posttoday

"DS RU BAND"คว้าแชมป์เวที"Stopdrink Music Award 2022"

16 พฤษภาคม 2565

สคล.-สสส. เปิดเวที Stopdrink Music Award ปี 3 ไม่สูบไม่ดื่มไม่เสพ “DS RU BAND” ผงาดแช้มป์ ดันนโยบายเปิดพื้นที่-กิจกรรมสร้างสรรค์ทั่วไทยหวังลดปัญหาวัยโจ๋เข้าวังวนน้ำเมา

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ร่วมกัน จัดงาน Stopdrink Music Award 2022 ปีที่ 3 คัดเลือกวงดนตรีเยาวชนที่มีความสามารถจากทั่วประเทศ 20 วง โดยทีมที่ชนะเลิศคือ วง DS RU BAND จากกทม. ได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล อันดับ 2 คือ วง SoundCream จากจังหวัดราชบุรี รับทุนฯ 15,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล อันดับ 3 วง MN BAND จากอุบลราชธานี ได้รับทุนฯ 8,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล อันดับ 4 วงหลานย่าชื่น จ.ชุมพร รับทุนฯ 5,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และอันดับ 5 วง VASABI จากชลบุรี รับทุนฯ 3,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล

สำหรับ รางวัลนักร้องยอดเยี่ยม คือ นักร้องนำจากวง SoundCream นักดนตรียอดเยี่ยมคือ วงหลานย่าชื่น จ.ชุมพร รับทุนฯ 3,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล ส่วนผลงานเพลงรณรงค์ยอดเยี่ยม 2 รางวัล ได้รับทุนฯ 4,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล คือ 1.เพลง DRUNK Don’t Drive จากวง DSRU BAND 2.เพลง “สุราร้าย” จากวงหลานย่าชื่น ทั้งนี้ 5 อันดับแรกได้รับการจัดทำมิวสิควิดีโอเผยแพร่เพื่อรณรงค์เพื่อการ “ไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ” ต่อไป โดยงานนี้จัดขึ้น เมื่อวันที่15 พฤษภาคม ที่รามอินทราสตูดิโอ กรุงเทพฯ

"DS RU BAND"คว้าแชมป์เวที"Stopdrink Music Award 2022"

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ อดีตกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่าสถานการณ์นักดื่มหน้าใหม่ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ6 เป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ7 ส่วนผู้ชายประมาณร้อยละ5.6 โดยกลุ่มที่ดื่มมากสุดคือวัยทำงาน และวัยรุ่นสูงถึงเกือบร้อยละ80 ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นถึง อิทธิพลของโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่พยายามทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักดื่มเยาวชนและนักดื่มหญิง ดังนั้น สสส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการเสริมสร้างสุขภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนและพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชน จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เด็กเยาวชนได้ค้นหาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจให้สามารถพัฒนาตัวเองและเดินตามความฝันได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกฮอล์และสารเสพติดต่าง ๆ

ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการโครงการนโยบายสาธารณะฯ สคล. เปิดเผยว่า โครงการนี้ ได้รับแรงบันดาลใจและนำบทเรียนจากต่างประเทศไอซ์แลนด์ และภาพยนตร์ The Royal Hang Over ประเทศอังกฤษ ที่สะท้อนสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ มีปัญหาก่ออาชญากรรม และปัญหาโรคตับ ไอซ์แลนด์จึงมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชน สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองให้ใช้ร่วมกับเด็กทำกิจกรรมครอบครัวให้มาก ส่งผลให้ลดปัญหาเด็กเยาวชนใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติดลดลงร้อยละ90 ดังนั้น

ทั้งนี้ สคล.จึงนำรูปแบบนี้มาปรับใช้โดยร่วมกับเครือข่ายเด็กเยาวชนในแต่ละพื้นที่ผลักดันเชิงนโยบายในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมกับเพิ่มพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน อาทิ จังหวัดระนอง สมุทรปราการ ขอนแก่น เชียงราย ชลบุรี ที่หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดให้ความสำคัญกับการดูแลปกป้องเด็กเยาวชนมากขึ้น หลังจากที่ได้ผลักดันให้เกิดการประกาศนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมในงานบุญประเพณีต่างๆ จนเห็นผล