posttoday

"ชัชชาติ" คาด ปมสัญญารถไฟฟ้าสีเขียว 1 เดือน ชัดเจน

02 มิถุนายน 2565

ผู้ว่าฯชัชชาติ พร้อมทีมงาน หารือ กรุงเทพธนาคม ปมสัญญารถไฟฟ้าสีเขียว คาด 1 เดือนชัดเจน ชี้ค่าโดยสารวควรต้องลดลง พร้อมพาสื่อชม CCTV เชื่อมระบบทราฟี่ฟองดูว์ แจ้งปัญหาเมือง พบจตุจักรร้องมากสุด

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมทีมรองผู้ว่าฯนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล และทีมที่ปรึกษา ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาค ประชุมร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม หรือเคที หารือเปิดดูสัญญาและปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายชัชชาติ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า วันนี้หารือกับเคทีสองเรื่อง คือเรื่องรถไฟฟ้าสีเขียว และโครงการที่เคทีรับผิดชอบคือการนำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งก็ได้คำตอบว่าปัจจุบันที่ยังไม่คืบหน้ามาก มีการจ้างผู้รับเหมา 4 ราย แต่ยังติดปัญหา ส่วนกรอบวงเงินสูงทำให้ ต้องไปดูรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชน อยากเห็นความก้าวหน้า ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว คาดจะชัดเจนภายใน1 เดือน หลังวันนี้ได้เห็นสัญญา

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า จริงๆอยากคืนหนี้โครงสร้างพื้นฐานที่โยนมาให้กทม. แต่ต้องคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องดูความยุติธรรมทุกฝ่ายด้วย มองว่าเรื่องหนี้ เป็นตัวเร่งรัดเราหลายๆอย่าง มองว่าอยากจะเคลียร์เรื่องหนี้ก่อน เช่นหนี้จากโครงสร้างโยธา หนี้ระบบที่เคที จ้างเอกชน และหนี้การเดินรถ ถ้าเรายกหนี้ก้อนแรกไปได้ก็อาจจะทำให้ปัญหาต่างๆคลายลง เรื่องราคา ต่างๆก็อาจปรับยืดหยุ่นลงได้ และส่วนต่อขยายสายสีเขียวสองที่ตอนนี้ให้ฟรีอยู่ก็มองว่า ต้องเริ่มเก็บค่าบริการแล้ว เพราะการให้นั่งฟรีก็เป็นการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้ส่วนสถานีไข่แดง ซึ่งก็ต้องหารือกับเอกชน และอีกหลายหน่วยงาน ส่วนต่อสัมปทานกับบีทีเอส ที่จะหมดปี2572 มองว่ายังมีเวลาพิจารณา ว่าจะต่อหรือไม่ ขอดูสัญญาให้ละเอียดก่อน หลายเรื่องส่วนตัวอยากรู้ว่าสมเหตุสมผลไหม ก็ต้องดูฝ่ายอื่นมาประกอบด้วย ทั้งเรื่อง ของกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามลำดับชั้นเมื่อได้ความคืบหน้า ก็จะต้องรายงาน ถึงรมว.มหาดไทย ต่อไป

จากนั้นนายชัชชาติได้พาสื่อมวลชน ชมห้อง CCTV ที่เชื่อมต่อกับระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue ) แจ้งปัญหาเมือง ณ "ศูนย์ระบบเทคโนโลยีจราจรกรุงเทพมหานคร" ชั้น 2 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ซึ่งเป็นการต่อยอดระบบการรายงานปัญหาออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดย สวทช. เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยแจ้งปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การแจ้งปัญหา การติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ กทม. และการดูสถิติการแจ้งเรื่องร้องเรียนทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัญหาเส้นเลือดฝอยซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ขยายผลเปิดรับประเด็นทางสังคมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น มิติสาธารณสุข มิติการศึกษา ความเดือดร้อนรำคาญอื่น ๆ จากที่ปัจจุบันรับเรื่องร้องเรียนใน 5 ด้าน ได้แก่ น้ำท่วม ขยะ จราจร ความปลอดภัย และทางเท้า

โดยปัจจุบัน สรุปสถิติการแจ้งปัญหาเส้นเลือดฝอย ทั้งหมดรวม 4,487 เรื่อง รับเรื่อง จำนวน 2,942 เรื่อง ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1,457 เรื่อง แก้ไขเสร็จสิ้น จำนวน 58 เรื่อง ประเภทปัญหา ประกอบด้วย จราจร ทางเท้า ความปลอดภัย น้ำท่วม ขยะ เรื่องเสนอแนะ และอื่นๆ โดย 10 อันดับเขตที่แจ้งปัญหาสูงสุด ตามลำดับดังนี้ จตุจักร , ราชเทวี , ประเวศ , สวนหลวง , บางเขน , ห้วยขวาง , ปทุมวัน , ดินแดง , วัฒนา และ บางกะปิ ทั้งนี้ นอกเหนือจากการแก้ปัญหาและแจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงความคืบหน้า การติดตามและการดำเนินการแก้ไขนี้จะถูกใช้เป็นหนึ่งในข้อมูลสำหรับการประเมินผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคตด้วย