรือถูกซ้ำเติมด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัว ขอให้กำลังใจพ่อแม่ในการใกล้ชิดลูกมากขึ้น รับฟัง และทำความเข้าใจ หากมีข้อสงสัยมีปัญหาอาจจะต้องขอความช่วยเหลือคำแนะนำจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า การสังเกตเด็กที่เริ่มมีปัญหา เช่น เรียนหนังสือไม่ได้ เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเด็กที่เรียนดีก็ต้องให้ความใส่ใจ , เด็กที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ไม่ว่าจะไปบูลลีคนอื่น หรือถูกบูลลีก็สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่มีในใจเช่นกัน หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวในครอบครัว อาจสะท้อนเรื่องการขัดแย้งกับเพื่อน เรียนหนังสือไม่ดี หรือไม่ทำตามกฎเกณฑ์ มีปัญหากับครู ถ้าสังเกตเด็กจะบอกได้ว่าคนไหนเป็นเด็กเปราะบางและต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพียงแต่บางครั้งความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรืออคติปะปน เด็กอาจถูกตัดสินว่าเหลวไหล ไม่ตั้งใจเรียน ไม่รักดี ขี้เกียจ หรือไม่รู้จักปรับตัวกับเพื่อน ไม่มีน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ช่วยเหลือคนอื่น

ทั้งนี้ สัญญาณเตือนว่าเด็กมีความคิดฆ่าตัวตาย คือ การเตรียมการของคนๆ นั้น อาจรวมถึงการพูดถึงความตาย ความคิดความประสงค์อยากตายบ่อยๆ มีการมอบของรักของหวงตัวเองให้คนอื่น อาจฝากให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หากตัวเองไม่อยู่ต่อไปในโลกนี้แล้ว อาจเตรียมการ เช่น ค้นหาข้อมูลวิะการตาย หรือใส่ใจสนใจข่าวการตายของคนอื่นๆ มากเป็นพิเศษ และเตรียมอุปกรณ์ อาวุธ ยา ซึ่งคนใกล้ตัวเมื่อมาทบทวนหลังสูญเสียมักบอกว่ามีจุดสังเกตเหล่านี้ แต่บางครั้งเขาก็เผลอมองข้ามไปไม่ทันได้คิด บางคนอาจรู้สึกแวบข้นมาแล้วกลบความรู้สึกนั้นไปด้วยความกลัว เพราะไม่รู้จะจัดการเหตุการณ์อย่างไร ซึ่งหากเห็นสัญญาณเตือน วิธีที่ดีที่สุดคือพยายามสื่อสารพูดคุยกับคนๆ นั้น เปิดโอกาสให้เขาบอกเล่าความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเอง หากมีความชัดเจนหรือแนวโน้มว่ามีความคิดฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือ ควรจะจูงใจหรือชักชวนกันไปขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้