posttoday

ตร.เผยมิจฉาชีพปลอมเฟซบุ๊ก "ชัชชาติ" ทักยืมเงินอ้างไม่มีค่ารถลงพื้นที่

24 พฤษภาคม 2565

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ มิจฉาชีพปลอมเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็น"ชัชชาติ" ทักไปหลอกยืมเงินเหยื่อ อ้างไม่มีค่ารถลงพื้นที่

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 65 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่าน เพจ PCT Police เตือนประชาชนให้ระวัง มิจฉาชีพ ที่ใช้แอคเคาท์เฟซบุ๊กปลอมแอบอ้างเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยมีการแอบอ้างใช้ภาพและชื่อ ส่งแชทข้อความไปหลอกยืมเงินจากเหยื่อ ในทำนองว่า "จะลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ไม่มีค่ารถและขอให้โอนค่ารถให้"

"มิจฉาชีพเนี่ย!! เอาทุกแบบเลยนะ ผู้ว่าฯกทมคนใหม่ เงินเดือนยังไม่ออก ยืม 500 ส่งถุงป้ายหาเสียงให้ด้วย มีคนเชื่อก็ไม่ไหวแล้ว!!!" เพจ PCT Police ระบุ

อนึ่งเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของ นายชัชชาติ จะมีเพียงเพจตามลิงค์นี้ https://www.facebook.com/chadchartofficial โดยเพจดังกล่าวจะมีผู้ติดตามกว่า 1.1ล้านคน

ตร.เผยมิจฉาชีพปลอมเฟซบุ๊ก "ชัชชาติ" ทักยืมเงินอ้างไม่มีค่ารถลงพื้นที่

เพจ PCT Police ยังให้ความรู้เกี่ยวกับ กลโกงและเทคโนโลยีที่แกีงคอลเซ็นเตอร์ใช้หลอกลวงเหยื่อด้วย ดังนี้

ตร.เผยมิจฉาชีพปลอมเฟซบุ๊ก "ชัชชาติ" ทักยืมเงินอ้างไม่มีค่ารถลงพื้นที่

เปิด 8กลโกง 5เทคโนโลยีแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พยายามพัฒนารูปแบบการหลอกลวงพร้อมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาหลอกลวงประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบถึงกลโกงและวิธีการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าแผนประทุษกรรมในการหลอกลวงของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวมีดังนี้

1.อ้างว่ามีพัสดุจากบริษัทขนส่งพัสดุข้ามประเทศ เช่น DHL หรือ FedEx และถูกด่านของกรมศุลกากรอายัดไว้และมีสิ่งของผิดกฎหมาย จากนั้นจะให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ปลอม) เพื่อทำการตรวจสอบบัญชีหรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

2.อ้างเป็นข้าราชการ เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต เป็นต้น จากนั้นจะอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง (เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือ ฟอกเงิน) และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

3.อ้างว่าผู้เสียหายค้างค่าปรับจราจร หลอกให้โอนเงินค่าปรับจราจร หรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

4.อ้างว่าผู้เสียหายค้างชำระค่าบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก หากไม่รีบชำระจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อหลอกให้โอนเงินชำระค่าบัตรเครดิตให้กับคนร้ายทันที

5.อ้างว่าผู้เสียหายเปิดบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ให้คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

6.อ้างว่าผู้เสียหายมีการเคลมประกันโควิด-19 เป็นเท็จ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

7.อ้างเป็น กสทช. หลอกลวงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ ค้างค่าชำระ หรือมีผู้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก จะถูกปิดเบอร์ภายใน 2 ชั่วโมง อีกทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมจากนั้นจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมและให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

8.อ้างเป็น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือหน่วยงานทางการแพทย์ หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย หรือหลอกให้โอนเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนร้าย... สามารถติดตามต่อได้ที่

สำหรับเทคโนโลยีที่คนร้ายมักจะนำมาใช้ในการสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงพี่น้องประชาชนมีดังต่อไปนี้

1.การใช้เสียงตอบรับอัตโนมัติ ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์จริง ๆ ไม่ใช่แก๊งมิจฉาชีพ

2.การส่งภาพของหนังสือราชการ หมายเรียก หมายจับ หรือเอกสารอ้างต่าง ๆ ที่ปลอมขึ้น ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ

3.การส่งภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือภาพของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง

4.การตัดต่อคลิปเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการใช้เทคโนโลยี Deepfake ในการปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อวิดีโอคอลกับเหยื่อ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

5.การสร้างเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นปลอม เป็นแพลตฟอร์มในการหลอกลวง เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ