posttoday

กรมวิทย์ฯเตรียมพร้อมวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง-รับรองคุณภาพวัคซีนป้องกันระบาด

24 พฤษภาคม 2565

กรมวิทย์ฯ เตรียมพร้อมวินิจฉัยโรคฝีดาษลิงและให้การรับรองคุณภาพวัคซีนฝีดาษเพื่อใช้ป้องกันการระบาด มั่นใจหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วนจะตรวจรับรองคุณภาพได้ทันท่วงที

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียมความพร้อม ทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค

สำหรับการการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยในคนนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน ได้เตรียมการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-time PCR ระยะเวลาการตรวจ 24 - 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4 - 7 วัน

นอกจากนี้ ในส่วนของการรับรองคุณภาพวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตก่อนจำหน่าย สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความพร้อมในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านเคมี-ฟิสิกส์ และความแรง เพื่อยืนยันว่าวัคซีนนำเข้ามีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจได้ว่าหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษคน ถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จึงเป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ แต่วัคซีนก็ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรคฝีดาษลิง

ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษคน จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ได้แก่ วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic และวัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา หรือ FDA แล้ว

โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับเชื้อโรคไข้ทรพิษ คือกลุ่ม orthopoxvirus มีอาการคล้ายกัน มีสัตว์ฟันแทะ เป็นแหล่งรังโรค ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง หรือผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ และติดต่อจากคนไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากการไอจาม ผื่น หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการโดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางครั้งอาการคล้ายกับโรคสุกใสและหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ

ทั้งนี้ US-CDC ได้แนะนำให้ควบคุมโรคโดยใช้ยารักษาโรคไข้ทรพิษ ได้แก่ Tecovirimat (ST-246), Cidofovir และ brincidofovir รวมถึงการให้แอนติบดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จรูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) สำหรับรักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง ทั้งนี้ยาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการติดตามประเมินประสิทธิภาพ